xs
xsm
sm
md
lg

เผยสาเหตุแผ่นดินไหว 8.2 เกิดจาก “รอยเลื่อนสะกาย” พบทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่บ่อยครั้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เผยสาเหตุแผ่นดินไหวความแรงระดับ 8.2 แมกนิจูด พบเกิดจาก “รอยเลื่อนสะกาย” ในอดีต รอยเลื่อนนี้เคยก่อให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่หลายครั้ง เช่น วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2473 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.3 บริเวณเมืองพะโค ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 500 คน

จากกรณีแผ่นดินไหวความแรงระดับ 8.2 แมกนิจูด มีศูนย์กลางในประเทศเมียนมาที่เกิดขึ้นเมื่อเวลา 13.20 น.วันที่ 28 มี.ค. แรงสั่นสะเทือนมาถึงกรุงเทพมหนคร ทำให้อาคารสูงหลายแห่งสั่นไหว และบางแห่งถล่มลงมา นอกจากนี้ยังได้ส่งผลให้สระน้ำบนอาคารสูงหลายแห่งกระเพื่อมเป็นคลื่นตามแรงสั่นสะเทือน และล้นออกมาจากยอดตึกจนคล้ายกับน้ำตกที่ตกลงมาจากอาคารสูง เนื่องจากตัวอาคารโยกไปมาตามแรงของแผ่นดินไหว ตามที่นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น

วันนี้ (28 มี.ค.) พบเหตุแผ่นดินไหวดังกล่าวเกิดจากรอยเลื่อนสะกาย (Sagaing Fault) เป็นรอยเลื่อนมีพลังที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความยาวประมาณ 1,200 กิโลเมตร วางตัวในแนวเหนือ-ใต้ พาดผ่านกลางประเทศเมียนมา ครอบคลุมเมืองสำคัญหลายแห่ง เช่น มิตจีนา มัณฑะเลย์ ตองยี เนปิดอว์ พะโค และย่างกุ้ง ด้วยเหตุนี้ รอยเลื่อนสะกายจึงถูกขนานนามว่า "ยักษ์หลับกลางเมืองเมียนมา"

รอยเลื่อนสะกายเป็นรอยเลื่อนชนิดระนาบเหลื่อมขวา (Right Lateral Strike-Slip Fault) ที่มีอัตราการเคลื่อนตัวเฉลี่ยประมาณ 2 เซนติเมตรต่อปี ในอดีต รอยเลื่อนนี้เคยก่อให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่หลายครั้ง เช่น วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2473 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.3 บริเวณเมืองพะโค ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 500 ราย และปี พ.ศ. 2493 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.0 ใกล้เมืองมัณฑะเลย์ ส่งผลให้เจดีย์สำคัญพังทลาย และแรงสั่นสะเทือนรับรู้ได้ถึงภาคเหนือและกรุงเทพมหานครของไทย

เนื่องจากรอยเลื่อนสะกายมีพฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่บ่อยครั้ง เมื่อเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในเมียนมา แรงสั่นสะเทือนสามารถส่งผลกระทบถึงประเทศไทย โดยเฉพาะในภาคเหนือและกรุงเทพมหานคร ทำให้ประชาชนรู้สึกถึงการสั่นไหว และอาจส่งผลต่อโครงสร้างอาคารสูงตามที่นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น