เปิดประวัติ "พระชินวงศวชิรเวที" เจ้าคุณหนุ่ม จบฮาร์วาร์ด เปรียญธรรม 7 ประโยค ด้านชาวเน็ตแห่ชื่นชมเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญด้วยอายุแค่ 34 ปี
จากกรณีก่อนหน้านี้ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ พระราชาคณะ จำนวน 8 รูป ดังนี้
1. พระศรีวชิรวาที เป็น พระราชวชิรญาณเมธี ตรีปิฎกบัณฑิต ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี พระราชาคณะชั้นราช สถิต ณ วัดบวรนิเวศ ราชวรวิหาร พระอารามหลวง กรุงเทพมหานคร มีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้ 4 รูป คือ พระครูปลัด 1 พระครูสังฆรักษ์ 1 พระครูสมุห์ 1 พระครูใบฎีกา 1
2. พระศรีวินยาภรณ์ เป็น พระราชวินัยวชิรเมธี ตรีปิฎกวราลงกรณ์ ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี พระราชาคณะชั้นราช สถิต ณ วัดอาวุธวิกสิตาราม พระอารามหลวง กรุงเทพมหานคร มีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้ 4 รูป คือ พระครูปลัด 1 พระครูสังฆรักษ์ 1 พระครูสมุห์ 1 พระครูใบฎีกา 1
3. พระสุทธิสารเมธี เป็น พระราชสุทธิวชิรเมธี ตรีปิฎกคุณาภรณ์ ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี พระราชาคณะชั้นราช สถิต ณ วัดบุรณศิริมาตยาราม พระอารามหลวง กรุงเทพมหานคร มีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้ 4 รูป คือ พระครูปลัด 1 พระครูสังฆรักษ์ 1 พระครูสมุห์ 1 พระครูใบฎีกา 1
4. พระครูปลัดสุวัฒนสัจจคุณ ธีรวิทย์ วัดราชาธิวาส ราชวรวิหาร พระอารามหลวง กรุงเทพมหานคร เป็น พระราชาคณะชั้นสามัญ มีนามว่า พระวัฒนวชิรมธี
5. พระครูสุตตาภิรม เตชินท์ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร พระอารามหลวง กรุงเทพมหานคร เป็น พระราชาคณะชั้นสามัญ มีนามว่า พระชินวงศวชิรเวที
6. พระครูสุนทรมหาเจติยานุรักษ์ วัดเจดีย์หลวง วรวิหาร พระอารามหลวง จังหวัดเชียงใหม่ เป็น พระราชาคณะชั้นสามัญ มีนามว่า พระสุนทรวชิรเมธี
7. พระครูธรรมาภิสมัย วัดศรีจันทร์ พระอารามหลวง จังหวัดขอนแก่น เป็น พระราชาคณะชั้นสามัญ มีนามว่า พระพุทธิวชิรเมธี
8. พระครูวินัยธร เจริญ วัดนครอินทร์ จังหวัดนนทบุรี เป็น พระราชาคณะชั้นสามัญ มีนามว่า พระอุดมวชิรเมธี
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2568
ประกาศ ณ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2568 เป็นปีที่ 10 ในรัชกาลปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ปรากฏชื่อของพระครูสุตตาภิรม เตชินท์ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร พระอารามหลวง กรุงเทพมหานคร ได้รับความสนใจจากชาวเน็ตเป็นอย่างมาก เนื่องจากอายุยังน้อยเพียง 34 ปี แต่ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นเจ้าคุณชั้นสามัญ
สำหรับ พระชินวงศวชิรเวที หรือ พระมหาเตชินท์ มีประวัติโดยสังเขปดังนี้ ประวัติส่วนตัว นามเดิม: เตชินท์ จุลเทศ เกิด: วันอาทิตย์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2533
เป็นบุตรของนายเลอศักดิ์ จุลเทศ อดีตผู้อำนวยการธนาคารออมสิน และนางศิริพร จุลเทศ
การศึกษา:
สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น จากโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี (A.B.) สาขาเศรษฐศาสตร์และสถิติ จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา
สำเร็จการศึกษาปริญญาโท (S.M.) สาขาคณิตศาสตร์ประยุกต์และเศรษฐศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. 2556
การทำงาน:
ระหว่าง พ.ศ. 2556-2560 ได้ทำงานในภาคเอกชน
การอุปสมบทและสมณศักดิ์:
อุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่ออายุ 27 ปี ณ อุโบสถ วัดราชบพิธฯ โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อมฺพรมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เป็นพระอุปัชฌาย์
ได้รับพระบัญชาแต่งตั้ง พระมหาเตชินท์ อินฺทเตโช เป็นพระครูสุตตาภิรม พระครูฐานานุกรมในสมเด็จพระสังฆราช ด้านการศึกษา บาลี ป.ธ.7
ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระชินวงศวชิรเวที
ปัจจุบัน:
