เพจ "ท่องอวกาศ กับนายเฉาก๊วย" ชี้สาเหตุแผ่นดินไหวในเมียนมามาจากบริเวณแนวรอยต่อของแผ่นเปลือกโลกอินโด-ออสเตรเลียและยูเรเซีย ซึ่งเป็นแนวมุดตัว ทำให้เกิดการสะสมและปลดปล่อยพลังงาน แม้ไทยจะไม่ได้อยู่บนแนวรอยต่อโดยตรง แต่แรงสั่นสะเทือนสามารถส่งมาถึงได้
เมื่อวันที่ 28 มี.ค. หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวในประเทศเมียนมา ซึ่งส่งผลกระทบถึงประเทศไทยรู้สึกถึงความสั่นไหวในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะอาคารของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่บนถนนกำแพงเพชร 2 ตรงข้ามศูนย์การค้าเจเจมอลล์ แขวงและเขตจตุจักร กรุงเทพฯ ที่กำลังก่อสร้างถล่มลงมาทำให้มีคนงานติดอยู่ภายใต้ซากเกือบ 1 ร้อยชีวิต
อย่างไรก็ตาม ทางเพจ "ท่องอวกาศ กับนายเฉาก๊วย" ได้ออกมาวิเคราะห์สาเหตุที่แผ่นดินไหวในประเทศเมียนมาว่าเกิดจากสาเหตุอะไร โดยทางเพจได้ระบุข้อความว่า
"แผ่นดินไหว ที่พม่า มันเกิดจากอะไร?
พอเห็นข่าวแผ่นดินไหวขนาด 7.7 แมกนิจูด ที่พม่า หลายคนอาจสงสัยว่ามันเกิดจากอะไร แล้วไทยได้รับผลกระทบยังไง? มาเข้าใจหลักการง่ายๆ กัน
แผ่นเปลือกโลกขยับ = พื้นดินสั่นสะเทือน
โลกของเราไม่ได้เป็นก้อนหินแข็งๆ ชิ้นเดียว แต่มันถูกแบ่งเป็น แผ่นเปลือกโลก (Tectonic Plates) หลายชิ้นที่ลอยอยู่บนชั้นหินหนืดข้างใต้ แผ่นเหล่านี้เคลื่อนตัวตลอดเวลา แต่ปกติเราจะไม่รู้สึก… จนกว่ามันจะ “สะสมพลังงาน” แล้วปลดปล่อยออกมาทีเดียว = แผ่นดินไหว
แล้วที่พม่า มันเกิดจากอะไร?
จุดเกิดเหตุอยู่ใกล้กับแนวรอยต่อของแผ่นเปลือกโลก อินโด-ออสเตรเลีย กับยูเรเซีย ตรงนี้เป็น “แนวมุดตัว" (Subduction Zone) แปลว่ามีแผ่นเปลือกโลกอันหนึ่ง มุดลงไปใต้อีกแผ่น ทีนี้… การมุดไม่ได้ราบรื่นเหมือนรถวิ่งบนถนน แต่มันติดขัดและเกิดแรงดันสะสม พอสะสมพลังงานมากพอ ปึ้ง! ปลดปล่อยพลังงานออกมา = แผ่นดินไหว ครั้งใหญ่
แล้วทำไมไทยถึงสั่น?
แม้ว่าไทยจะไม่ได้อยู่บนแนวรอยต่อโดยตรง แต่…
1. พื้นดินไม่ได้แข็งเป็นแผ่นเดียว มันส่งแรงต่อกันไปได้
2. อาคารสูงในไทยรับแรงสะเทือนได้ดี แต่ก็มีโอกาสแกว่งตัว
3. ถ้าเกิดสึนามิ (ซึ่งขึ้นอยู่กับลักษณะของการเคลื่อนตัว) ฝั่งอันดามันของไทยอาจได้รับผลกระทบ
สรุป ต้องระวังอะไร?
- ถ้าอยู่ในอาคารสูง → หาที่กำบังใต้โต๊ะ อย่าใช้ลิฟต์
- ถ้าอยู่ริมทะเล → ฟังประกาศเตือนสึนามิจากกรมอุตุฯ
- ติดตามข่าวสารจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เพื่ออัปเดตสถานการณ์
คำแนะนำ
หากรู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือน ควรปฏิบัติตามแนวทางป้องกัน เช่น หาที่กำบังใต้โต๊ะที่มั่นคง อยู่ห่างจากกระจกและของหนัก และติดตามข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยาหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง"