ชาวเน็ตต่างพากันทัวร์ลง 2 หน่วยงานหลังเหตุแผ่นดินไหว ได้แก่ สตง.กรณีอาคารถล่ม จี้แสดงความรับผิดชอบ และ กสทช.แจ้งเตือนภัยผ่าน SMS ล่าช้า ถามกลับองค์กรนี้มีไว้ทำไม
วันนี้ (30 มี.ค.) หลังจากเกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.2 ตามมาตราริกเตอร์ จุดศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศเมียนมา เมื่อเวลา 13.20 น. ของวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา ทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนไปถึงกรุงเทพฯ และปริมณฑล เฟซบุ๊กเพจ "สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน" ซึ่งเป็นเจ้าของอาคารที่เกิดเหตุถล่มลงมา บริเวณถนนกำแพงเพชร 2 เขตจตุจักร กรุงเทพฯ โพสต์ข้อความระบุว่า "สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน สตง.ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อความสูญเสียจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว และได้เร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มกำลังความสามารถ พร้อมตรวจสอบหาสาเหตุที่เกิดขึ้น และจะได้ชี้แจงให้ทุกท่านทราบโดยเร็วต่อไป"
ปรากฏว่ามีชาวเน็ตพากันทัวร์ลง สตง.แสดงความไม่พอใจจำนวนมาก เช่น "ทำให้เท่าเทียมเหมือนที่ไล่ตรวจงานคนอื่นนะ"
"ผมเรียกร้องให้ผู้ว่าการ สตง.ที่เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด ออกมา take action ครับ ไม่ใช่ใช้ลูกน้องมารับหน้าพอเป็นพิธี แมนๆ หน่อยเว้ยยย ประชาชนเขาดูอยู่"
"ปี 58 สายตรวจของท่านตรวจตึกที่หน่วยงานผมรับผิดชอบอยู่ บอกว่าราคาสูงเกินไป แต่พวกผมบอกควรคำนึงถึงเจ้าหน้าที่ที่ทำงานในตึกและประชาชนที่มาใช้บริการ แต่สายของท่านบอกให้ควรคำนึงแค่ราคา เพราะเป็นเงินของแผ่นดิน นับแต่นั้นมาใจผมก็นึกดูถูกองค์กรของท่านมาตลอด เกือบสิบปีผ่านมา ตึกนี้ท่านก็คงดูแต่ราคาใช่ไหมครับ?"
"ยังช็อกอยู่ใช่มั้ย ช็อกที่ทั้งกรุงเทพฯ ถล่มอยู่ตึกเดียว เลยออกมาช้ากว่าใครเขาน่ะ"
"อย่าลืมตรวจสอบหน่วยงานของท่าน สตง.อย่างเข้มข้นเหมือนที่ไปตรวจสอบส่วนราชการอื่นๆ นะครับ นับแม้กระทั่งเลขไมล์รถยนต์"
"สอบถามครับ สมมติว่าตึกนี้เป็นของส่วนราชการอื่น หรือเป็นของ อปท. เจ้าหน้าที่ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องโดนวินัยหรือต้องโดนเรียกเงินคืนมั้ยครับ"
"ขอดูคณะกรรมการกำหนดราคากลาง คณะกรรมการควบคุมงาน คณะกรรมการตรวจรับ บัญชีการเบิกจ่ายวัสดุ ค่าแรงคนงาน ขอดูบันทึกลงเวลาทำงาน ภาพถ่ายขณะทำงานทุกวัน ขอดูเอกสารสัญญาจ้างด้วย ขอแบบละเอียดๆ แบบที่ไปตรวจหน่วยงานอื่นครับ"
"สอบถามครับ ทำไมต้องจ้างบริษัทควบคุมงานก่อสร้างถึง 3 บริษัท ใช้งบตั้ง 70 กว่าล้าน แต่ผลออกมาห่วยแตกฉิบหาย และทำให้คนบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก งานนี้ต้องมึผู้รับผิดชอบต้องได้รับโทษอย่างสาสมทั้งติดคุกและชดใช้เงินให้กับผู้เสียหาย รวมถึงภาษีของประชาชนด้วย"
"ช่วงก่อนชอบมีสำนวนที่บอกว่า อย่าทำตัวเป็นกระดาษทราย ที่คอยแต่ตรวจสอบขัดเกลาคนอื่น แต่ตัวเองนั้นหยาบแสนหยาบ สงสัยนับแต่นี้ไปอาจจะต้องเปลี่ยนจากคำว่ากระดาษทราย เป็นคำว่า สตง. แทนท่าจะดี"
"ดีแต่ตรวจชาวบ้าน ตึกตัวเองล่ะกินกันอิ่ม ภาษีประชาชนสองพันล้านหายวับไปกับตา งามหน้าไหมล่ะ"
