xs
xsm
sm
md
lg

Gen Z ใช้เน็ตสูงกระทบสุขภาพจิต คนไทยไม่ตระหนักข้อมูลส่วนบุคคล จับตาปัญหาไลฟ์พนัน-ลวงรัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รายงานสภาพัฒน์พบคน Gen X เกิดปี 38-52 ใช้เน็ตสูงกว่าทุกวัย กระทบต่อสุขภาพจิต หลายประเทศมีมาตรการจำกัดแล้ว ขณะเดียวกันคนไทยไม่ตระหนักข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลรั่วนับหมื่นล้านรายการ จับตาปัญหาการไลฟ์สดพนันออนไลน์ และลวงรักออนไลน์

วันนี้ (27 ก.พ.) รายงานข่าวแจ้งว่า สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ออกรายงานเรื่อง ภาวะสังคมไทยไตรมาสสี่และภาพรวมปี 2567 ที่น่าสนใจ ได้แก่ หัวข้อ "ผลกระทบของการใช้สมาร์ทโฟนต่อสุขภาพจิตของ Gen Z : บทเรียนจากต่างประเทศ" ระบุว่า Gen Z หรือกลุ่มคนที่เกิดในช่วงปี พ.ศ. 2538-2552 (ค.ศ. 1995-2009) ถือเป็นกลุ่มที่เติบโตมาพร้อมกับการพัฒนาของเทคโนโลยี ผลสำรวจในไตรมาส 3 ของปี 2567 พบว่า Gen Z ร้อยละ 99.1 มีและใช้มือถือสมาร์ทโฟน และร้อยละ 99.0 มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตสูงกว่าทุกกลุ่มอายุ ทำให้ Gen Z มีแนวโน้มได้รับผลกระทบทางลบจากโซเชียลมีเดียมากกว่ากลุ่มวัยอื่น

การศึกษาของ Jonathan Haidt จาก NYU ในปี 2024 พบว่า การใช้สมาร์ทโฟนและอินเทอร์เน็ตส่งผลต่อ Gen Z ใน 4 ด้าน คือ 1) การกีดกันการสร้างสังคมในชีวิตจริง 2) การกีดกันช่วงเวลานอนทั้งปริมาณและคุณภาพ 3) การทำให้เสียสมาธิ และ 4) การทำให้เสพติดโซเชียลมีเดีย ซึ่งประเทศต่างๆ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญต่อปัญหาสุขภาพจิตจากการใช้โซเชียลมีเดียของ Gen Z จึงออกมาตรการในการจัดการ ดังนี้

1) การจำกัดอายุ เช่น ประเทศออสเตรเลียผ่านร่างกฎหมาย The Online Safety Amendment (Social Media Minimum Age) Bill 2024 โดยกำหนดอายุขั้นต่ำในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ไว้ที่ 16 ปี

2) การควบคุมเนื้อหา เช่น ประเทศอังกฤษ มีกฎหมาย The Online Safety Act 2023 ที่กำหนดให้แพลตฟอร์มต่างๆ ต้องดำเนินการป้องกันและจัดการกับเนื้อหาที่เป็นอันตราย

3) การจำกัดระยะเวลาใช้งาน เช่น ประเทศจีนออกแนวปฏิบัติกำหนดให้เด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 16 ปี สามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้ไม่เกิน 1 ชั่วโมง ขณะที่เด็กอายุ 16-18 ปี ใช้ได้ไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน

และ 4) การเพิ่มความปลอดภัยบนแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา มีร่างกฎหมาย California Age - Appropriate Design Code Act (CAADCA) ที่มีเป้าหมายเพื่อปกป้องความเป็น
ส่วนตัวและความปลอดภัยของเด็กและเยาวชนที่ใช้งานแพลตฟอร์มออนไลน์

สำหรับประเทศไทยอาจนำแนวทางกรณีของต่างประเทศมาปรับใช้ได้ตามบริบท ทั้งนี้ ครอบครัวและสถานศึกษาต้องเข้ามามีบทบาทในการป้องกัน และควบคุมเพื่อลดผลเสียของการใช้มือถือ และอินเทอร์เน็ตของกลุ่มเด็กและเยาวชนร่วมกันด้วย เช่น เป็นต้นแบบที่ดีในการใช้โซเชียลมีเดียอย่างเหมาะสม และกำหนดกฎเกณฑ์พร้อมอธิบายเหตุผลในการจำกัดการใช้ ขณะที่สถานศึกษาควรมีบทบาทสร้างความตระหนักรู้ให้กับนักเรียนในการใช้โซเชียลมีเดียอย่างปลอดภัยและมีความรับผิดชอบ โดยเฉพาะด้านจริยธรรมในการใช้โซเชียลมีเดียในการเคารพสิทธิของผู้อื่น รวมไปถึงการใช้โซเชียลมีเดียที่สร้างสรรค์

