กมธ.ไอซีที วุฒิสภา เร่งผลักดันยุทธศาสตร์การลงทุน Data Center และส่งเสริมใช้ AI เสริมศักยภาพเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย ระดมพลทั้งภาครัฐและเอกชน 71 หน่วยงานจัดสัมมนาใหญ่แลกเปลี่ยนข้อมูล รับรู้ปัญหา เพื่อกระตุ้นการพัฒนา Data Center ในประเทศ ลดการพึ่งพาต่างชาติ เร่งพัฒนากำลังคนด้านเทคโนโลยี ตั้งเป้าเพิ่มบุคลากรด้าน AI ถึง 1 ล้านคน ปรับปรุงกฎหมาย Cyber Security และ Digital Economy รองรับการเติบโตของเทคโนโลยี นำพลังงานสะอาดมาใช้ใน Data Center สร้างความยั่งยืนทางเทคโนโลยี ด้านเอกชนและกูรูวงการดิจิทัลย้ำ ล่าช้าไทยขาดดุลการค้ามหาศาล จากสถิติ 3 ปีหลังโควิด ทั้งภาคธุรกิจและคนไทยผู้บริโภคใช้บริการดิจิทัลต่างประเทศปีละ 1.2 ล้านล้านบาท เทียบเท่ากับการหารายได้เข้าไทยจากการท่องเที่ยวปีละ 1.1 ล้านล้าน
เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 - คณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒิสภา ร่วมกับคณะอนุกรรมาธิการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จัดสัมมนาเรื่อง "แนวทางการใช้ประโยชน์จาก Data Center และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย" ณ อาคารรัฐสภา กรุงเทพฯ โดยมุ่งเน้นการกำหนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลให้เติบโตอย่างยั่งยืน
หัวข้อในการสัมมนาครั้งนี้ บรรยายพิเศษ เรื่อง “AI กับการพลิกโฉมระบบการแพทย์และระบบการศึกษา : โอกาสและความท้าทายของภาครัฐไทย” โดย ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานมูลนิธิโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในพระสังฆราชูปถัมภ์ หรือผู้แทน บรรยายพิเศษ เรื่อง “ความท้าทายของประเทศไทยต่ออาชญากรรมทางไซเบอร์ภายใต้อุตสาหกรรมใหม่ในยุค AI : การปรับตัว และความพร้อมในการรับมือ” โดย Mr. Craig Jones ผู้เชี่ยวชาญอาชญากรรมทางไซเบอร์ Director CyPo : Immediate Past Director Cybercrime @INTERPOL Retired Senior Official @ National Crime Agency (NCA, UK)
อภิปรายเรื่อง “แนวทางการใช้ประโยชน์จาก Data Center และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ของประเทศไทย” อภิปรายเรื่อง “เสียงสะท้อนสู่การขับเคลื่อน : ร่วมกําหนดอนาคต Data Center และปัญญาประดิษฐ์ (AI) สําหรับประเทศไทย ในทศวรรษหน้า” เปิดเวทีระดมความเห็น: Data Center และ AI กับอนาคตเศรษฐกิจไทย
งานสัมมนาครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมงาน 71 หน่วยงาน หน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานความมั่นคง 20 หน่วยงาน, มหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษา 9 หน่วยงาน, สมาคม, ชมรม และองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้อง 31 หน่วยงาน, หน่วยงานด้านการท่องเที่ยว, โลจิสติกส์ และอุตสาหกรรมบริการ 7 หน่วยงาน บริษัทเอกชนและรัฐวิสาหกิจ 4 หน่วยงาน การสัมมนาเริ่มต้นด้วยการกล่าวเปิดงานโดย นายนิเวศ พันธ์เจริญวรกุล ประธานคณะกรรมาธิการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒิสภา ได้กล่าวถึงพัฒนาการของเทคโนโลยีสารสนเทศจากอดีตถึงปัจจุบัน ว่า ตั้งแต่ยุคโทรเลขจนถึงการใช้ AI ในปัจจุบัน โดยเน้นว่า Data Center และ AI เป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) และจำเป็นต้องมีการกำหนดแนวทางพัฒนาอย่างเป็นระบบ
ประเด็นสำคัญที่กล่าวถึง การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีจากยุคการเกษตร สู่อุตสาหกรรม และปัจจุบันเข้าสู่ยุคดิจิทัล เทคโนโลยีช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย แต่ก็มาพร้อมกับความเสี่ยงด้านความปลอดภัย ศูนย์ข้อมูล (Data Center) ในประเทศไทย ปัจจุบันมีการลงทุนจากหลายบริษัทในไทย
“คำถามสำคัญคือ ไทยควรมีทิศทางอย่างไรในการพัฒนาศูนย์ข้อมูล จีนมีศูนย์ข้อมูลใต้น้ำ ไทยควรศึกษาว่าจะใช้พลังงานและทรัพยากรน้ำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ Cyber Security AI มีบทบาทในทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจ ควรพิจารณาวิธีใช้ AI ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและปลอดภัย ด้าน Cyber Security ไทยยังต้องปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย มุ่งเน้นการพัฒนาแนวทางที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ คณะกรรมาธิการกำลังผลักดันกฎหมายด้านไซเบอร์และดิจิทัลให้เกิดขึ้น การศึกษาประเด็นเหล่านี้ ไม่ได้จบแค่วันนี้ แต่ต้องมีการพัฒนาต่อเนื่องเพื่ออนาคตของประเทศ” นายนิเวศกล่าว
