“เหล็กที่นำมาใช้ก่อสร้าง 2 ขนาด ไม่ได้มาตรฐาน”
การตรวจประสิทธิภาพของเหล็กจากซากอาคาร คือหนึ่งในกระบวนการค้นหาสาเหตุการถล่มของอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ ซึ่งเป็นอาคารเพียงแห่งเดียวในกรุงเทพมหานครที่ถล่มลงมาจากเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.7 ที่มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา ซึ่งอยู่ห่างออกไปถึงประมาณ 1,100 กิโลเมตร
เหล็กจากซากอาคารสำนักงาน สตง. ถูกนำมาตรวจทั้งหมด 28 เส้น แบ่งออกเป็น 7 ประเภท คือ
‣ เหล็กข้ออ้อย ขนาด 12 มม. 3 เส้น ยี่ห้อ SKY
‣ เหล็กข้ออ้อย ขนาด 20 มม. 6 เส้น ยี่ห้อ SKY
‣ เหล็กข้ออ้อย ขนาด 25 มม. 2 เส้น ยี่ห้อ SKY
‣ เหล็กข้ออ้อย ขนาด 32 มม. 7 เส้น มาจากยี่ห้อ SKY 2 เส้น ยี่ห้อ TATA 4 เส้น และ TYS 1 เส้น
‣ เหล็กเส้นกลม ขนาด 9 มม. 2 เส้น ยี่ห้อ SKY
‣ ลวดสลิง ขนาด 15.2 มม. 2 เส้น
ผลตรวจพบว่า มีเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐาน 13 เส้น จาก 2 ขนาด คือ 20 มม. และ 32 มม.
เมื่อมาดูที่เหล็กขนาด 20 และ 32 มม. จะพบว่า ... ขนาด 20 มม. มาจากยี่ห้อ SKY ทั้งหมด 6 เส้น ... ส่วนขนาด 32 มม. มาจากยี่ห้อ SKY 7 เส้น ... ยี่ห้อ TATA2 เส้น และยี่ห้อ TYS 1 เส้น
ย้ำว่า จากทั้ง 28 เส้น มีตัวอย่างเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐาน 13 เส้น ซึ่งในขนาด 20 มม. 6 เส้น เป็นยี่ห้อเดียวกันทั้งหมด คือ SKY และเป็นยี่ห้อเดียวกับอีก 7 เส้น ที่มีขนาด 32 มม.
ถอดรหัส SKY IF EAF ... ไขปริศนา เหล็กเส้นไม่ได้มาตรฐานในอาคาร สตง.
ตัวอักษร SKY ย่อมาจาก Sin Ker Yuan Company Limited หรือ บริษัท ซิน เคอ หยวน จำกัด และ บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด เป็นบริษัทที่จดทะเบียนเป็นโรงงานลำดับที่ 59 ได้ใบอนุญาตจัดตั้งโรงงานเมื่อปี 2556 ตั้งอยู่ที่ ต.หนองละลอก อ.บ้านค่าย จ.ระยอง มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการ “ผลิตเหล็กเส้น” มีผู้ถือหุ้นใหญ่และผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่เป็นชาวจีน ก่อตั้งด้วยทุนจดทะเบียนราว 3,700 ล้านบาท
หลังก่อตั้งโรงงานในประเทศไทย ซิน เคอ หยวน กับเหล็กที่ประทับตรา SKY กลายเป็นทั้งผู้นำเข้าและผู้ผลิตเหล็กเส้นยักษ์ใหญ่อันดับ 1 ในประเทศไทย เพราะสามารถจำหน่ายเหล็กได้ในราคาที่ “ต่ำกว่า” ผู้ประกอบการรายอื่น
“ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า ซิน เคอ หยวน เข้ามาตั้งโรงงานในประเทศไทย พร้อมกับเทคโนโลยี “เตาหลอม” ที่เรียกกันว่า IF (Induction Furnace) ครับ ... ซึ่งเป็นระบบที่ถูกสั่งห้ามใช้ไปแล้วในประเทศจีน ... ส่วนผู้ประกอบการไทย ใช้เตาหลอมเหล็กที่เรียกว่า EAF (Electrical Arc Furnace) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใหม่กว่า และดีกว่ามากครับ”
ดร.สมนึก จงมีวศิน นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม เครือข่ายเปลี่ยนตะวันออก ซึ่งจบการศึกษาสาขาวิศวกรรมศาสตร์ (วิศวกรรมการผลิต) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ปริญญาเอก) Architectural Heritage Management คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศิลปากร เป็นหนึ่งในผู้ที่ติดตามปัญหาการผลิต “เหล็ก” ในประเทศไทยมาตลอด เขาเล่าถึงสถานการณ์ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งอุตสาหกรรมเหล็กของไทย ถูกตัดราคาจากโรงงานจีนแห่งนี้
