เธอเป็นหัวหน้าทีมรุกขกร บริษัท รุกขกร วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด , เป็นกรรมการสมาคมรุกขกรรมไทย มีประสบการณ์นานนับสิบปีบนเส้นทางของรุกขกร การทำงานดูแลไม้ใหญ่ในทุกบริบทซึ่งนับเป็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
ผู้จัดการออนไลน์ สัมภาษณ์พิเศษ ‘ฟาง-ชนัตฎา ดำเงิน’ หัวหน้าทีมรุกขกร ที่บอกเล่ารายละเอียดของนิยามความหมายรุกขกร วิชาชีพรุกขกรหรือหมอต้นไม้, ถอดบทเรียนประสบการณ์การทำงานบนเส้นทางสายนี้, สะท้อนภาพปัญหาต้นไม้ใหญ่ใน กทม.รวมทั้งแนวทางการแก้ปัญหาในระดับกระบวนการ, อธิบายถึงข้อกำหนดหรือ TOR ที่หน่วยงานรัฐเริ่มเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในการทำงานร่วมกับรุกขกร อีกทั้งฝากถึงความคาดหวังที่มีต่องานรุกขกรไทยและเป็นกระบอกเสียงให้แก่เหล่า Tree Worker
ทั้งหลายทั้งปวง อยู่ในถ้อยความนับจากนี้
นิยามความหมาย
ถามถึงนิยามความหมายของคำว่า ‘รุกขกร’ และ ‘วิชาชีพรุกขกร’ ว่าคืออะไร
ฟางตอบว่า “จริงๆ วิชาชีพรุกขกรหรืองานรุกขกรรม Arboriculture เป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับไม้ใหญ่ทุกชนิด การปลูก การดูแลรักษาต้นไม้ การตัดแต่ง โดยมุ่งเน้นต้นไม้แบบในเขตเมือง หรือในพื้นที่ที่มีการใช้ประโยชน์ แล้วการที่มีความรู้ด้านรุกขกรรม ค่อนข้างต้องเป็นความรู้ที่มีการบูรณาการจากหลายสาขาเข้าด้วยกัน โดยผู้ที่ปฏิบัติงานด้านรุกขกรรมก็จะถูกเรียกว่าเป็นรุกขกรค่ะ”
ถามว่า ฟางเรียนจบจากคณะอะไร
ฟางตอบว่าเรียนจบปริญญาตรี สาขาชีววิทยาเชิงอนุรักษ์ มหาวิทยาลัยมหิดล ปริญญาโท คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
เช่นนั้นแล้ว ในการทำงานเป็นรุกขกร จำเป็นต้องเรียนทางศาสตร์นี้โดยตรงไหม
ฟางตอบว่า ปกติถ้ายึดตามคุณสมบัติที่จะสามารถขอสอบขึ้นทะเบียนเป็นรุกขกรได้ตามคุณสมบัติของสมาคมรุกขกรรมไทย หากเรียนสายวิทยาศาสตร์ หรือว่าสาขาที่เกี่ยวข้องก็จะสามารถขอยื่นสอบได้
“สาขาที่เกี่ยวข้องก็อาทิ ชีววิทยา พฤกษศาสตร์ พืชสวน ภูมิสถาปนิก วนศาสตร์ ค่ะ แต่ว่าในกรณีที่เราไม่ได้เรียนสายตรงมา แล้วเราอยากที่จะมีประสบการณ์ทางด้านนี้ และต้องการสอบเป็นรุกขกร ทางสมาคมฯ ก็ไม่ได้ปิดกั้น ก็สามารถขอยื่นสอบได้เหมือนกัน แต่ว่าต้องแนบประสบการณ์ในการทำงานด้านรุกขกรรม สามปี แล้วก็ขอยื่นสอบ แต่ถ้าคนเรียนสายตรงมา ก็ยื่นประสบการณ์แนบ1ปี แล้วขอยื่นสอบได้”
ก้าวย่างบนเส้นทางรุกขกร
ถามว่า คุณเป็นรุขกรมานานแค่ไหนแล้ว อะไรเป็นแรงบันดาลใจให้เป็นรุกขกร
ฟางตอบอย่างอารมณ์ดีว่า “ถ้าถามว่าเป็นรุกขกรมานานแค่ไหน ก็ตั้งแต่เรียนจบเลยนะคะ เรียนจบมาประมาณ 10 ปี แล้วค่ะ จุดเริ่มต้นมันเริ่มมาจากการที่ฟางเรียนชีววิทยาเชิงอนุรักษ์ ก็จะมีความชอบเรื่องธรรมชาติอยู่แล้ว แล้วเผอิญว่าเพื่อนทำงานอยู่ที่ Big Trees Project แล้วเค้าก็เลยชวนมา บอกว่ามีหลายโปรเจ็กต์ให้เลือกว่าเราสนใจโปรเจ็กต์ไหน”
ฟางเล่าว่า ในช่วงนั้น BIG Trees ผลักดันเรื่องการดูแลพื้นที่สีเขียวในหลายๆ ที่, มีโครงการ 60 สวน 60 พรรษา ถวายสมเด็จพระเทพฯ รวมทั้งมีโครงการรุกขกรด้วย
“ตอนนั้น เป็นช่วงแรกๆ ที่เขาผลักดันให้มีการดูแลพื้นที่สีเขียวในเมือง หรือผลักดันให้ต้นไม้ควรได้รับการดูแลจากรุกขกร ที่ในตอนนั้น บ้านเรายังไม่มีและไม่ได้แพร่หลายอย่างของต่างประเทศ”
“แล้วเค้าก็ถามว่าเราสนใจอยากจะร่วมโปรเจ็กต์ไหน ฟางก็รู้สึกว่า ชื่อแปลกจัง ‘รุกขกร’ ไม่เคยได้ยินเลย ก็เลยลองเข้าไปศึกษาว่าเป็นยังไง แล้วก็ยาวมาถึงทุกวันนี้เลยค่ะ (หัวเราะ) แต่ถ้าเป็นจุดเริ่มต้นเลย แรงบันดาลใจก็เริ่มมาจากชอบธรรมชาติค่ะ”
สะท้อนภาพปัญหาต้นไม้ กทม.
อดถามไม่ได้ว่า ตลอดระยะเวลาที่ทำงานมา อะไรคือปัญหาของต้นไม้ที่คุณพบอยู่บ่อยๆ ใน กทม. แล้วทางแก้ไขคืออะไร
ฟางบอกเล่าอย่างเห็นภาพว่า “ถ้าปัญหาแรกๆ ที่พบได้บ่อย พบอยู่เรื่อยๆ และส่งผลต่อสุขภาพของต้นไม้ในระยะยาว ก็คือเรื่องของการตัดแต่งที่ผิดวิธีค่ะ การตัดแต่งที่ไม่ถูกต้องทำให้เนื้อไม้เสียหาย ทำให้เนื้อไม้เป็นโพรง ทำให้โครงสร้างของเนื้อไม้ไม่แข็งแรง ส่งผลให้ในอนาคตก็อาจจะหัก โค่น ลงมาโดน สร้างความเสียหายให้กับพื้นที่การใช้ประโยชน์”
ฟางกล่าวว่า โดยส่วนใหญ่คนจะรู้สึกกลัวว่าเดี๋ยวกิ่งมันก็หัก ก็เลยต้องตัดต้นไม้กุดๆ แต่จริงๆ แล้วมันอาจจะหักมาจากการที่เราตัดผิดวิธีมาก่อน ก็เลยเกิดกิ่งที่ไม่แข็งแรงขึ้น
