แพทย์หญิง วารุณี กุมารแพทย์เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ เตือนปีนี้ตั้งแต่มีโรคไข้หวัดใหญ่ระบาดหนัก ระวังเด็กป่วยโรคปอดอักเสบรุนแรง ชี้เป็นโรคร้ายที่ป้องกันได้ เผยในกรณีรุนแรงที่สุดอาจเสียชีวิตได้
วันนี้ (12 มี.ค.) เฟซบุ๊ก "Warunee Punpanich Vandepitte" หรือ รศ.พิเศษ แพทย์หญิง วารุณี พรรณพานิช วานเดอพิทท์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กุมารแพทย์เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ สถาบันสุขภาพเด็กเเห่งชาติมหาราชินี ได้โพสต์เตือนภัยโรคปอดอักเสบรุนแรงในเด็ก โรคร้ายที่ป้องกันได้ ปีนี้ตั้งแต่มีโรคไข้หวัดใหญ่ระบาดหนัก สถาบันสุขภาพเด็กพบผู้ป่วยปอดอักเสบรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2568 เด็กชายไทยอายุ 3 ขวบ 6 เดือนต้องเข้ารับการรักษาด้วยอาการหายใจเหนื่อยหอบ ผลการตรวจพบการติดเชื้อนิวโมคอคคัส ที่ทำให้เกิดโรคปอดอักเสบรุนแรงในเด็กเล็ก
Timeline
วันที่ 1 (2 มี.ค.): ไข้สูง 40°C + น้ำมูกใส + อาเจียน 2 ครั้ง ไปรักษาที่คลินิก
วันที่ 3 (4 มี.ค.): เริ่มมีอาการไอ + น้ำมูกใส + ไข้ 38°C
วันที่ 4 (5 มี.ค.): ไอถี่มากขึ้น + ยังมีไข้ ไปคลินิกอีกครั้ง ได้ยาชุดเดิม
วันที่ 6 (7 มี.ค.): หายใจเหนื่อยหอบ + ไอถี่มากขึ้น + ไข้ 38°C + กินได้น้อยลง ไป รพ.เอกชน
วันที่ 7 (8 มี.ค.): ส่งตัวมา รพ.เด็ก ตรวจพบหนองในช่องเยื่อหุ้มปอด ลักษณะอาการที่น่ากังวล: ไข้ไม่ลงเกิน 3 วันแม้ได้ยาลดไข้ หายใจเร็วผิดปกติ ซึมลง กินได้น้อยลง ผลการตรวจที่บ่งชี้ความรุนแรง: ตรวจร่างกาย: ไข้สูง หายใจเร็ว 28 ปอดซ้ายฟังไม่ได้ยินเสียงหายใจ เอกซเรย์: พบปอดข้างซ้ายขาวทึบไปทั้งข้าง
การตรวจทางห้องปฏิบัติการ พบความผิดปกติที่รุนแรง ค่า pH น้ำในช่องปอด: 6.76 (ค่าปกติ >7.2) ระดับน้ำตาลในน้ำช่องปอด: ต่ำมาก 2 mg/dL (ปกติ >60) ค่า LDH ในน้ำช่องปอด: สูงถึง 20,815 U/L (ค่าปกติ <1,000)
การรักษาที่จำเป็น:ใส่ท่อระบายหนองจากทรวงอก (สอดท่อเข้าช่องอกเพื่อระบายหนอง) ให้ยาละลายลิ่มเลือดทางท่อระบาย ให้ยาปฏิชีวนะชนิดแรงทางหลอดเลือดดำอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์ ให้ออกซิเจนอัตราการไหลสูง (high flow)
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น:เนื้อปอดเสียหายถาวรต้องผ่าตัดเอาเนื้อปอดที่ติดเชื้อรุนแรงออก ในกรณีรุนแรงที่สุด อาจเสียชีวิตได้
ความสำคัญของวัคซีน: การเจ็บป่วยนี้ป้องกันได้! วัคซีนป้องกันปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมคอคคัส (PCV) และวัคซีนไข้หวัดใหญ่ประจำปี ช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อที่รุนแรงได้อย่างมาก
คำแนะนำสำหรับพ่อแม่:พาลูกฉีดวัคซีนตามกำหนดเสมอ โดยเฉพาะวัคซีนไข้หวัดใหญ่ และ pneumococcus (PCV)
สังเกตอาการผิดปกติและรีบพาไปพบแพทย์หากมีไข้เกิน 3 วัน หายใจเร็ว/เหนื่อย ไม่ซื้อยาปฏิชีวนะให้เด็กรับประทานเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ เนื่องจากเสี่ยงต่อการดื้อยาและไม่ตอบสนองการรักษาภายหลัง ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือสม่ำเสมอ ช่วยลดการแพร่กระจายเชื้อ
นัดหมายปรึกษาหรือขอรับวัคซีนได้ที่ รพ.เด็ก โทร. 1415 ชีวิตออกแบบได้ ไม่อยากให้พ่อแม่ใจหาย เมื่อลูกต้องป่วยจากโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน จะกินข้าวก็ต้อง “ใส่จาน” ถ้าจะแข็งแรงนานๆ ก็ต้อง “ใส่ใจ”