อีกหัวข้อหนึ่ง "การป้องกันข้อมูลส่วนบุคคลจากภัยไซเบอร์ที่ไม่รู้ตัว" ระบุว่า ข้อมูลส่วนบุคคลเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าสำหรับหน่วยงานต่างๆ ส่งผลให้เป็นที่ต้องการของคนหลายกลุ่มทั้งภาครัฐ และเอกชน รวมไปถึงผู้ไม่หวังดีที่จะนำไปใช้ในทางที่ผิด โดยเฉพาะการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลที่อ่อนไหว ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการก่ออาชญากรรม และสร้างความเสียหายต่างๆ ในปี 2023 การรั่วไหลของข้อมูลสามารถสร้างความเสียหายถึง 16.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อหนึ่งบริษัท และคาดว่าในปี 2024 มูลค่าความเสียหายจะสูงถึง 17.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับประเทศไทย แม้จะไม่พบความเสียหายที่ชัดเจน แต่ในช่วงปี 2564-2567 มีสถิติการคุกคามทางไซเบอร์จำนวน 2,135 ครั้ง มีข้อมูลรั่วไหลมากกว่า 26,000 ล้านรายการ ผ่านหลายช่องทาง ซึ่งเมื่อประเมินความเสี่ยงของประเทศไทย พบประเด็นที่น่ากังวลที่อาจทำให้ข้อมูลรั่วไหล ดังนี้

1) คนไทยบางส่วนยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญของข้อมูลส่วนบุคคลอย่างแท้จริง โดยคนไทยร้อยละ 60 ยินยอมให้บริษัทเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิพิเศษ ส่วนลดสินค้า หรือของสมนาคุณจากบริษัท

2) ภาครัฐและเอกชนของไทยยังขาดแนวทางรองรับภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ชัดเจน โดยหน่วยงานรัฐร้อยละ 75 ไม่มีแผนสำหรับรองรับการคุกคามทางไซเบอร์ส่วนภาคเอกชน โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ร้อยละ 67 เคยถูกโจมตีทางไซเบอร์และทำให้การดำเนินธุรกิจหยุดชะงัก เพราะการรักษาความปลอดภัยไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ

3) หลายหน่วยงานยังขาดบุคลากรทั้งจำนวนและทักษะด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยร้อยละ 72 จากองค์กรที่ถูกละเมิดข้อมูลขาดแคลนทักษะด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยขาดแคลนทั้งในภาครัฐและ
เอกชน

และ 4) การขาดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน รวมถึงการประสานงานระหว่างประเทศ

ดังนั้น เพื่อให้ประเทศไทยสามารถป้องกันการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลได้ดียิ่งขึ้น อาจต้องมีการดำเนินการตั้งแต่การสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของข้อมูลส่วนบุคคล โดยการรณรงค์ผ่านสื่อต่างๆ การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการให้ข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงการสร้างความตระหนักรู้ทางไซเบอร์โดยวิธีการปฏิบัติ อีกทั้งยังต้องส่งเสริมให้หน่วยงานต่างๆ กำหนดแนวทางและพัฒนาบุคลากรเพื่อรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ชัดเจน

โดยหน่วยงานรัฐและเอกชนที่มีการเก็บข้อมูลที่มีความอ่อนไหว ควรจัดทำแผนการป้องกัน รวมทั้งมีการส่งเสริมให้มีแลกเปลี่ยนข้อมูลภัยคุกคามทางไซเบอร์ระหว่างภาครัฐกับเอกชน และพัฒนาบุคลากรตรวจสอบการใช้ข้อมูลของหน่วยงานในการประเมินความเสี่ยงของการรั่วไหลข้อมูลส่วนบุคคล

นอกจากนี้ ในรายงานของสภาพัฒน์ฉบับดังกล่าวยังระบุถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินในไตรมาสสี่และภาพรวมปี 2567 ลดลง โดยประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ คือการพนันผ่านการถ่ายทอดสด (Live) บนแพลตฟอร์มออนไลน์การตกเป็นเหยื่อลวงรักออนไลน์ (Romance Scam) และความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุของคนเดินเท้า