เพราะฉะนั้น ในช่วงระยะเวลาหลายปีที่ฟางทำงานมา รวมทั้งผลักดันด้านวิชาชีพ ฟางได้เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการดูแลต้นไม้ให้ถูกวิธี ส่วนใหญ่ก็จะมีไปบรรยาย หรือว่าเป็นภาคปฏิบัติ สอนให้กับหน่วยงานที่สนใจ ประชาชนทั่วไป รวมถึงหน่วยงานรัฐและเอกชนให้เข้าใจเรื่องรูปแบบการตัดแต่งที่ถูกต้อง เป็นการให้ความรู้ไปด้วยส่วนหนึ่ง
“แล้วส่วนนึงก็เป็นการมาแก้ไขงาน เช่น เราเข้าไปดูงานบ้านลูกค้า ลูกค้ามีการตัดแต่งต้นไม้ผิด เราก็อธิบายว่าตัดแบบนี้ไม่ดียังไง มันจะเกิดอะไรขึ้น ต่อไปก็เป็นการเก็บงาน คือตำแหน่งไหนตัดไม่ถูก ก็ตัดให้ถูก กิ่งไหนมันเสียหายไปแล้วก็เอาออกเพื่อลดความเสี่ยงค่ะ” ฟางระบุ
แบ่งปันประสบการณ์
ถามว่า มีตัวอย่างในการทำงานใด ที่อยากเล่าให้ฟังบ้าง
ฟางตอบว่า นอกจากเคสเรื่องการตัดแต่งแล้ว ถ้าเห็นได้ชัดก็เป็นต้นไม้ริมถนน “เป็นส่วนของ กทม. แล้วก็การไฟฟ้าที่จะมีพื้นที่ทับซ้อนกัน ที่เป็นต้นไม้ที่อยู่ใต้แนวสายไฟ หรืออยู่บนพื้นที่ทางเท้า อันนี้ก็เป็นเรื่องเคสการตัดแต่ง”
“อีกอันที่พบได้บ่อย คือเป็นดินในกรุงเทพฯ ที่มีลักษณะเป็นดินเหนียว ระบายน้ำได้ไม่ดีเท่าที่ควร รวมถึงถ้าเป็นพื้นที่ต้นไม้ในที่สาธารณะ พื้นดินรอบต้นจะน้อย ทำให้รากไม่สามารถแผ่ขยายยึดเกาะได้อย่างเต็มที่ บวกกับการเจริญเติบโตเป็นไปได้ช้า แคระแกร็น ดินไม่เพียงพอ ธาตุอาหารไม่เพียงพอ รวมถึงการระบายน้ำไม่ดี ส่วนใหญ่ถ้าได้ทำงานร่วมกัน ก็จะเป็นทำร่วมกับ กทม. ในการปรับปรุงพื้นที่ทางเท้า ถ้าเป็นงานที่ฟางดูก็จะเป็นพื้นที่สีลม”
“ในพื้นที่สีลม ก็จะเริ่มตั้งแต่กระบวนการเข้าไปสำรวจว่าต้นไม้แต่ละต้น ก่อนการปรับปรุงมีสภาพเป็นยังไงบ้าง เพื่อประเมินว่าต้นไหนที่ควรจะถูกนำออกจากพื้นที่ไป เพื่อไปปลูกในพื้นที่อื่น หรือถ้าความแข็งแรงน้อยมากๆ แล้ว ก็จะถูกตัดโค่นออกไป ส่วนนี้ก็จะมีการประเมินโดยรุกขกร โดยการสำรวจ"
"จากนั้น เราก็จะมีการประเมินดูว่าเราจะจัดการต้นไม้ที่มีอยู่เดิมในพื้นที่ได้อย่างไรบ้าง และลดความเสี่ยงของต้นไม้นั้นได้ยังไงบ้าง ก็เริ่มจากมีการตัดแต่ง มีการพรวนดิน เติมธาตุอาหารเข้าไป ประกอบกับการทำงานร่วมกับภูมิสถาปนิกที่เขาออกแบบ ว่าเราจะสามารถเพิ่มพื้นที่รอบโคนต้นได้มากขึ้นไหม หรือจะทำยังไงให้ต้นไม้สามารถอยู่ได้ แล้วผู้คนก็สามารถใช้ประโยชน์ด้วยได้ ก็เป็นการพูดคุยร่วมกัน สำหรับโปรเจ็กต์นี้ค่ะ” ฟางระบุ
ถามว่า เช่นนั้นแล้วรุกขกรก็คือหมอต้นไม้ใช่หรือไม่
