xs
xsm
sm
md
lg

เผยเหตุผลไทยเชิญ “มิน อ่องลาย” คุยอะไรกับเมียนมาในการประชุม BIMSTEC

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



MGR Online:  ไทยเชิญ “มิน อ่องลาย” ร่วมประชุม BIMSTEC ที่กรุงเทพฯ เร่งช่วยเหลือแผ่นดินไหว คุมความมั่นคงชายแดน ปราบคอลเซนเตอร์ กระชับความร่วมมือกองทัพ

รัฐบาลไทยเชิญ พลเอกอาวุโส มิน อ่องลาย ร่วมประชุม BIMSTEC ที่กรุงเทพฯ ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าจะเป็นการ “สร้างความชอบธรรม” ให้กับคณะรัฐประหารของเมียนมา และพลเอกอาวุโส มิน อ่องลาย ยังมีหมายจับของศาลอาญาระหว่างประเทศ ในข้อหาปราบปรามประชาชนและกลุ่มชาติพันธุ์ที่ต่อต้านการรัฐประหารที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2564 โดยหลังจากถูกออกหมายจับ ผู้นำรัฐบาลทหารเทียนมาได้เดินทางเยือนรัสเซีย จีน และไทย เท่านั้น

นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงเหตุผลในการเชิญพลเอกอาวุโส มิน อ่องลาย ร่วมประชุม BIMSTEC มาร่วมประชุมที่ประเทศไทยว่า

“ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพ ต้องปฏิบัติตามปฏิญญาของ BIMSTEC ที่ต้องเชิญผู้นำของประเทศสมาชิก 7 ประเทศมาร่วมประชุม การประชุมครั้งนี้มีการหารือและทำความตกลงในหลายเรี่อง จึงไม่สามารถที่จะขาดผู้นำจากประเทศใดประเทศหนึ่ง
และเป็นความรับผิดชอบของประเทศไทยในฐานะเจ้าบ้านที่ดี ที่จะต้องเชิญผู้นำจากทุกประเทศสมาชิกมาร่วมประชุม”

ทั้งนี้ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า ได้รับการยืนยันจากฝ่ายเมียนมาว่า พลเอกอาวุโส มิน อ่องลาย เพียงแค่ 2 วันล่วงหน้า ก่อนการประชุมจะเริ่มต้นในวันที่ 2 เม.ย.


ไทยหารือทวิภาคีเมียนมา คุมเข้มชายแดน

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศยังเปิดเผยผลการประชุมทวิภาคีระหว่างนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง ลาย ผู้นำรัฐบาลเมียนมา โดยระบุว่า ผู้นำเมียนมาได้ขอบคุณไทยที่ได้ให้ความช่วยเหลือเหตุแผ่นดินไหวเป็นประเทศแรก ๆ โดยสถานการณ์ในพื้นที่ โดยเฉพาะที่เมืองมัณฑะเลย์ได้รับผลกระทบหนักมาก และนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีต่างประเทศ จะเดินทางร่วมกับรัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย ในฐานะประธานอาเซียน เพื่อไปดูสถานการณ์จริงที่เมียนมา ในวันที่ 5 เม.ย.นี้

เรื่องที่สอง เป็นเรื่องความมั่นคงชายแดน ไทยกับเมียนมาเห็นว่าควรมีความร่วมมือที่เน้นแฟ้นยิ่งขึ้นระหว่างกองทัพทั้ง 2 ฝ่าย โดยให้ประชุมระหว่างกองทัพอย่างสม่ำเสมอ และเมียนมาเห็นด้วยกับแนวคิดของไทยที่จะ “เปลี่ยนสนามรบ เป็นสนามการค้า” เหมือนในสมัยของพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ

ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่าควรจะมีความร่วมมือทางชายแดนมากขึ้น โดยเฉพาะบริเวณตรงข้ามอำเภอแม่สอด ซึ่งมีปัญหา 4 เรื่องใหญ่ ได้แก่ การค้าผิดกฎหมาย, ยาเสพติด, การลักลอบขนอาวุธ และขบวนการหลอกลวงออนไลน์ ซึ่งเป็นรายได้สำคัญของกองกำลังติดอาวุธบริเวณชายแดน


ฝ่ายไทยได้ขอให้เข้มงวดเรื่องการข้ามแม่น้ำเมย ที่เป็นช่องทางการส่งสินค้าผิดกฎหมายที่สำคัญ โดยคนและอุปกรณ์ต่าง ๆ ของขบวนการหลอกลวงออนไลน์ก็จะข้ามไปจากจุดนั้น รวมถึงความร่วมมือในการปราบปรามยาเสพติด สกัดกั้นสารตั้งต้นยาเสพติดที่จะเข้าไปในเมียนมา โดยเฉพาะชายแดนจังหวัดเชียงใหม่ และตาก ขณะที่ฝ่ายเมียนมา ขอให้ไทยสกัดกั้นการลักลอบขนอาวุธที่ข้ามมาจากฝั่งไทย

นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือกันเรื่องหมอกควันข้ามแดน และฝ่ายเมียนมายังฝากไทยดูแลแรงงานเมียนมาในไทยด้วย

ทั้งนี้โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่าในการหารือทวิภาคีครั้งนี้ ไม่มีการพูดถึงการเมืองภายในเมียนมา ทั้งการเลือกตั้ง และการสร้างสันติภาพ.


กำลังโหลดความคิดเห็น