xs
xsm
sm
md
lg

หมอเด็กเผย! มียาป้องกัน RSV แล้ว 2 รูปแบบ ทั้งวัคซีน และภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หมอม็อด นพ.ฒัชชณพงศ์ จงเจริญยานนท์ หมอเด็กเฉพาะทางโรคทางเดินหายใจ ออกมาโพสต์ข่าวดี ของเด็กเล็กในประเทศไทย คือปัจจุบันมียาที่สามารถป้องกัน RSV ได้แล้ว ทั้งวัคซีน และภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป

เมื่อวันที่ 12 มี.ค. เพจ "หมอม็อด หมอเด็กขอเล่า" โพสต์ข้อความน่ายินดีระบุข่าวดีสำหรับเด็กเล็กในไทย มียาป้องกัน RSV แล้ว โดยทางเพจได้ระบุข้อความว่า

"ข่าวดีของเด็กเล็กในประเทศไทย คือปัจจุบันมียาที่สามารถป้องกัน RSV ได้แล้ว ซึ่งสามารถป้องกันได้ 2 รูปแบบ คือ

1. วัคซีนที่ฉีดในหญิงตั้งครรภ์ ชื่อ Abrysvo ฉีดในคุณแม่เพื่อส่งภูมิคุ้มกันไปสู่ลูก

2. ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (**ไม่ใช่วัคซีน) ชื่อ Nirsevimab ฉีดให้กับเด็กๆ โดยตรง

โดยสรุปเป็นข้อควรรู้ฉบับประชาชน 10 ข้อ ดังนี้
1. เชื้อ RSV ในเด็ก มีโอกาสลงหลอดลมฝอยหรือปอดได้ 30% หมายความว่าถ้ามีเด็กติดเชื้อ RSV 100 คน จะมีเด็กที่เชื้อลงหลอดลมฝอยหรือปอดอยู่ประมาณ 30 คน (อีก 70 คนเป็นเหมือนไข้หวัดทั่วๆ ไป) โดยที่โอกาสในการลงปอดจะสูงในเด็กที่อายุน้อยหรือมีโรคประจำตัวบางอย่าง การได้รับยาป้องกันจะทำให้ลดความรุนแรงลงได้

2. ยาป้องกันตัวแรก คือ วัคซีนที่ฉีดในหญิงตั้งครรภ์ ชื่อ Abrysvo ฉีดตอนอายุครรภ์ 24-36 สัปดาห์ (ต้องฉีดก่อนคลอดอย่างน้อย 14 วัน ถึงจะสร้างภูมิทันส่งให้ลูก)
พอคลอดแล้วภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ RSV ที่แม่สร้างจะส่งไปถึงลูก ป้องกันการติดเชื้อ RSV ลงปอดได้ 60% และป้องกันการลงปอดแบบชนิดรุนแรงได้ 80%

3. ถ้าคุณแม่ได้รับวัคซีนป้องกัน RSV ตอนท้อง ลูกจะมีภูมิคุ้มกันที่ส่งจากแม่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องฉีดยาป้องกัน RSV ในลูกอีก [ยกเว้นบางกรณี เช่น คลอดก่อนกำหนด<32สัปดาห์ หรือเด็กมีโรคประจำตัวที่เสี่ยงต่อการเป็น RSV รุนแรง เป็นต้น]
4. ยาป้องกันตัวที่สองคือ Nirsevimab เป็นภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (ไม่ใช่วัคซีน***) ฉีดให้กับเด็กทารกโดยตรง
ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปต่างจากวัคซีนยังไง >> ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (Antibody) ฉีดเข้าไปแล้วสามารถดักจับเชื้อโรค และป้องกันไม่ให้ร่างกายเราติดเชื้อได้เลย แต่วัคซีน (vaccine) ฉีดเข้าไปแล้ว ต้องรอให้ร่างกายทำความรู้จักแล้วสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาสักพักหนึ่งถึงจะเริ่มป้องกันได้
5. ยา Nirsevimab จะดักจับเชื้อโรค RSV ทำให้ RSV ไม่สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ สามารถป้องกันการติดเชื้อ RSV ได้ประมาณ 60%, ป้องกันการนอนโรงพยาบาลจากการติดเชื้อ RSV ได้ 80% และป้องกันการติดเชื้อ RSV ชนิดรุนแรงได้ 85%

6. Nirsevimab จะฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ฉีดแล้วป้องกัน RSV ได้ 5 เดือน จึงแนะนำให้ฉีดในช่วงที่มีการระบาดของ RSV เยอะๆ ซึ่งได้แก่เดือนมิถุนายน-ตุลาคม
7. ใครควรฉีด?
เด็กทุกคนที่อายุ <= 8 เดือน
เด็กกลุ่มเสี่ยงที่อายุ <=12 เดือน [กลุ่มเสี่ยงคือ มีโรคปอดเรื้อรัง หัวใจพิการแต่กำเนิด ภูมิคุ้มกันบกพร่อง]
8. เด็กอายุ 12-24 เดือน ปอดจะเริ่มแข็งแรงขึ้นและส่วนมากจะเคยได้รับเชื้อ RSV กันมาแล้ว ทำให้การติดเชื้อ RSV ครั้งที่ 2 มักจะไม่รุนแรงเท่ากับครั้งแรก จึงไม่จำเป็นต้องฉีด nirsevimab (ยกเว้นคนไข้กลุ่มเสี่ยงที่กล่าวไปในข้อ 6)
9. ผลข้างเคียงของยา Nirsevimab คือ ผื่น 0.9%, ปวดตรงที่ฉีด 0.3%

10. กรณีที่เคยติดเชื้อ RSV มาแล้ว ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ไม่แนะนำให้ฉีด nirsevimab เพราะการติดเชื้อซ้ำเกิดได้น้อยและการติดเชื้อซ้ำมักจะไม่รุนแรงเท่าครั้งแรก (ยกเว้นคนไข้กลุ่มเสี่ยงที่กล่าวไปในข้อ 6)

ผู้ปกครองที่สนใจภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป nirsevimab แนะนำให้สอบถามรายละเอียดกับกุมารแพทย์อีกครั้งก่อนตัดสินใจ

โพสต์นี้จุดประสงค์ต้องการให้ความรู้เกี่ยวกับยาป้องกัน RSV เท่านั้น ไม่ได้รับการสนับสนุนใดๆ จากบริษัทยา"


กำลังโหลดความคิดเห็น