อาจารย์หมอเต้ย แพทย์ศัลยกรรมแห่งโรงพยาบาลตำรวจ เปิดใจหลังผ่าตัดคนไข้กลางแจ้งขณะเกิดเหตุแผ่นดินไหว ใช้เวลาในการผ่าตัดเพียง 10 นาทีเท่านั้น จนชาวเน็ตยกให้เป็น “หมอแพก เมืองไทย”
จากเหตุแผ่นดินไหวความแรงขนาด 8.2 แมกนิจูด เมื่อเวลา 13.20 น. ในวันที่ 28 มี.ค. จุดศูนย์กลางบริเวณเมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา ส่งผลให้ประเทศไทยรับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนหลายพื้นที่ โดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง รวมถึงกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล
นอกจากนี้ ในไทยยังได้รับผลกระทบหนักจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยมีตึกอาคารถล่ม มีผู้ได้รับบาดเจ็บ-เสียชีวิต สูญหายจำนวนมาก และหลายโรงพยาบาลได้รับผลกระทบที่เหล่าบุคลากรทางการแพทย์ต้องช่วยกันลำเลียงผู้ป่วยออกนอกตึกเพื่อความปลอดภัย
ต่อมามีผู้ใช้เฟซบุ๊ก “Tony Lim" เผยภาพวินาทีชีวิตขณะ อาจารย์หมอเต้ย หรือ พ.ต.ท.วรัญญู จิรามริทธิ์ แพทย์ศัลยกรรมแห่งโรงพยาบาลตำรวจ ได้ทำการผ่าตัดกลางแจ้งให้แก่ผู้ป่วยขณะเกิดเหตุแผ่นดินไหวแล้วจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกจากอาคารโดยด่วน
ด้านเพจ “สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว” ได้รายงานเพิ่มเติมว่า “พันตำรวจโท วรัญญู จิรามริทธิ์ แพทย์ศัลยกรรมโรงพยาบาลตำรวจ เปิดเผยผ่านโทรศัพท์ว่า คนไข้ต้องมีการผ่าตัดเปิดทวารเทียมทางหน้าท้อง ซึ่งก็มีการผ่าตัดตามกระบวนการ จากนั้นก็ทำการเย็บทวารเทียม แต่ระหว่างที่กำลังผ่าตัดปิดช่องท้องนั้นได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวพอดี ตนและทีมแพทย์ จึงตัดสินใจแพกคนไข้ออกมาจากห้องผ่าตัด ออกมาในจุดที่ปลอดภัยก่อน
จากนั้นได้ประเมินสถานการณ์แล้วว่าคนไข้จำเป็นต้องเร่งผ่าตัดเพื่อปิดช่องหน้าท้องโดยด่วน เพราะถ้าไม่เร่งผ่าตัดปิดหน้าท้อง ก็อาจจะเกิดภาวะลำไส้เคลื่อน แล้วกังวลใจว่าจะมีลำไส้บางส่วนโผล่ออกมาจากช่องท้อง แล้วโดนอากาศข้างนอกได้ จึงต้องมีการทำการผ่าตัดบริเวณข้างนอกห้อง และใช้เวลาในการผ่าตัดเพียง 10 นาทีเท่านั้น อีกทั้งขั้นตอนนี้เป็นการเย็บหน้าท้องในขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งก็คำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลักอยู่แล้ว เพราะมีการสวมถุงมือ และใช้อุปกรณ์ที่สะอาดปลอดเชื้อโรค คล้ายกับการทำแพทย์สนาม
ส่วนอาการของคนไข้ตอนนี้ปลอดภัยดีแล้ว กำลังแอดมิตอยู่ที่ห้องพักของโรงพยาบาล
ส่วนตัวไม่ทราบเลยว่ามีการนำภาพไปแชร์ลงในโซเชียล และมีคนชื่นชมเป็นจำนวนมาก เนื่องจากตนก็เพิ่งเสร็จจากภารกิจการรักษาคนไข้ และเขียนรายงานการรักษาคนไข้ให้กับทางโรงพยาบาล ซึ่งตนก็ทำตามหน้าที่ของแพทย์คนหนึ่งที่ต้องช่วยชีวิตคนไข้อย่างดีที่สุด”