ทั้งนี้ ไตรมาสสี่ ปี 2567 คดีอาญารวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.6 จากไตรมาสเดียวกันของปี 2566 เพิ่มขึ้นในทุกประเภทคดี ขณะที่การรับแจ้งอุบัติเหตุทางถนน มีการรับแจ้งผู้ประสบภัยสะสมรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 จากไตรมาสเดียวกันของปี 2566 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของผู้บาดเจ็บร้อยละ 4.7 ผู้เสียชีวิตร้อยละ 2.3 ขณะที่ผู้ทุพพลภาพลดลงร้อยละ 32.7

สำหรับภาพรวมปี 2567 คดีอาญาเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.2 และการรับแจ้งอุบัติเหตุทางถนนเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 ทั้งนี้ ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ ได้แก่ 1) การพนันผ่านการถ่ายทอดสด (Live) บนแพลตฟอร์มออนไลน์ ข้อมูลจากศูนย์ศึกษาปัญหาการพนันระบุว่า กว่าร้อยละ 49.6 พบเห็นการเล่นพนันบน Facebook และอีกร้อยละ 29.7 พบเห็นบน TikTok ซึ่งสามารถติดต่อเล่นพนันผ่าน Live ได้ทันที

2) การตกเป็นเหยื่อลวงรักออนไลน์ (Romance Scam) ข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติปี 2565-2567 พบคดีหลอกให้รักแล้วโอนเงินจำนวน 4,781 คดี มูลค่าความเสียหายกว่า 1.6 พันล้านบาท โดยมิจฉาชีพมักใช้ช่องทางหลอกลวงผ่านแอปพลิเคชันหาคู่

และ 3) ความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุของคนเดินเท้า ข้อมูลจาก THAI RSC ปี 2567 พบคนเดินเท้าประสบอุบัติเหตุสะสมทั่วประเทศจำนวน 21,961 ราย (เฉลี่ยวันละ 60 ราย/วัน) เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 จากปี 2566 จึงต้องบังคับใช้กฎหมายต่อผู้ขับขี่ให้เข้มงวด และปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางเดินเท้าให้ปลอดภัยมากขึ้น

การรับเรื่องร้องเรียนผ่านสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพิ่มขึ้น ขณะที่การร้องเรียนผ่านสำนักงาน กสทช.ลดลง เช่นเดียวกับในปี 2567 ที่การร้องเรียนในภาพรวมของผู้บริโภคมีแนวโน้มลดลง ไตรมาสสี่ ปี 2567 การร้องเรียนด้านสินค้าและบริการผ่าน สคบ.เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 26.0 สินค้าออนไลน์มีการร้องเรียนสูงสุด ขณะที่การร้องเรียนในกิจการโทรคมนาคมผ่านสำนักงาน กสทช.ลดลงร้อยละ 12.4 สำหรับปี 2567 การร้องเรียนโดยรวมลดลงร้อยละ 20.4 ทั้งจาก สคบ.และสำนักงาน กสทช.

ทั้งนี้ มีประเด็นที่ต้องติดตามและให้ความสำคัญ คือ 1) ความเสี่ยงของการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลที่มาจากการใช้งานแอปพลิเคชันอันตราย โดยเฉพาะในรูปแบบที่ใช้ผลประโยชน์ล่อลวงผู้ใช้งาน เช่น แอปพลิเคชันล่าเหรียญแลกเงิน Jagat ได้รับความนิยมในกลุ่มเด็กและเยาวชน จากการให้เงินรางวัลจูงใจมูลค่าสูง แต่มีความเสี่ยงด้านข้อมูลส่วนบุคคล เช่น พิกัดตำแหน่ง
2) การติดตามผลการบังคับใช้ พ.ร.ก.ไซเบอร์ (ฉบับใหม่) ในประเด็นการร่วมรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภค การควบคุมแพลตฟอร์ม P2P โดยเฉพาะแพลตฟอร์มที่ไม่ได้จดทะเบียนในไทย และการติดตามตรวจสอบการใช้อำนาจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

และ 3) การแพร่ระบาดของโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายทางออนไลน์ โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พบการโฆษณาผิดกฎหมายถึงร้อยละ 97.0 ของโฆษณาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพทั้งหมด
กำลังโหลดความคิดเห็น