อัปสร พรสวรรค์ นักวิชาการอิสระ
จากการชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาลเมื่อเร็วๆ นี้นับเป็นหนึ่งในความพยายามเพื่อรักษากระแสกรณีปลาหมอคางดำที่ยังไม่มีบทพิสูจน์สุดท้ายให้กับสังคม หลังนายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง ได้ออกมาให้ข้อมูลที่ชัดเจนว่าขณะนี้ยังไม่ปรากฏหลักฐานหรือพยานใดๆ ที่สามารถพิสูจน์แหล่งที่มาของการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำได้ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่สังคมควรพิจารณาอย่างมีเหตุผล แทนที่จะมุ่งเป้าโจมตีกันโดยปราศจากข้อเท็จจริงที่ได้การรับรองและยืนยันได้ สำคัญอย่างยิ่งคือ เรื่องนี้อยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาลแล้ว ก็ควรให้กระบวนการทางกฎหมายเป็นตัวขับเคลื่อน
จากคำสัมภาษณ์ของอธิบดีกรมประมง เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2568 ได้กล่าวยืนยันว่า “กรณีปลาหมอคางดำ กรมฯ ได้ดำเนินการแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง และได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและหาข้อมูล ซึ่งคณะกรรมการฯ รายงานว่าไม่ปรากฏหลักฐานและพยานใดๆ ที่พิสูจน์ได้ว่าการแพร่ระบาดนั้นเกิดจากแหล่งใด” จึงไม่ควรสันนิษฐานโดยขาดหลักฐานรองรับอย่างถูกต้อง
จากข้อมูลปัจจุบันยังไม่สามารถชี้ชัดว่าแหล่งที่มาของปลาหมอคางดำมาจากภาคเอกชน หรือจากปัจจัยทางธรรมชาติ เนื่องจากยังไม่มีมูลเพียงพอ ขณะที่การดำเนินการของกรมประมงยืนยันว่าหน่วยงานภาครัฐยึดถือข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และกระบวนการตรวจสอบที่เป็นระบบ ไม่ใช่เพียงความเชื่อหรือแรงกดดันจากกระแสสังคม
นอกจากนี้ กรณีการฟ้องร้องโดยกลุ่มชาวประมงที่ศาลแพ่งรับฟ้องนับเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการทางกฎหมายแต่ยังไม่ใช่ข้อสรุปตัดสินว่าใครถูกใครผิด ประกอบกับขณะนี้มีการฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลางอีก 2 คดี ต่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมประมง และฟ้อง 18 หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง กรณีการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในประเทศไทย ซึ่งในส่วนของกรมประมงได้ดำเนินการตามหน้าที่ ส่งคำชี้แจงต่อศาลปกครองกลาง ซึ่งยืนยันว่าหน่วยงานรัฐกำลังจัดการปัญหาอย่างรอบด้าน ไม่ได้ชี้นำไปยังฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
ขณะที่บริษัทเอกชนที่ถูกพาดพิงว่านำเข้าปลาอย่างถูกต้องตามกฎหมายเพียงรายเดียว ก็ยืนยันว่าสนับสนุนให้เกิดการตรวจสอบตามกระบวนการที่โปร่งใสและยุติธรรม และเน้นย้ำมาตรฐานความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) ที่ดำเนินการอย่างเคร่งครัดของบริษัท และพร้อมเปิดเผยข้อมูลด้านนี้ที่ใช้ในกระบวนการผลิต เพื่อป้องกันปัญหาการแพร่ระบาดของสัตว์น้ำที่อาจเกิดจากปัจจัยภายนอก และยินดีให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการศึกษาและหาทางออกที่เป็นประโยชน์ต่อระบบนิเวศและอุตสาหกรรมการประมงของไทย
กรณีปลาหมอคางดำ ยังคงเป็นข้อพิพาทที่ต้องใช้เวลาในการตรวจสอบข้อเท็จจริง จากข้อมูลของกรมประมงชี้ให้เห็นว่า ยังไม่มีหลักฐานที่สามารถชี้ชัด ว่า ภาคเอกชนเป็นต้นเหตุของการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ หลักฐานทางวิทยาศาสตร์จะเป็นเครื่องยืนยันต้นตอการแพร่ระบาด การกล่าวอ้างใดๆ อาจส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมสัตว์น้ำไทยโดยรวม ดังนั้น สังคมควรเชื่อถือข้อเท็จจริงจากแหล่งข้อมูลที่ผ่านการรับรองและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และให้ความสำคัญต่อแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ แทนการโจมตีกันโดยปราศจากหลักฐานที่แน่ชัด