xs
xsm
sm
md
lg

กองทุนพัฒนาสื่อฯ ย้ำผู้บริหารสื่อที่ดีต้องขับเคลื่อนองค์กรและอุตสาหกรรมสื่อไปสู่อนาคตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน มีจริยธรรมและธรรมาภิบาล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เปิดหลักสูตรพัฒนาผู้บริหารผู้ผลิตสื่อมืออาชีพ (ระดับสูง) “Lead Senior Executive: นำองค์กรสื่อสู่อนาคตอย่างยั่งยืน” เพื่อเสริมสร้างศักยภาพและยกระดับวิสัยทัศน์ของผู้บริหารผู้ผลิตสื่อมืออาชีพ (ระดับสูง) ให้สามารถขับเคลื่อนองค์กรและอุตสาหกรรมสื่อไปสู่อนาคตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน และได้จัดพิธีปฐมนิเทศเปิดหลักสูตรอบรมไปแล้ว เมื่อวันจันทร์ที่ 24 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมอวานี รัชดา กรุงเทพฯ โดยมี ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นประธานเปิดการอบรม และมีผู้ที่ผ่านกระบวนการคัดเลือกผู้เข้าร่วมอบรมทั้งสิ้น 33 คน จากกลุ่มอาชีพและองค์กรที่หลากหลาย อาทิ ผู้บริหารองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน, ผู้ผลิตสื่อที่เคยผ่านการอบรมหรือได้รับทุนจากกองทุนพัฒนาสื่อฯ, ผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการศึกษาและ เจ้าของกิจการและผู้บริหารระดับสูงในภาคเอกชน เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวเปิดการอบรมว่า กองทุนพัฒนาสื่อฯ จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมการพัฒนาสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ รวมถึงสนับสนุนการวิจัยและการพัฒนาในด้านการผลิตสื่อที่มีคุณภาพ ซึ่งมุ่งเน้นให้สื่อมีความรับผิดชอบต่อสังคมและส่งเสริมความปลอดภัย จึงได้ร่วมกับ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พัฒนาหลักสูตรผู้บริหารผู้ผลิตสื่อมืออาชีพ (ระดับสูง) "LEAD Senior Executive: นำองค์กรสื่อสู่อนาคตอย่างยั่งยืน" นี้เป็นครั้งแรก เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของผู้บริหารผู้ผลิตสื่อมืออาชีพ (ระดับสูง) ให้สามารถขับเคลื่อนองค์กร และอุตสาหกรรมสื่อไปสู่อนาคตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาผู้นำในอุตสาหกรรมสื่อให้สามารถขับเคลื่อนองค์กร และสร้างผลกระทบเชิงบวกในระยะยาว โดยหลักสูตรประกอบด้วยกิจกรรมการเรียนรู้ 38 ชั่วโมง มุ่งเน้นการเสริมสร้างศักยภาพสำหรับผู้นำในอุตสาหกรรมสื่อ 4 ด้าน ได้แก่ 1. ภาวะผู้นำในองค์กรสื่อยุคใหม่ (Leadership for Media Organization: L) 2. ผู้สร้างนวัตกรรมเชิงจริยธรรม (Ethical Innovators: E) 3. นักวางแผนยุทธศาสตร์ขั้นสูง (Advanced Strategists: A) และ 4. ผู้สร้างสรรค์การเปลี่ยนแปลงเชิงพลวัต (Dynamic Change Creators: D)

“กองทุนฯ ได้จัดทำหลักสูตรพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตสื่อเป็นขั้นตอน ตั้งแต่ผู้ผลิตสื่อระดับต้น ระดับกลาง และระดับสูง ในมุมของกองทุนฯ สิ่งที่สำคัญคือ เรื่องของจริยธรรมในการทำงานด้านสื่อ ถัดมาคือ ผู้ผลิตสื่อในระดับสูง หรือผู้บริหาร ที่มีความจำเป็นต้องเติมเต็มความรู้ อัปสกิล รีสกิลตลอดเวลาตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง เพราะทุกวันนี้ไม่มีใครสามารถหยุดนิ่งได้ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของหลักสูตรผู้ผลิตสื่อระดับสูง ที่เน้นเปิดพื้นที่ให้คนที่มีประสบการณ์ มีความสามารถ มีผลงานมาแล้ว ได้มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เติมเต็มทักษะความรู้ ช่วยกันในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสื่อเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม นอกจากนี้ กองทุนฯ ยังต้องการให้คนที่ผ่านหลักสูตรนี้กับเราเป็นเดอะเทรนเนอร์ (The Trainer) เป็นครูที่สามารถไปสอนคนอื่นได้ และสุดท้ายคือ เราหวังว่าทุกคนที่เข้าร่วมกับเราจะสามารถไปผลิตสื่อที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกทางสังคมได้ เพราะผู้บริหารผู้ผลิตสื่อระดับสูงที่ดีในยุคนี้ ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม ต้องไม่คำนึงถึงเฉพาะเรื่องรายได้เพียงอย่างเดียว ต้องรู้จักหาจุดที่สมดุลระหว่างเรตติ้งและรายได้ โดยไม่ปล่อยให้เนื้อหาสื่อมาทำลายสังคมจนเกินพอดี และผู้บริหารสื่อที่ดีจะต้องมีทั้งธรรมาภิบาลและจริยธรรม”