ฟางมองว่ามันเป็นคำๆ เดียวกัน เหมือนหมอต้นไม้อยู่ภายใต้ Subset ของงานรุกขกรรม งานรุกขกรรมนั้นจะถูกแบ่งการรับรองคุณสมบัติออกมาเป็นหลายๆ อัน ถ้าเป็นแบบรุกขกรรมนานาชาติ เขาจะแบ่งรุกขกรออกเป็น 5 ประเภทด้วยกัน คือ รุกขกรเขตเมือง, รุกขกรสาธารณูปโภค, รุกขกรผู้เชี่ยวชาญ, รุกขกรผู้ประเมินความเสี่ยงอันตรายจากต้นไม้, ผู้ปฏิบัติงานบนต้นไม้ (Tree Worker Climber ) แต่ถ้าของไทย จะมีรับรองแค่สองส่วน
1.คือ รุกขกรเขตเมือง ซึ่งก็รุกขกรปกติ กับ 2. Tree Worker Climber ผู้ปฏิบัติงานบนต้นไม้
ซึ่งของฟางเป็นรุกขกรเขตเมือง
ถามว่า ในมุมมองของคุณ วิชาชีพรุกขกรแพร่หลายมากพอหรือยังในสังคมไทย
ฟางตอบว่า ถ้าย้อนกลับไปเมื่อประมาณสิบปีที่แล้ว คนรู้จักน้อยมากว่ารุกขกรคืออะไร ใครถามก็ต้องอธิบายเกือบทุกคนว่ารุกขกรคืออะไร ทำอะไรบ้าง ต่างจากปัจจุบันนี้ ด้วยการสื่อสารที่ดีมากยิ่งขึ้น การหาข้อมูลของประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น ก็ทำให้คนเข้าใจวิชาชีพรุกขกรมากขึ้น โดยเฉพาะคนที่สนใจการดูแลรักษาต้นไม้ หรือคนที่รักต้นไม้อยู่แล้ว เค้าก็จะเปลี่ยนหันมาใช้รุกขกรดูแลต้นไม้มากขึ้น เพื่อการดูแลต้นไม้ ตัดแต่งได้อย่างถูกต้อง มีอุปกรณ์ safety ปลอดภัย รู้ตำแหน่งการตัดที่ถูกต้องคือตรงไหน มีคนสนใจและเข้าใจมากยิ่งขึ้น บวกกับนโยบายภาครัฐบางส่วน ก็มีการเปลี่ยน TOR เป็นข้อกำหนดว่าในงานที่เกี่ยวกับต้นไม้ ผู้รับเหมาต้องมีรุกขกร
“อาจไม่ใช่ทุกหน่วยงานภาครัฐ แต่เป็นหน่วยงานใหญ่ๆ ที่มีข้อกำหนดเช่น กทม.” ฟางบอกเล่า
ความคาดหวังงานรุกขกรไทย
ถามว่า คุณคาดหวังให้รุกขกรไทย ได้รับการสนับสนุนอีกมากน้อยแค่ไหน ในทุกวันนี้
ฟางตอบว่า “จริงๆ งานรุกขกรรม หรือ Tree Worker ผู้ปฏิบัติงานบนต้นไม้ เราต้องการให้ทุกคนที่ทำงานด้านต้นไม้ รวมถึงคนที่ปีนตัดต้นไม้อยู่แล้ว ได้เข้ามาอยู่ในกรอบของมาตรฐานได้มากยิ่งขึ้น โดยทางสมาคมรุกขกรรมไทยก็จับมือกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เพื่อจัดระดับการสอบเพื่อให้ทุกคนเข้ามามากขึ้น ให้มีมาตรฐานมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันการที่จะเข้ามาในมาตรฐาน มันก็ต้องมีอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐานแล้วก็มีความปลอดภัยด้วย อุปกรณ์พวกนี้ ส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศ”
