xs
xsm
sm
md
lg

ในหลวง โปรดเกล้าฯ ราชเลขานุการในพระองค์ฯเป็นประธานมอบเกียรติบัตร และรางวัลพระราชทานแก่นักเรียน-ครูจิต ศูนย์การเรียนรู้ดนตรีไทย - นาฏศิลป์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ ราชเลขานุการในพระองค์ฯเป็นประธานมอบเกียรติบัตร และรางวัลพระราชทานแก่นักเรียน-ครูจิต ศูนย์การเรียนรู้ดนตรีไทย - นาฏศิลป์

วันนี้ 4 เมษายน 68 เวลา 08.01 น.พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พลอากาศเอก สถิตย์พงษ์ สุขวิมล ราชเลขานุการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นประธานในพิธีแสดงผลสัมฤทธิ์ มอบเกียรติบัตร และรางวัลพระราชทานแก่นักเรียน และครูจิตอาสาของศูนย์การเรียนรู้ดนตรีไทย - นาฏศิลป์ หน่วยราชการในพระองค์ ประจำปี 2567 ณ โรงละคร อาคาร 601 สำนักพระราชวัง สนามเสือป่า
 
โอกาสนี้ ราชเลขานุการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รับชมการแสดงผลสัมฤทธิ์ ของนักเรียน ซึ่งเป็นบุตรหลานข้าราชบริพารในพระองค์ ในชุดการแสดงรำถวายพระพร การบรรเลงวงมหาดุริยางค์ และการขับร้องหมู่ ต่อจากนั้น เป็นประธานมอบเกียรติบัตร และรางวัลพระราชทานแก่นักเรียนที่ผ่านการสอบประเมินมาตรฐานการศึกษาดนตรีไทย และนาฏศิลป์ จำนวน 75 คน และครูจิตอาสา จำนวน 11 คน
 
ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงให้ความสำคัญเรื่องการอนุรักษ์และรักษาดนตรีไทย และนาฏศิลป์ไทย อันเป็นศิลปวัฒนธรรมอันดีงามของประเทศไทย กับทั้งทรงส่งเสริมและสนับสนุนให้เยาวชน รวมถึงบุตรหลานข้าราชบริพาร ได้มีโอกาสศึกษาและเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรม

อันดีงามดังกล่าว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ หน่วยราชการในพระองค์ จัดตั้ง ศูนย์การเรียนรู้ดนตรีไทย – นาฏศิลป์ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566 และพระราชทานพระราชทรัพย์ในการจัดซื้อเครื่องดนตรีไทย ตลอดจนทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ ราชเลขานุการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นประธานเปิดศูนย์การเรียนรู้ดนตรีไทย - นาฏศิลป์ หน่วยราชการในพระองค์ ณ อาคารที่พักข้าราชบริพาร เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร

โดยเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2566 ศูนย์การเรียนรู้ ฯ ดังกล่าวมีความเจริญก้าวหน้าตามลำดับ มีนักเรียนมาสมัครเรียนเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนกว่า 100 คนในปีที่ผ่านมา ปัจจุบัน เปิดทำการเรียนการสอนทุกวันเสาร์ และวันอาทิตย์ ในรายวิชานาฏศิลป์ ปี่พาทย์ เครื่องสาย และขับร้องเพลงไทยเดิม มีนักเรียนจำนวน 112 คน มีครูจิตอาสาที่เป็นบุคคลภายนอกได้เสียสละอุทิศตนมาร่วมถ่ายทอดความรู้ในการเรียนการสอน ทำให้นักเรียนมีความสามารถพิเศษด้านดนตรีไทยและนาฏศิลป์ไทยจนสามารถสอบเข้าศึกษาต่อในสถาบันการศึกษา และได้รับรางวัลจากการประกวดรายการต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก เป็นการสืบสานศิลปวัฒนธรรมไทย ซึ่งเป็นมรดกอันล้ำค่าทางวัฒนธรรมของประเทศไทยให้คงอยู่สืบไป