ผศ.ดร.พิชญาณี พูนพล หัวหน้าโครงการฯ จากสถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวถึงหลักสูตรผู้บริหารผู้ผลิตสื่อระดับสูงนี้ว่า หลักสูตร “LEAD Senior Executive: นำองค์กรสื่อสู่อนาคตอย่างยั่งยืน” เป็นหลักสูตรสำหรับผู้บริหารผู้ผลิตสื่อมืออาชีพ(ระดับสูง) โดยผสมผสานการเรียนรู้รูปแบบไฮบริด (Hybrid) มีทั้งการเรียนออนไลน์และ On-site รวมประมาณ 38 ชั่วโมง เหมาะกับผู้บริหารผู้ผลิตสื่อมืออาชีพที่มีประสบการณ์ ตลอดจนผู้ที่มีบทบาทการเป็นผู้นำ ผู้บริหาร หรือเป็นเจ้าของกิจการด้านสื่อ หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา

โครร่างรายวิชาพัฒนาตามกรอบ Organization Environment Strategy หรือ OES โดยมีเนื้อหารายวิชาที่ให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้ทำความเข้าใจบริบทสภาพแวดล้อมสื่อในปัจจุบัน เรียนรู้วิสัยทัศน์เชิงยุทธศาสตร์ ศึกษาบทบาทผู้นำองค์กรสื่อ เสริมทักษะการใช้เทคโนโลยีนวัตกรรม การศึกษาดูงานองค์กรสื่อชั้นนำ และแลกเปลี่ยนมุมมองผ่านการเสวนาเรื่องธรรมาภิบาลในการบริหารองค์กรสื่อ รวมทั้งการบูรณาการองค์ความรู้และทักษะสู่การพัฒนาโครงงาน (Project) ในหัวข้อ “บริหารสื่ออย่างไรให้ปลอดภัย สร้างสรรค์ และยั่งยืน”ผู้เข้าร่วมจะได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ ทักษะ และประสบการณ์จากทีมวิทยากรระดับแนวหน้า ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ เช่น รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร, ดร.จักรพันธ์ จันทรัศมี, ดร.ภิญญโญ รัตนาพันธุ์, ดร.โชคชัย เอี่ยมฤทธิไกร, คุณกนกพร ประสิทธิ์ผล, ดร.อธิป อัศวานันท์, คุณกานท์กลอน รักธรรม เป็นต้น

รศ.ดร.ฐาศุกร์ จันประเสริฐ ที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า จุดเด่นของหลักสูตรนี้คือ การทำการวิจัยเชิงคุณภาพเพื่อค้นหา “ช่องว่างของหลักสูตร” และความต้องการที่แท้จริง ก่อนออกแบบหลักสูตร มีการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) กับผู้บริหาร นักวิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิในหลากหลายสาขา ซึ่งเป็นกระบวนการวิจัยที่ศึกษาความต้องการ ทักษะ และคุณลักษณะที่ผู้บริหารสื่อยุคใหม่จำเป็นต้องมี จนได้ข้อสรุปร่วมจากมุมมองวิชาการและประสบการณ์ตรงของผู้เชี่ยวชาญ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมสื่อ จนทำให้เราสามารถออกแบบหลักสูตรที่มี เนื้อหาเข้มข้นจากศาสตร์ที่หลากหลาย สะท้อนให้เห็นมิติ “การบริหารองค์กรสื่ออย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน” หลักสูตรการเรียนรู้เป็นการบูรณาการกันของหลากหลายศาสตร์ อาทิ มุมมองจากสังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ วัฒนธรรม และเทคโนโลยีดิจิทัล ผู้เข้ารับการอบรมจึงได้รับองค์ความรู้รอบด้าน ทั้งการประเมินผลกระทบต่อสังคม การนำองค์กร การกำหนดยุทธศาสตร์อย่างยั่งยืน และสามารถบูรณาการแนวคิดเรื่อง “สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” มาขับเคลื่อนในองค์กรได้จริง และมี รูปแบบการเรียนรู้หลากหลาย หลักสูตรให้ความสำคัญกับกิจกรรมเชิงปฏิบัติและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ผ่านกิจกรรมการศึกษาดูงานองค์กรสื่อชั้นนำ การเสวนาหัวข้อเรื่องธรรมาภิบาลในการบริหารองค์กรสื่อ เวิร์กช็อปสร้างโมเดลธุรกิจสื่อ และนำเสนอโครงงาน (Project) ในหัวข้อ “บริหารสื่ออย่างไรให้ปลอดภัย สร้างสรรค์ และยั่งยืน”ทั้งหมดก็เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายของหลักสูตร คือ เสริมสร้างศักยภาพของผู้บริหารผู้ผลิตสื่อมืออาชีพ (ระดับสูง) ให้เป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ จริยธรรม และพร้อมรับมือความเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล ให้สามารถขับเคลื่อนองค์กรและอุตสาหกรรมสื่อไปสู่อนาคตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน










กำลังโหลดความคิดเห็น