“ในช่วง 10-11 ปีมานี้ ถ้าคุณไปซื้อเหล็กเส้นที่ร้านค้าวัสดุก่อสร้าง คนขายเขาจะถามคุณเลยว่า จะซื้อเหล็กแบบ “เต็ม” หรือ “ไม่เต็ม” ซึ่งมันมีราคาต่างกันมาก ... และมันสะท้อนให้เห็นเลยว่า คนในวงการก่อสร้างต่างรู้กันดีมานานแล้วว่า เหล็กที่ขายอยู่ในตลาด มีทั้งแบบที่ได้มาตรฐาน คือ เต็ม และมีทั้งแบบที่ ไม่เต็ม ซึ่งไม่รู้ว่า ได้มาตรฐานหรือไม่ แต่มีราคาถูกกว่า”
“จุดแรกเริ่มของมาตรฐานเหล็กที่ต่างกันนี้ มาจากเตาหลอม ที่เราเรียกว่า IF นี่แหล่ะครับ”
ดร.สมนึก ท้าวความย้อนกลับไปให้เห็นว่า ผู้ประกอบการเหล็กจากประเทศจีนรายหนึ่ง เข้ามาในไทย พร้อมกับเตาหลอมแบบ IF รุ่นเก่า ซึ่งเขาก็มีคำถามมาตลอดว่า ทำไมหน่วยงานกำกับดูแลภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทย จึงอนุญาตให้นำเตาแบบเก่านี้มาใช้ได้
“อธิบายความแตกต่างของเตาแบบ IF กับ EAF อย่างง่ายๆ ก็คือ ... การใช้เตาแบบ IF จะทำให้เกิดมลพิษมาก ควบคุมคุณภาพและค่าทางเคมีได้ยาก กำจัดสารเจือปนและสิ่งแปลกปลอมออกจากเหล็กได้ยาก ทำให้มีโอกาสที่เหล็กจะมีคุณภาพที่ไม่เสมอกันทั้งเส้น ควบคุมและตรวจสอบได้ยาก ... ส่วน เตาแบบ EAF เป็นระบบที่สามารถควบคุมคุณภาพทางเคมีได้ดีกว่า กำจัดสิ่งเจือปนออกจากเหล็กได้ง่าย ทำให้ได้เหล็กบริสุทธิ์ คุณภาพดีสม่ำเสมอตลอดทั้งเส้น”
“ดังนั้น เหล็กที่ได้มาจากเตาหลอมแบบ IF จึงเป็นเหล็กที่มีคุณภาพต่ำกว่า ราคาถูกกว่า อาจนำไปใช้ก่อสร้างอาคารทั่วไปได้ แต่ไม่ควรนำไปใช้กับอาคารสูงที่อาจได้รับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว หรือไม่ควรนำไปใช้ในงานก่อสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานต่างๆ ที่มีผู้ใช้งานจำนวนมาก” ดร.สมนึก สรุปเพื่อให้เห็นว่าความจริงแล้วประเทศไทยไม่ควรเปิดช่องให้ใช้เตาแบบ IF ด้วยซ้ำ
คำถามที่ยังหาคำตอบไม่ได้ของ ดร.สมนึก ก็คือ เหตุใดในช่วงระหว่างปี 2557 – 2559 หน่วยงานในประเทศไทย กลับอนุญาตให้บางโรงงานสามารถใช้เตา IF ที่ขนมาจากต่างประเทศได้ ... เหตุผลที่อนุญาต คืออะไร ทั้งที่การใช้เตา IF จะทำให้ได้เหล็กที่คุณภาพต่ำ เขาเห็นว่านี่เป็นประเด็นใหญ่ที่หน่วยงานเหล่านั้นต้องออกมาชี้แจง ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม หรือ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ซึ่งเป็นผู้ให้การรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) กับผลิตภัณฑ์ต่างๆ
“ในช่วงนั้น เหล็กที่ได้จากการใช้เตา IF จะถูกนำไป “เจือ” กับ “ธาตุ” ชนิดอื่นอีกทีครับ ... เพื่อทำให้เหล็กดูเหมือนมีสภาพที่แข็งแรง ดูเต็ม โดยธาตุสำคัญที่นำมาทำปฏิกริยาทางเคมีกับเหล็ก IF ก็มีหลายตัว เช่น โครเมียม (Cr) ทองแดง (Cu) นิกเกิล (Ni) ซิลิคอน (Si) และตัวสำคัญมีชื่อว่า โบรอน (B) .... ซึ่งมีคุณสมบัติที่เมื่อนำมาเจือปนแล้ว จะทำให้เหล็กดูเหมือน “แข็ง” มากขึ้น”
“โบรอน เป็นธาตุกึ่งโลหะ คือเป็นทั้ง โลหะและอโลหะ ... ประโยชน์หลักของการเติมโบรอนลงในเหล็กกล้า คือ ความสามารถในการชุบแข็ง โดยโบรอนปริมาณเพียงเล็กน้อย ก็สามารถทำให้เกิดความแตกต่างของความแข็งของเหล็กได้อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับชนิดของเหล็กกล้าและปริมาณคาร์บอน ที่เป็นองค์ประกอบร่วม ....”
