อดีตวิศวกร บ.อิตาเลียนไทยฯ เผยเหล็กที่ใช้ในการก่อสร้างอาคาร สตง.ไม่เหมาะต่ออาคารสูงที่ต้องรับแรงสั่นสะเทือนหรือการเคลื่อนไหว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เกิดแผ่นดินไหว ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของอาคารและผู้ใช้งานได้
จากกรณีเกิดเหตุแผ่นดินไหวในประเทศเมียนมา ซึ่งส่งผลกระทบถึงประเทศไทยรู้สึกถึงความสั่นไหวในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะอาคารของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ บนถนนกำแพงเพชร 2 ตรงข้ามศูนย์การค้าเจเจมอลล์ แขวงและเขตจตุจักร กรุงเทพฯ
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 30 มี.ค. ผู้ใช้เฟซบุ๊ก “วันวาน ยังหวานอยู่“ อดีตวิศวกร บ.อิตาเลียนไทยฯ ออกมาโพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเลือกใช้เหล็กในการสร้างตึก สตง. โดยทางผู้ก่อสร้างเลือกใช้เหล็ก DB.32 SD.50 ซึ่งเหล็กชนิดนี้มีปัญหาเรื่องค่า Yield ต่ำ แต่ค่า Strength ผ่านเกณฑ์และมีปัญหาเรื่องการดัดงอ (Bending) ทำให้เกิดการปริแตกและร้าว
ลักษณะของเหล็กคือมี 2 ชั้น แข็งนอก อ่อนใน และรอยขาดเป็นรูปกรวย หากเหล็กถูกบิดไปมาจะปริแตกและร้าว ทำให้พื้นที่หน้าตัดเหล็ก (AS) ลดลง และค่า Strength หายไป
สรุป เหล็กเกรดนี้ไม่เหมาะกับอาคารสูงที่มีการขยับตัว อาคาร สตง. ใช้เหล็ก DB. 32 SD.50 ซึ่งเป็นเหล็กมีปัญหา
ต่อมาผู้โพสต์ได้ออกมาระบุข้อความอีกครั้ง มีใจความว่า
“เหล็กเส้น อาคาร สตง. เป็นชนิดมีสัญลักษณ์ ตัว T
ซึ่งหมายถึง เหล็กเส้นข้ออ้อยที่ผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอย่างรวดเร็ว ไม่ได้ปล่อยให้เย็นตัวตามปกติ มีการสเปรย์น้ำ มีการผ่านกระบวนการทางความร้อนเพิ่มเติม ทำให้โครงสร้างของเหล็ก T #ไม่เป็นเนื้อเดียวกันทั้งหมด #ความแข็งแรงไม่เท่ากันตลอดหน้าตัด ดังนั้น การทดสอบเหล็กชนิดนี้ทาง มอก.ไม่อนุญาตให้กลึงลดขนาดเพื่อทดสอบได้ ซึ่งต่างจากเหล็กที่มีสัญลักษณ์ Non T ที่ทาง มอก.อนุญาตให้กลึงลดขนาดเพื่อทดสอบได้ เพราะไม่ทำให้ผลทดสอบผิดเพี้ยนไป
#ซึ่งเหล็กประเภทมีตัว #T อาจไม่เหมาะต่ออาคารสูงที่ต้องรับสภาพการแกว่ง หรือเคลื่อนไหว ในกรณีเกิดแผ่นดินไหว”