xs
xsm
sm
md
lg

โรงสีข้าวพิกุลทองตากใบ ศูนย์เรียนรู้ด้านเกษตรกรรม เสริมสร้างวิถีชีวิตตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้ (1 เม.ย.) กรมส่งเสริมสหกรณ์ หนุนโรงสีข้าวพิกุลทองตากใบ ส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงให้เกษตรกรพึ่งพาตนเองและสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน เพื่อให้เกษตรกรร่วมกันคิดและช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวทางที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานไว้เพื่อนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพ เพิ่มพูนองค์ความรู้การบริหารจัดการโรงสีข้าวแก่ผู้นำชุมชน ผู้นำสหกรณ์ และเยาวชนในพื้นที่

สำหรับโรงสีข้าวพิกุลทองตากใบ ตั้งอยู่ที่ตำบลเกาะสะท้อน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ก่อตั้งขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงห่วงใยและมีพระราชประสงค์เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ยากจน จึงมีพระราชดำริให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส ก่อตั้งโรงสีข้าวขนาดเล็กขึ้นมา โดยเกษตรกรรวมตัวกันในนาม “กลุ่มผู้ใช้บริการโรงสีข้าว” เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2529 จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร และเป็นสถานที่รับฝากข้าวเปลือก ทำหน้าที่เหมือนธนาคารข้าว รับจ้างสีข้าว ต่อมาในปี 2551 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรและติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานของโรงสีข้าวพิกุลทอง และพระองค์ได้พระราชทานพระราชดำริในการที่จะพัฒนา โรงสีข้าวพิกุลทองให้มีความเจริญก้าวหน้า พร้อมมีพระราชดำรัสกับผู้เฝ้าฯ รับเสด็จว่า ให้ปรับปรุงโรงสีข้าวพิกุลทองให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นและพิจารณาความเหมาะสม รวมไปถึงจำนวนประชากรที่มาใช้ประโยชน์ ส่วนเครื่องเก่าให้อนุรักษ์และปรับปรุงโรงสีข้าวพิกุลทองเดิมให้เป็นพิพิธภัณฑ์

สำหรับเป็นสถานที่ศึกษาเรียนรู้ของประชาชนในพื้นที่ได้ค้นคว้าเกี่ยวกับการปลูกข้าวครบวงจร ซึ่งจะทำให้เกษตรกรสามารถนำไปเป็นแนวทางปฏิบัติสู่หลักการรวมกลุ่มของราษฎรในชุมชนในการพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

จากนั้น เกษตรกรผู้ใช้บริการโรงสีข้าวได้รวมกลุ่มจัดตั้ง
เป็นสหกรณ์การเกษตรโรงสีข้าวพิกุลทองตากใบ จำกัด เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2544 ซึ่งเป็นสหกรณ์ที่อยู่ในโครงการตามพระราชดำริฯ เพื่อการบริหารจัดการและส่งเสริมพัฒนาอาชีพร่วมกัน

โดยสหกรณ์เป็นผู้บริหารจัดการโรงสีข้าว ปัจจุบันสหกรณ์มีสมาชิกจำนวน 476 คน สหกรณ์ดำเนินธุรกิจ 4 ประเภท ประกอบด้วย ธุรกิจรวบรวมผลผลิต ธุรกิจแปรรูปผลผลิตการเกษตร ธุรกิจรับฝากเงิน และธุรกิจให้บริการและการส่งเสริมการเกษตร ซึ่งสหกรณ์สามารถรวบรวมข้าวเปลือกได้เฉลี่ยปีละ 15 ตัน และแปรรูป (สีข้าว) เพื่อจำหน่ายให้แก่สมาชิกสหกรณ์และเกษตรกรภายในพื้นที่ ซึ่งพันธุ์ข้าวหลักที่จำหน่าย คือ ข้าวซีบูกันตัง และข้าวหอมกระดังงา โดยปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2567 มีมูลค่าธุรกิจรวมทั้งสิ้น 422,502.25 บาท หรือเฉลี่ยเดือนละ 35,208.52 บาท โดยมีธุรกิจแปรรูปผลผลิตการเกษตร สหกรณ์รวบรวมข้าวเปลือกเพื่อแปรรูป ปริมาณ 26,194.20 กิโลกรัม เป็นเงิน 377.046.40 บาท และธุรกิจให้บริการและส่งเสริมการเกษตร สหกรณ์มีรายได้จากการให้บริการสีข้าวและให้บริการโรยข้าวเปลือก จำนวน 12,810 บาท

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า “การดำเนินงานของโรงสีข้าวพิกุลทองตากใบนั้นแบ่งออกเป็น 3 กิจกรรม ได้แก่ การรับจ้างสีข้าว ซึ่งมีผู้ใช้บริการโรงสีข้าว เฉลี่ยปีละ 120 ราย การรับฝากข้าวและกิจกรรมสุดท้าย คือ การบริหารงานภายในโรงสีข้าวพิกุลทอง ซึ่งมีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสหกรณ์จังหวัดนราธิวาสเข้ามาช่วยดูแล แนะนำส่งเสริมการกำหนดหน้าที่และระเบียบของโรงสี นอกจากนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้เข้าไปส่งเสริม สนับสนุน และต่อยอดให้สหกรณ์การเกษตรโรงสีข้าวพิกุลทองตากใบ จำกัด มีการแปรรูป และเพิ่มมูลค่าข้าวพื้นถิ่นในอำเภอตากใบ ซึ่งเป็นผลผลิตของสมาชิกสหกรณ์ และสร้างความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้สหกรณ์สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาศักยภาพ การผลิต และส่งเสริมองค์ความรู้ในการเชื่อมโยงเครือข่ายสินค้าเกษตร ให้สหกรณ์สามารถยกระดับและขับเคลื่อนการดำเนินงานได้อย่างมั่นคง”












กำลังโหลดความคิดเห็น