“แต่ถ้าใช้ปริมาณโบรอนมากเกินไป จะทำให้โบรอนเกิดการแยกตัวออกมาจากเหล็กกล้า และไปอยู่ที่ขอบของโครงสร้างผลึก ส่งผลให้ความสามารถในการชุบแข็งลดลง ความเหนียวลดลง กลายเป็นสาเหตุของการแตกเปราะ .... สิ่งที่ได้ คือ เหล็กที่ แข็งเปราะ ไม่ใช่แข็งเหนียว”
“และมีผู้ประกอบการบางคน ใช้โบรอนมาเจือในเหล็กเพื่อลดต้นทุนการผลิต เพื่อทำให้เหล็กดูเหมือนมีความแข็งแรง”
จนมาถึงปี 2559 ก็มีการเปลี่ยนแปลงในวงการอุตสาหกรรมเหล็กของไทยครั้งใหญ่ เมื่อกระทรวงอุตสาหกรรม ออกประกาศติดกัน 2 ฉบับ ที่เรียกว่า "มอก.20-2559" และ "มอก.24-2559" ตามลำดับ
• ประกาศฉบับที่ 4802 แก้ไขมาตรฐานเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต : เหล็กเส้นกลม
• ประกาศฉบับที่ 4803 แก้ไขมาตรฐานเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต : เหล็กข้ออ้อย
ทั้ง 2 ฉบับ เป็นการกำหนดค่ามาตรฐานของธาตุต่างๆ ที่จะใช้เจือปนไปในเหล็กทั้ง 2 ชนิดว่าต้องมีค่าไม่เกินเท่าไหร่ เช่น ต้องมีส่วนผสมของโบรอน น้อยกว่า 0.0008% ,นิกเกิล น้อยกว่า 0.3% ,โครเมียม น้อยกว่า 0.3% ,ซิลิคอน น้อยกว่า 0.6% และทองแดง น้อยกว่า 0.4%
“การออกประกาศทั้ง 2 ฉบับนี้ แสดงให้เห็นว่า กระทรวงอุตสาหกรรมมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับมาตรฐานของเหล็กมาตั้งแต่ปี 2559 แล้ว จึงต้องออกประกาศมาควบคุมส่วนผสมที่จะใช้ใส่ไปในเหล็ก ... และอาจจะเชื่อมโยงได้เลยว่า เหล็กที่มาจากการหลอมด้วยเตา EAF คงไม่มีความจำเป็นต้องนำไปผสมกับธาตุเหล่านี้เพราะมีคุณภาพสมบูรณ์อยู่แล้ว ... ดังนั้น ประกาศนี้ น่าจะใช้เพื่อควบคุมคุณภาพของเหล็กที่มาจากเตา IF นั่นเอง”
สมมติฐานนี้ ยังถูกตอกย้ำเมื่อย้อนกลับไปดูประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อปี 2563 ซึ่ง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในขณะนั้น
10 มกราคม 2563 กระทรวงอุตสาหกรรมออกประกาศ เรื่องห้ามตั้งหรือขยายโรงงานเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตหรือเหล็กแท่งเล็กสำหรับเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต ทุกขนาด ทุกท้องที่ในราชอาณาจักร ...
