xs
xsm
sm
md
lg

ถึงเวลาแก้กฎหมายเพื่อเร่งกำจัดปลาหมอคางดำในพื้นที่ส่วนบุคคล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โดย นิกร ประกอบดี

ปลาหมอคางดำเป็นหนึ่งในสัตว์ต่างถิ่น ที่แม้จะมีประโยชน์หลายอย่าง และสามารถรับประทานได้ไม่ต่างจากปลาทั่วๆ ไป แต่ด้วยความที่มันสามารถแพร่พันธุ์ได้ไว จึงทำให้มีผลกระทบต่อระบบนิเวศและปลาพื้นถิ่นของไทย เป็นที่มาให้ภาครัฐเร่งออกมาตรการกำจัดทุกวิถีทาง ทั้งเร่งจับโดยสร้างแรงจูงใจด้วยการนำงบประมาณรัฐมารับซื้อ หรือปล่อยปลาผู้ล่าอย่างเป็นระบบ การให้ความรู้เรื่องผลกระทบของสัตว์น้ำต่างถิ่นที่รุกราน รวมถึงการคิดค้นวิธีทำให้มันเป็นหมัน ซึ่งแสดงให้เห็นความมุ่งมั่นตั้งใจในการแก้ปัญหานี้อย่างจริงจังชัดเจน

ไม่เพียงเท่านั้น รัฐยังออกประกาศ เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2561 เรื่องกำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามนำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือเพาะเลี้ยง พ.ศ. 2561 ระบุว่า “ห้ามมิให้บุคคลใด นำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือเพาะเลี้ยง ซึ่งสัตว์น้ำดังต่อไปนี้ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีกรมประมง หรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมประมงมอบหมาย ได้แก่ 1. ปลาหมอสีคางดำ Sarotherodon melanotheron (RÜppell,1852) 2. ปลาหมอมายัน Cichlasoma urophthalmus (GÜnther,1862) 3. ปลาหมอบัตเตอร์ Heterotilapia buttikoferi (Hubrecht,1881) การเพาะเลี้ยงตามวรรคหนึ่งมิให้หมายความรวมถึง กรณีที่สัตว์น้ำตามวรรคหนึ่งจากธรรมชาติหลุดรอดเข้าในบ่อเพาะเลี้ยงโดยไม่เจตนา”

ความพยายามต่างๆ ของภาครัฐย่อมไม่เพียงพอ หากประชาชนหรือเกษตรกรในพื้นที่ที่พบการแพร่ระบาดไม่ให้ความร่วมมือ ยิ่งไปกว่านั้น การกำจัดปลาหมอคางดำอาจล้มเหลว หากยังมีคนที่เลือกเพียงมองผลประโยชน์ในระยะสั้น โดยไม่สนใจผลกระทบในระยะยาว

เป็นที่ทราบกันดีว่ามาตรการต่างๆ ของรัฐดังกล่าวมักจะทำได้ในแหล่งน้ำธรรมชาติ แต่ไม่สามารถก้าวล่วงเข้าไปพื้นที่ส่วนบุคคลของเกษตรกร ทำให้ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาจึงยังคงพบปลาหมอคางดำในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำที่ทิ้งร้างในพื้นที่ส่วนบุคคลอยู่เสมอ ด้วยความที่ปลาชนิดนี้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในธรรมชาติได้ ไม่ต้องมีต้นทุนค่าอาหาร กลายเป็นช่องว่างให้คนหัวหมอบางคนเลือกที่จะไม่กำจัด และรอให้งบประมาณของรัฐออกมาประกาศรับซื้อปลาอีกครั้ง จึงค่อยทำการจับปลามาขายรัฐ ซึ่งผิดวัตถุประสงค์ของรัฐโดยสิ้นเชิง

อาจเป็นช่องโหว่ของประกาศฉบับนั้น ที่ระบุว่า “การเพาะเลี้ยง มิให้หมายความรวมถึงกรณีที่สัตว์น้ำตามวรรคหนึ่งจากธรรมชาติหลุดรอดเข้าในบ่อเพาะเลี้ยงโดยไม่เจตนา” ซึ่งตีความได้ว่าการเลี้ยงหรือครอบครองโดยเจตนาเพาะเลี้ยง อาจเข้าข่ายมีความผิดตามกฎหมาย แต่หากอ้างว่าเป็นการพบในบ่อโดยบังเอิญ และไม่ได้มีเจตนาในการขยายพันธุ์หรือเพาะเลี้ยง ก็ยังถือเป็น “พื้นที่สีเทา” ที่ต้องใช้ดุลพินิจในการพิจารณา

อย่างไรก็ตาม ในสังคมไทยมีคนหลายประเภท คงมองข้ามการฉวยโอกาสของบางคนในการหาประโยชน์บนความทุกข์ของผู้อื่นไปไม่ได้ ข้ออ้างนี้สวนทางการเรียกร้องให้รัฐเร่งกำจัดปลา เป็นช่องโหว่ขนาดใหญ่ที่ถึงเวลาที่รัฐจำเป็นต้องปรับแก้กฎหมายให้เด็ดขาด หลังจากปล่อยเวลาให้เจ้าของบ่อร้างได้แจ้งหรือ รายงานกรมประมงมานานเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว

การแก้ปัญหาปลาหมอคางดำให้สำเร็จไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นได้ในชั่วข้ามคืน แต่ก็ไม่มีอะไรเกินพลังความร่วมแรงร่วมใจของทุกภาคส่วนเช่นกัน ขอเพียงต้องใช้ความจริงใจเป็นพื้นฐาน และคำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ


กำลังโหลดความคิดเห็น