“เพราะฉะนั้น ราคาอุปกรณ์ป้องกันการทำงานบนที่สูง มันก็ค่อนข้างราคาสูง เมื่อผ่านกรมศุลกากรก็จะโดนบวกภาษีเพิ่มขึ้นไปอีก ดังนั้น คนที่จะเข้ามาในวงการนี้จึงเข้ามาได้ยาก เพราะรู้สึกว่าราคาสูง ต้นทุนสูงมากในการซื้ออุปกรณ์ ถ้าภาครัฐมีข้อยกเว้นหรือข้อส่งเสริมอะไรบางอย่าง เกี่ยวกับอุปกรณ์ที่ทำงานบนต้นไม้ หรือเรื่องภาษีนำเข้าก็คิดว่าเป็นเรื่องที่ดี”
ฟางสะท้อนได้อย่างน่าสนใจ ก่อนกล่าวเพิ่มเติมว่า
อีกสิ่งหนึ่งที่ภาครัฐควรส่งเสริมก็คือเราจะต้องมีการจัดการต้นไม้แบบบูรณาการมากยิ่งขึ้น คือ หลายๆ หน่วยงานทำงานร่วมกัน ก่อนที่จะดำเนินการอะไรก็มานั่งพูดคุยกันก่อน หรือมีข้อกำหนด หรือมี TOR กำหนด ว่าควรมีการดูแลรักษาต้นไม้แบบไหนบ้าง
“เพราะโดยปกติ ต้นไม้ที่ได้รับการดูแล มันมักจะเกิดจากการที่ต้นไม้ป่วย ถึงจะเรียกรุกขกรให้เข้าไปดู หรือว่ารุกขกรเข้าไปเมื่อต้องเข้ามาฟื้นฟูต้นไม้ต้นนี้แล้ว ซึ่งบางครั้งมันไม่ทัน สำหรับต้นไม้หนึ่งต้น โดยเฉพาะต้นใหญ่ๆ เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นไปได้ว่า เมื่อมีการก่อสร้างอะไรก็แล้วแต่ รุกขกรได้เข้าไปอยู่ในกระบวนการตั้งแต่ช่วงแรกๆ มันก็จะทำให้เราสามารถที่จะคัดเลือกแล้วก็รักษาต้นไม้ที่มันสำคัญ หรือต้นไม้จำเป็นได้ค่อนข้างเยอะ เรื่องนี้ควรที่จะออกแบบมาเป็นแบบแผน ข้อกำหนด หรือกฎหมายของประเทศไทยเลยด้วยซ้ำว่า การพัฒนาพื้นที่หรืออะไรก็แล้วแต่ ต้องมีข้อกำหนดด้านงานต้นไม้แบบไหน”
แต่ทุกวันนี้ เนื่องจากไม่ได้มีกฎหมายเข้มแข็งแบบของสิงคโปร์จึงทำให้ตอนนี้ การที่รุกขกรจะเข้าไปมีส่วนร่วม ในการจัดการต้นไม้ ก็ยังไม่ได้มากขนาดนั้น แต่เริ่มมีเยอะขึ้น
“ถ้าเทียบกับเมื่อสิบปีที่แล้ว ก็เริ่มมีความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี คนในวิชาชีพก็ช่วยกันผลักดันให้มีมาตรฐานวิชาชีพมากขึ้น โดยใช้กรอบขององค์กรรุกขกรรมนานาชาติด้วยค่ะ แต่ก็มีบางอย่างที่ปรับให้เขากับบริบทของเมืองไทย”
คือคำบอกเล่าที่น่าสนใจจากประสบการณ์การทำงานนับทศวรรษของหัวหน้าทีมรุกขกรผู้นี้
…………
Text by : รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
Photo by : ชนัตฎา ดำเงิน