ข้อความสำคัญที่ปรากฏในประกาศฉบับนี้ คือข้อความที่ระบุว่า อุตสาหกรรมเหล็กของไทยกำลังอยู่ในภาวะวิกฤต เพราะมีผู้ประกอบการบางรายใช้ “เครื่องจักรเก่า ด้อยคุณภาพ จากต่างประเทศ” มาทำงาน
เนื้อหาจากในประกาศท่อนหนึ่ง เขียนไว้ดังนี้
“ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมเหล็ก ของไทยยังมีปัญหาที่สะสมหลายประการ เช่น ปัญหากำลังการผลิตเกินความต้องการบริโภค (Over Supply) และปัญหาการใช้อัตรากำลังการผลิตต่ำ (Under Utilization) ส่งผลให้ผู้ประกอบการ เหล็กในประเทศไม่สามารถใช้กำลังการผลิตที่มีอยู่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ อันทำให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยค่อนข้างสูงไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าเหล็กนำเข้าได้ ทำให้ผู้ประกอบการต้องประสบกับภาวะขาดทุนอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้น ปัญหาสำคัญที่สุดในขณะนี้ ได้แก่ การเคลื่อนย้ายเครื่องจักรเก่าด้อยคุณภาพและมีเทคโนโลยีที่ล้าสมัยจากต่างประเทศเข้ามายังประเทศไทย ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ จึงมีความจำเป็นและสมควรที่จะต้องมีมาตรการเร่งแก้ไขปัญหา เพื่อให้เกิดการยกระดับอุตสาหกรรมเหล็กให้มีคุณภาพและรองรับอุตสาหกรรม 4.0 ดังกล่าวได้”
ข้อความในประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อ 10 มกราคม 2563 คือหลักฐานที่ยืนยันได้อย่างดีว่า กระทรวงอุตสาหกรรม รับรู้ปัญหาเรื่อง “เทคโนโลยีการผลิตเหล็ก” มาตลอด แม้ว่าเหตุผลที่ถูกหยิบยกขึ้นมา จะเป็นเหตุผลเรื่องการก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าเรื่องคุณภาพของเหล็กก็ตาม
18 ธันวาคม 2567 เกิดเหตุระเบิดขึ้นภายในโรงงาน ซิน เคอ หยวน ต.หนองละลอก อ.บ้านค่าย จ.ระยอง และเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบพบว่า เหล็กที่ถูกผลิตและนำเข้าจากโรงงานแห่งนี้ เป็นเหล็กที่ไม่ผ่านการตรวจสอบมาตรฐาน ตามมาด้วยการยึดอายัดเหล็กกว่า 2,400 ตัน และดำเนินคดีตามกฎหมาย ...
ก่อนจะมาพบว่า เหล็กจากโรงงานนี้ มาอยู่ในอาคารสำนักงาน สตง.ที่ถล่มจากแผ่นดินไหว และเมื่อตรวจสอบก็ยังพบว่ามี 13 เส้น ที่ไม่ผ่านมาตรฐาน
“ถ้าจะวิเคราะห์กันจริงๆ อาจจะบอกได้ว่า หากทำตามประกาศ 2- 3 ฉบับของกระทรวงอุตสาหกรรมอย่างเคร่งครัด คือ นำธาตุอื่นมาผสมได้ตามปริมาณที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด เหล็กที่ได้มาจากเตา IF ก็ไม่น่าจะผ่าน “มาตรฐานอุตสาหกรรม” หากไม่มีเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาช่วยทำให้ผ่านมตรฐานได้จริง ... อาจบอกได้ว่า เป็นความพยายามของกระทรวงอุตสาหกรรมที่จะคุมกำเนิดเตา IF เพราะอนุญาตให้ใช้ไปแล้ว จะไปสั่งห้ามทีหลังก็ไม่ได้ แต่หากยังมีเหล็กเส้นที่ไม่ได้มาตรฐานหลุดออกมาในตลาดเช่นนี้ ก็ต้องหาคำตอบจากกระทรวงอุตสาหกรรมเช่นกันว่าเป็นไปได้อย่างไร” ดร.สมนึก ตั้งคำถามทิ้งท้าย
ถึงตอนนี้ อาจยังหาข้อสรุปไม่ได้ว่า สาเหตุที่อาคารสำนักงาน สตง.แห่งใหม่ เป็นอาคารเดียวในประเทศไทยที่ถล่มลงมาจากเหตุแผ่นดินไหว ขนาด 7.7 ที่อยู่ห่างออกไปกว่า 1,100 กิโลเมตร คืออะไรกันแน่ เพราะเหล็กเส้นราคาถูกกว่าเพื่อน ที่มียี่ห้อ SKY คงไม่ได้ถูกนำไปใช้แค่ในอาคาร สตง.แห่งใหม่เท่านั้น
แต่เหตุการณ์นี้ ก็ช่วยทำให้สังคมไทยได้รับรู้ว่า ประเทศไทย ปล่อยให้มีกระบวนการผลิตเหล็กที่ยังมีคำถามว่ามีคุณภาพดีพอหรือไม่ มาใช้ในการก่อสร้างอาคารที่เดิมพันด้วยชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ... มานานนับ 10 ปี แล้ว