นายสุวิทย์ ขาวดี สมาชิกวุฒิสภาจากจังหวัดสตูลในฐานะประธานคณะทำงานพิจารณาศึกษาแนวทางการใช้ประโยชน์จากดาต้าเซ็นเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ ได้เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวว่า ประเด็นเรื่องดาต้าเซ็นเตอร์และ AI เป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญและมีผลโดยตรงต่อระบบเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย ดังนั้นคณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒิสภา ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางการใช้ประโยชน์จากดาต้าเซ็นเตอร์และปัญญาประดิษฐ์เพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ผลักดันให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางดิจิทัลอาเซียน และ Financial hub โดยมีนโยบายและยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในการสนับสนุนการลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ และการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
ประเทศไทยยังขาดโครงสร้างพื้นฐานด้าน Data Center ที่ชัดเจน จึงต้องเร่งกำหนดนโยบายดึงดูดการลงทุน พร้อมศึกษาต้นทุนการใช้ Data Center ต่างประเทศ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง เพื่อนำมาสู่การพัฒนา Data Center ภายในประเทศ
AI และ Cyber Security: กุญแจสำคัญสู่ความมั่นคงทางดิจิทัลในช่วงเสวนา ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI และ Cyber Security ได้แลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับความเสี่ยงและโอกาสของเทคโนโลยีเหล่านี้ โดยมีการเน้นย้ำว่าAI จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในทุกภาคส่วน ตั้งแต่ภาคอุตสาหกรรม การศึกษา ไปจนถึงภาครัฐ ความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) เป็นปัจจัยที่ต้องพัฒนาอย่างเร่งด่วน เพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล
การปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กฎหมายไซเบอร์ที่ครอบคลุมถึงผู้ลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ และเร่งศึกษากฎหมายควบคุมการใช้ AI เพื่อปลดล๊อคการใช้งาน AI ภาครัฐ ส่งเสริมการใช้ AI ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และวางแนวทางการคุ้มครองประชาชน ทั้งนี้ หลังจากที่คณะทำงานได้มีการรวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริงจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนแล้วเห็นว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยจำเป็นต้องอาศัยโครงสร้างพื้นฐานด้านดาต้าเซ็นเตอร์และ AI ที่แข็งแกร่ง คณะทำงานฯ จึงให้ความสำคัญต่อการกำหนดยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนเพื่อดึงดูดการลงทุนจากทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงการวางนโยบายส่งเสริมการพัฒนา AI ให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมในภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจ และภาครัฐ
หลังจากที่คณะทำงานได้มีการรวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริงจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนแล้วเห็นว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยจำเป็นต้องอาศัยโครงสร้างพื้นฐานด้านดาต้าเซ็นเตอร์และ AI ที่แข็งแกร่ง คณะทำงานฯ จึงให้ความสำคัญกับการกำหนดยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนเพื่อดึงดูดการลงทุนจากทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงการวางนโยบายส่งเสริมการพัฒนา AI ให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมในภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจ และภาครัฐ
ทั้งนี้ คณะทำงานฯ ได้วางแนวทางสำคัญในการผลักดันยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1. การส่งเสริมการลงทุนในดาต้าเซ็นเตอร์และ AI ผ่านมาตรการจูงใจทางภาษีและการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐ 2. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เพื่อรองรับการใช้งาน AI ในภาคธุรกิจและภาครัฐ 3. การออกนโยบายด้านการพัฒนาและใช้ AI อย่างรับผิดชอบ คำนึงถึงจริยธรรม ความปลอดภัยทางไซเบอร์ และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล 4. การพัฒนาทักษะแรงงานด้าน AI เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมคณะทำงานฯ จะเร่งสรุปข้อเสนอและนำเสนอต่อ กรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสารและ การโทรคมนาคม วุฒิสภา รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ระดับชาติ โดยคาดหวังว่าการผลักดันดังกล่าวจะช่วยให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาค และเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป
“ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบ Data Center อย่างเป็นทางการ ทำให้คณะกรรมาธิการต้องเร่งศึกษาข้อมูลจากภาครัฐและเอกชน เพื่อจัดทำข้อเสนอทางกฎหมายและส่งต่อไปยังรัฐบาล นอกจากนี้ ยังมีการหารือเรื่องค่าใช้จ่ายในการใช้ Data Center ต่างประเทศ ซึ่งยังไม่มีตัวเลขที่แน่ชัด แต่ถือว่าเป็นจำนวนมาก จึงต้องการพัฒนา Data Center ภายในประเทศเพื่อลดต้นทุน
ด้านการศึกษา คณะกรรมาธิการเห็นความสำคัญของ AI และการพัฒนากำลังคน โดยตั้งเป้าหมายเพิ่มบุคลากรด้าน AI เพื่อให้ไทยสามารถแข่งขันกับนานาชาติในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลได้ สรุปประเด็นสำคัญจากงานสัมมนาพัฒนา Data Center ในประเทศ ลดการพึ่งพาต่างชาติ ส่งเสริม AI และพัฒนากำลังคนด้านเทคโนโลยี ตั้งเป้าเพิ่มบุคลากรด้าน AI ถึง 1 ล้านคน ปรับปรุงกฎหมาย Cyber Security และDigital Economy รองรับการเติบโตของเทคโนโลยี นำพลังงานสะอาดมาใช้ใน Data Center สร้างความยั่งยืนทางเทคโนโลยี” นายสุวิทย์กล่าว
นาวาตรี ดร.วุฒิพงศ์ พงศ์สุวรรณ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวเสริมว่า การจัดการข้อมูลเปิดภาครัฐ (Open Data) ควรมีความโปร่งใสและสามารถบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมเสนอให้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานสะอาด เช่น โซลาร์เซลล์ เพื่อนำมาใช้กับ Data Center และเทคโนโลยี AI
“ความสำคัญของ Data Center และ AI โดยเน้นว่าการจัดการข้อมูลเปิดภาครัฐเป็นเรื่องจำเป็น ต้องมีการบูรณาการข้อมูลอย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ AI มีบทบาทสำคัญในอนาคต จึงต้องส่งเสริมบุคลากรด้านนี้ตั้งแต่ระดับการศึกษา พร้อมออกกฎหมายรองรับเพื่อป้องกันการใช้ AI ในทางที่ผิด การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและเครือข่ายสื่อสาร โดยเฉพาะพลังงานสะอาด เช่น โซลาร์เซลล์ ซึ่งมีต้นทุนลดลง ควรถูกนำมาใช้สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี AI และData Center นำเสนอให้ความร่วมมือกับหน่วยงานสากล เช่น ตำรวจสากล ในการจัดการปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี บทบาทของวุฒิสภาคือการกระตุ้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ตื่นตัวต่อการเปลี่ยนแปลง พร้อมส่งเสริมให้สื่อมวลชนและประชาชนมีความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยีและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง” นาวาตรี ดร.วุฒิพงศ์ กล่าว
ทางด้าน น.ส.วิภาวดี พึ่งรัศมี เลขาอนุกรรมาธิการพลังงานทดแทน และที่ปรึกษาคณะทำงานพิจารณาศึกษาแนวทางการใช้ประโยชน์จากดาต้าเซ็นเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ วุฒิสภากล่าวว่า จากที่ทาง รัฐบาลไทยประกาศ นโยบายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางดาต้าเซ็นเตอร์ในภูมิภาค ด้วยผู้ประกอบการดาต้าเซ็นเตอร์นั้น ความต้องการสูงสุดจะต้องเป็น green data center เซ็นเตอร์ คือไฟฟ้าที่ใช้จะต้องเป็นกรีน ซึ่งก็คือจาก Renewable
“นักลงทุนมักเน้นไปที่พลังงานจากจากพวกโซลาร์ฟาร์ม และก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก ซึ่งประโยชน์ที่ประชาชนของเราจะได้รับมีน้อย เพราะแทบไม่ได้ใช้ แรงงานเราเท่าที่ควร ทางเราในฐานะผู้มีส่วนในการผลักดันสนับสนุนระเบียบข้อกฎหมายต่างๆ อยากนำเสนอให้มีสัดส่วนไฟฟ้าจากพวกพืชพลังงาน ซึ่งก็ถือเป็น renewable อย่างหนึ่งเพราะเราคือประเทศเกษตรกรรม ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อกลุ่มเกษตรกรในการเพาะปลูกพืชกลุ่มนี้ กลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สามารถสร้างรายได้อย่างมั่นคงได้ ทั้งยังจะเป็นจุดแข็งที่จะสามารถเรียกผู้ประกอบการทั่วโลกที่กำลังมองหาฐานการผลิตแห่งใหม่อยู่ เอาชนะคู่แข่ง เช่นสิงคโปร์ มาเลเซีย ได้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนรวมถึงกระทรวงพลังงานด้วยจึงจะสามารถให้ประเทศไทยเป็นที่หมายปองของผู้ลงทุนในธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ ตามนโยบายที่รัฐบาลไทยประกาศไว้" นางสาววิภาวดีกล่าว
ทั้งนี้ ภายในงานได้มีการอภิปรายเรื่อง แนวทางการใช้ประโยชน์จาก Data Center และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ของประเทศไทย