xs
xsm
sm
md
lg

พบจระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทยใกล้สูญพันธุ์ นอนอาบแดดในพื้นที่อช.ทุ่งแสลงหลวง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เจ้าหน้าที่เปิดภาพกล้องดักถ่ายสัตว์ป่า พบจระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทย ที่ใกล้สูญพันธุ์ นอนอาบแดดในพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง โดยในอดีตพื้นที่ดังกล่าวนี้เคยมีรายงานการพบจระเข้ล่าสุดเมื่อปี 2556 และตามคำบอกกล่าวของชาวบ้าน

เมื่อวันที่ 13 มี.ค. เพจ "สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 11 (พิษณุโลก)" เผยภาพจากกล้องดักถ่ายสัตว์ป่า พบจระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทย ที่ใกล้สูญพันธุ์ บริเวณปากกะซาว คลองชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก ในพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง

โดยทางเพจรายงานว่า "นายสมเกียรติ ยอดมาลี ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 11 เผยว่า ทีมนักวิจัยจากกลุ่มงานวิชาการ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 11 (พิษณุโลก) โดยนางสาวแดงระวี พรหมรักษ์ นักวิชาการป่าไม้ปฏิบัติการ หัวหน้าโครงการวิจัยทรัพยากรสัตว์ป่ากับโครงการพัฒนาลุ่มน้ำคลองวังชมพู (เขื่อนวังชมพู) อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง จังหวัดพิษณุโลก พร้อมคณะ ประสบความสำเร็จในการบันทึกภาพจระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทย สัตว์ที่มีสถานะใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งในธรรมชาติ บริเวณปากกะซาว คลองชมพู อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก ในเขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2568

ภาพถ่ายที่ได้จากกล้องดักถ่ายสัตว์ป่า แสดงให้เห็นจระเข้ขนาดใหญ่กำลังนอนอาบแดดบนโขดหินริมน้ำ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่มีต้นไม้และพุ่มไม้ปกคลุม การค้นพบนี้เป็นผลจากความพยายามอย่างต่อเนื่องของทีมวิจัยที่ได้ติดตามประชากรจระเข้น้ำจืดในพื้นที่มาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567 โดยมีการลงพื้นที่สำรวจร่องรอยและติดตั้งกล้องดักถ่ายสัตว์ป่าเป็นประจำทุกเดือน โดยในอดีตพื้นที่ดังกล่าวนี้เคยมีรายงานการพบจระเข้ล่าสุดเมื่อปี 2556 และตามคำบอกกล่าวของชาวบ้านว่าพบเห็นอยู่เรื่อยมา

จระเข้น้ำจืดไทย หรือที่เรียกกันว่า จระเข้สยาม จระเข้บึง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Crocodylus siamensis ซึ่งมาจากคำว่า "Siam" (ชื่อเดิมของประเทศไทย) และคำลาติน "ensis" ที่แปลว่า "เป็นของ" จึงมีความหมายว่า "จระเข้ซึ่งเป็นของประเทศไทย" จระเข้ชนิดนี้มีขนาดปานกลางค่อนข้างใหญ่ โตเต็มที่ ยาวประมาณ 3-4 เมตร เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุ 10-12 ปี วางไข่ครั้งละ 20-48 ฟอง มีระยะเวลาฟักไข่นาน 68 - 85 วัน โดยจะเริ่มวางไข่ในช่วงต้นฤดูฝนประมาณเดือนพฤษภาคม ด้วยการขุดหลุมในหาดทรายริมแม่น้ำ พฤติกรรมของจระเข้ชนิดนี้ชอบอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่ไหลไม่แรงนักหรือแหล่งน้ำนิ่ง และชอบอยู่หรือหากินเดี่ยวๆ อาหารหลักคือปลาและสัตว์ขนาดเล็ก โดยทั่วไปจะไม่ทำร้ายมนุษย์หากไม่ถูกรบกวนหรือมีอาหารเพียงพอ ในการกินแต่ละครั้งสามารถอยู่ได้ 10-15 วันโดยไม่ต้องกินอาหารอีก

จระเข้น้ำจืดไทยมีการกระจายพันธุ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครอบคลุมพื้นที่ของประเทศไทย แต่ปัจจุบันประชากรในธรรมชาติลดลงอย่างมาก จระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทยถูกจัดอยู่ในบัญชีหนึ่งของอนุสัญญาไซเตส (CITES) ซึ่งเป็นบัญชีของสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) จัดให้อยู่ในสถานะถูกคุกคามอย่างยิ่ง (Critically Endangered)

การพบจระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทยที่อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวงในครั้งนี้ จึงเป็นข้อมูลสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าประชากรจระเข้ในพื้นที่นี้ยังคงอยู่รอด และระบบนิเวศในอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวงยังคงมีความอุดมสมบูรณ์เพียงพอที่จะรองรับสัตว์ป่าหายากชนิดนี้ ซึ่งเป็นความหวังสำหรับการอนุรักษ์จระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทยให้คงอยู่ในธรรมชาติต่อไป อย่างไรก็ตาม ความท้าทายในการอนุรักษ์ยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่คลองชมพูที่อาจได้รับผลกระทบจากโครงการอ่างเก็บน้ำในอนาคต"






กำลังโหลดความคิดเห็น