xs
xsm
sm
md
lg

กรมโยธาฯ ตั้งศูนย์รับแจ้งเพื่อตรวจสอบความเสียหายของอาคารที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมโยธาธิการและผังเมืองจัดตั้งศูนย์รับแจ้งเพื่อตรวจสอบความเสียหายของอาคารที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวเพื่อส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าตรวจสอบ พร้อมแนะนำเจ้าของอาคารสูงของภาคเอกชนติดต่อผู้ตรวจสอบอาคารประจำอาคาร หรือผู้ตรวจสอบอาคารที่ขึ้นทะเบียนกับกรมโยธาฯ กว่า 2,600 ราย เพื่อประเมินความปลอดภัย

กรมโยธาธิการและผังเมืองออกแถลงการณ์ เรื่องการตรวจสอบความมั่นคงของอาคารหลังเหตุแผ่นดินไหว มีเนื้อหาดังนี้

จากสถานการณ์แผ่นดินไหว ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 นายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร และรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล ได้มีข้อสั่งการเร่งด่วนให้กรมโยธาธิการและผังเมืองดำเนินการตรวจสอบอาคารที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวดังกล่าว

กรมโยธาธิการและผังเมืองได้จัดตั้งศูนย์รับแจ้งเพื่อตรวจสอบความเสียหายของอาคารที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว ณ กรมโยธาธิการและผังเมือง ถนนพระรามที่ 6 โดยประสานงานกับสภาวิศวกร สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร และวิศวกรอาสาภาคเอกชน กรุงเทพมหานคร ในการเตรียมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเร่งดำเนินการลงพื้นที่ตรวจสอบความปลอดภัยของอาคาร โดยจะเน้นอาคารสาธารณะ อาคารชุมนุมคน เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล เป็นลำดับแรก และหากประเมินแล้วอาคารมีความเสี่ยงไม่ปลอดภัยในการใช้อาคาร จะเสนอให้มีการระงับการใช้อาคาร และให้ดำเนินการมีการปรับปรุงให้อาคารมีความมั่นคงแข็งแรงก่อนเปิดใช้อาคารต่อไป

โดยเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 กรมฯ ได้เริ่มดำเนินการตรวจสอบอาคารที่ได้รับการร้องขอแล้วจำนวน 3 หน่วยงาน 9 อาคาร ได้แก่ โรงพยาบาลราชวิถี 3 อาคาร โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า 2 อาคาร และโรงพยาบาลเลิดสิน 4 อาคาร และในวันที่ 29 มีนาคม 2568 จะมีการประชุมหารือวางแผนกำหนดแนวทางการตรวจสอบอาคารร่วมกัน โดยจะเข้าดำเนินการตรวจสอบอาคารเพิ่มเติมอีกจำนวน 5 หน่วยงาน ได้แก่ 1. อาคารกระทรวงพาณิชย์ 2. อาคารกระทรวงมหาดไทย 3. อาคารสำนักงบประมาณ 4. อาคารทำเนียบรัฐบาล 5. อาคารคณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์ 6. อาคารกรมศุลกากร(คลองเตย) 7. โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ 8. กรมสรรพากร (อารีย์) และจะดำเนินการตรวจสอบอาคารที่ได้รับแจ้งเพิ่มเติมต่อไป

กรมโยธาธิการและผังเมืองยังแนะนำให้เจ้าของอาคารสูง โรงแรม คอนโดมิเนียม และห้างสรรพสินค้า ที่เป็นของภาคเอกชน ติดต่อผู้ตรวจสอบอาคารประจำอาคาร หรือผู้ตรวจสอบอาคารที่ขึ้นทะเบียนกับกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งมีอยู่กว่า 2,600 ราย เพื่อประเมินความปลอดภัยของการเข้าใช้อาคารตามคู่มือสำรวจความเสียหายขั้นต้นของโครงสร้างอาคารหลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวของกรมโยธาธิการและผังเมือง หากเจ้าของอาคาร ผู้ใช้อาคารหรือผู้ตรวจสอบอาคารต้องการปรึกษาหรือขอคำแนะนำเพิ่มเติม สามารถติดต่อมาที่ศูนย์รับแจ้งเพื่อตรวจสอบความเสียของอาคารที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว ได้ตามช่องทางที่กำหนด ขณะเดียวกันในจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว ได้มอบหมายให้สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดจัดตั้งศูนย์รับแจ้งเพื่อตรวจสอบความเสียหายของอาคารที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว โดยให้รวบรวมวิศวกรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและวิศวกรอาสาในพื้นที่เข้าร่วมดำเนินการตรวจสอบอาคารเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ กรมโยธาธิการและผังเมืองได้เผยแพร่คู่มือสำรวจความเสียหายขั้นต้นของโครงสร้างอาคารหลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวของกรมโยธาธิการและผังเมือง หลังแผ่นดินไหว เพื่อให้เจ้าของอาคาร ผู้ตรวจสอบอาคาร และประชาชนทั่วไปรับทราบผ่านทุกช่องทาง พร้อมทั้งเปิดสายด่วนสำหรับขอรับคำปรึกษาและแจ้งเหตุที่หมายเลข 0-2299-4191 และ 0-2299-4312 ตลอด 24 ชั่วโมง จึงขอให้ประชาชนและเจ้าของอาคารที่พบความเสียหาย ดำเนินการให้มีการประเมินตรวจสอบอาคาร เพื่อให้มีความปลอดภัยในการเข้าใช้อาคารต่อไป

ในส่วนของอาคารบ้านเรือนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กรมฯ จะร่วมกับกรุงเทพมหานครดำเนินการตรวจสอบวิเคราะห์ ประเมิน ตามข้อมูลที่ได้รับผ่านแอปพลิเคชัน Traffy Fondue (ทรัฟฟี่ฟองดู) ของกรุงเทพมหานครต่อไป
















กำลังโหลดความคิดเห็น