"ขอให้ ป.ป.ช.และสำนักงบประมาณเข้าตรวจสอบอย่างละเอียดครับ เช็กทุกจุด ไล่ทุกกระบวนการ ตรวจสอบให้หมด ตั้งแต่คณะกรรมการตรวจรับแบบ กำหนดราคากลาง ตรวจรับพัสดุ เอาให้เหมือนกับที่ สตง.ไปตรวจหน่วยงานอื่นๆ ครับ ตรวจสอบคนอื่นได้ หน่วยงานตนเองก็ต้องถูกตรวจสอบด้วยเหมือนกันเพื่อความยุติธรรมครับ"
"ฝากกรมบัญชีกลางในฐานะเลขานุการฝ่ายตรวจสอบองค์กรอิสระอย่าง สตง. ด้วยว่างบประมาณที่สูญเสียไปเกิดจากภัยธรรมชาติโดยแท้ หรือเพราะความผิดพลาดจากกระบวนการก่อนหรือหลังการจัดจ้าง เพราะถ้าเขาตรวจคนอื่นไม่เว้น และไม่ฟังคำอธิบายด้วย สุดท้ายก็ควรลงโทษให้เด็ดขาดถ้ามีความผิด ทั้งในทางอาญา ทางแพ่ง และทางปกครอง"
"เป็นญี่ปุ่น ผู้นำองค์กรเขาคงลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ" "คนจีนบอก ถ้าตึกนี้สร้างที่จีนได้โดนประหารไปแล้ว" เป็นต้น
ด้านเฟซบุ๊กเพจ กสทช. ของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โพสต์ข้อความระบุว่า "สำนักงาน กสทช.ขอแสดงความห่วงใยจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งได้กำชับค่ายมือถือให้ดูแลระบบสื่อสาร เพื่อรองรับสถานการณ์ในกรณีฉุกเฉินให้ประชาชนสามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ทางสำนักงาน กสทช.ขอส่งกำลังใจให้ทุกท่านผ่านพ้นช่วงเวลานี้ไปได้อย่างปลอดภัย และขอให้ทุกท่านติดตามข่าวสารอย่างมีวิจารณญาณจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ" ปรากฏว่าก็มีชาวเน็ตทัวร์ลงเช่นกัน เช่น
"ไหน SMS"
"ลาออกรับผิดชอบหน่อยครับ ผิดหวังการทำงานขององค์กร"
"องค์กรห่วยแตก"
"ส่งเอสเอ็มเอสมาหลังจากแผ่นดินไหวหยุดแล้วนี่นะ"
"ระบบแจ้งเตือนอยู่ไหนคะ"
"กสทช.หลังจากอนุญาตให้เครือข่ายมือถือยุบรวมกันแล้ว ค่าเน็ตแพงขึ้น (ปล่อย) ไม่เคยสนใจความเดือดร้อนของ ปชช.เลย แล้วมาแผ่นดินไหวครั้งนี้ SMS ปชช.ก็ถาม กสทช.หน้าที่คืออะไร?"
"ต้องรอ Dad มึงลงโลงก่อนไหม แล้วค่อย SMS เตือนภัยประชาชน สึนามิก็แล้ว น้ำท่วมใหญ่ก็แล้ว น้ำป่าแม่สายก็แล้ว นี่แผ่นดินไหวขนาดตึกถล่มก็ยังไม่มี SMS เตือนภัย มันใช้เงินในกระเป๋า Mom มึงหรือครับ ภาษีพวกกู ก็แค่เตือนภัยให้ประชาชน มันทำไมยากจังวะครับ"
กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากหลังเกิดแผ่นดินไหว กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ส่งหนังสือไปยังเลขาธิการ กสทช. เพื่อขอให้ส่ง SMS ไปยังผู้ใช้โทรศัพท์มือถือในกรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ แต่ปรากฏว่าเรื่องเงียบ กระทั่งมีการส่ง SMS ไปยังประชาชนตั้งแต่ช่วงหลัง 2 ทุ่มถึงเช้าวันรุ่งขึ้น ซึ่งเป็นช่วงที่เหตุการณ์สงบลงมากแล้ว
โดยก่อนหน้านี้เมื่อเดือน ก.ย. 2567 กสทช.อนุมัติงบประมาณ 1,000 ล้านบาทให้ค่ายมือถือ เช่น เอไอเอส ทรู และเอ็นที พัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านโทรศัพท์มือถือ (Cell Broadcast) เพื่อให้ผู้คนได้รับข้อมูลข่าวสารที่สำคัญและจำเป็นในสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น น้ำท่วม แผ่นดินไหว สึนามิ ฯลฯ ด้วยการเชื่อมกับระบบการสั่งการของรัฐบาล แต่เมื่อถึงคราวเกิดเหตุแผ่นดินไหวปรากฏว่าประชาชนได้รับ SMS ล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็น