ดำรงตำแหน่งรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 27 ก.พ. ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์เฟซบุ๊กเล่าถึงการได้พบเจอกับ “พระชินวงศวชิรเวที” สมัยเป็นนักเรียนทุนที่สหรัฐอเมริกาว่า
“จะเป็นปีพุทธศักราช 2552 หรือ 2553 ความทรงจำของผมไม่ถนัดนัก แต่แน่นอนว่าเวลานั้นผมรับราชการในหน้าที่เลขาธิการสภาการศึกษา ประเด็นหนึ่งที่วงการการศึกษาให้ความสนใจเป็นพิเศษ ได้แก่เรื่องการศึกษาแนว Liberal Arts ซึ่งเมืองไทยไม่คุ้นเคย พอดีโอกาสนั้นสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ ทรงมีกำหนดการเสด็จพระราชดำเนิน ไปทรงประชุมเรื่องการศึกษาที่สหรัฐอเมริกา และจะได้ทรงดูงานโรงเรียนมัธยมชั้นยอดของประเทศนั้นที่จัดการศึกษาแนวนี้ด้วย ผมจึงได้เดินทางไปเข้าประชุมในฐานะผู้แทนฝ่ายไทยคนหนึ่ง และได้มีโอกาสตามเสด็จเพื่อไปชมกิจการของโรงเรียนดังกล่าว ที่โรงเรียนมัธยม Choate Rosemary Hall ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่ง ผมได้พบกับนักเรียนไทยคนหนึ่ง ชื่อเตชินท์ ได้รับทุนเล่าเรียนหลวงไปเรียนหนังสืออยู่ที่นั่น ก่อนที่จะเข้าศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยต่อไป เราได้ทักทายและพูดคุยกันตามสมควรเท่าที่เวลาและโอกาสจะอำนวย
ไม่น่าเชื่อที่อีกหลายปีต่อมา ผมได้พบนักเรียนคนนั้นอีกครั้งหนึ่ง แต่คราวนี้ท่านอยู่ในภิกขุภาวะแล้ว ได้ความว่าหลังท่านเรียนจบชั้นมัธยมจากโรงเรียนดังกล่าวแล้ว ท่านได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดจนสำเร็จการศึกษาทั้งในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท จากนั้นได้กลับมาทำงานอยู่ในภาคเอกชนอยู่ระยะหนึ่ง แล้วตัดสินใจเข้าบรรพชาอุปสมบทที่วัดราชบพิธเมื่อเจ็ดปีก่อน ท่านได้อุตส่าห์เล่าเรียนและเข้าสอบเปรียญธรรมจนได้เปรียญเจ็ดประโยค โดยไม่เคยสอบตกหล่นเลยสักปีเดียว
นอกจากในเรื่องการศึกษาตามขนบของคณะสงฆ์ข้างต้นแล้ว พระมหาเตชินท์ได้สนองงานคณะสงฆ์ในหน้าที่รองอธิการบดีด้านแผนพัฒนาและพันธกิจสากล มหาวิทยาลัยมกุฏราชวิทยาลัย ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ของฝ่ายธรรมยุต ความรู้ความสามารถทั้งฝ่ายคดีโลก คดีธรรม และประสบการณ์ที่ท่านเคยเรียนหนังสือในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงจากต่างประเทศมาแล้ว ย่อมเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการทำหน้าที่ผู้บริหารการศึกษาในมหาวิทยาลัยสงฆ์ของบ้านเรา ผมซึ่งเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยแห่งนี้อยู่ ไม่มีความสงสัยข้อใดในผลงานและฝีมือด้านนี้ของพระมหาเตชินท์
ในส่วนการของพระอาราม วัดราชบพิธ ท่านก็ได้สนองงานในด้านต่างๆ อย่างเต็มกำลัง ยกตัวอย่างเช่นเมื่อครั้งที่รองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา นางกมลา แฮร์ริส เดินทางมาร่วมประชุมเอเปกในประเทศไทย และมีกำหนดการเข้าเฝ้าเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช พระมหาเตชินท์เป็นผู้หนึ่งที่อยู่ในคณะทำงานเตรียมการ ได้ประสานงานกับหน่วยงานทั้งฝ่ายไทยและอเมริกาด้วยความเรียบร้อย และได้ติดตามเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ พร้อมกันกับผม นำรองประธานาธิบดีกมลาฯ ชมพระอาราม ซึ่งเชื่อได้แน่ว่าแขกคนสำคัญจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง และได้สนทนาประเด็นหลากหลายที่น่าสนใจด้วยความอภิรมย์
เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา พระมหาเตชินท์ได้รับพระกรุณาในเจ้าพระคุณ สมเด็จพระสังฆราช โปรดแต่งตั้งให้เป็นพระครูสุตตาภิรม ตำแหน่งฐานานุกรมในพระองค์ และบ่ายวันนี้ ระหว่างที่ผมร่วมประชุมสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยด้วยระบบออนไลน์อยู่นั้น ได้ทราบว่าราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานสมณศักดิ์ ให้พระครูสุตตาภิรม เตชินท์ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระชินวงศวชิรเวที พร้อมกับพระราชาคณะที่เป็นผู้บริหารของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยที่ได้รับพระราชทานเลื่อนและตั้งสมณศักดิ์อีกหลายรูป
ขอน้อมถวายมุทิตาสักการะด้วยความปีติยินดี และเชื่อมั่นว่าท่านเจ้าคุณจะมีความงอกงามไพบูลย์ในพระพุทธศาสนา และทำประโยชน์ต่อไปในวันข้างหน้าได้อีกมาก”