xs
xsm
sm
md
lg

เจาะลึกรายโครงการเจ้าปัญหา “งบประกันสังคม” ยังต้องชี้แจงอะไรบ้าง?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รายงานพิเศษ

ประกวดราคาติดตั้งระบบไอทีหลังบ้าน เว็บแอปพลิเคชัน (Web Application) ราคากลาง 850 ล้านบาท มีผู้เสนอราคา 2 ราย เสนอราคาต่างกัน 3 แสนบาท ต่ำกว่าราคากลาง 1.5 ล้านบาท?

จัดทำแอปพลิเคชันใหม่แทนของเดิมเพื่อบริการผู้ประกันตน ชื่อ เอสเอสโอ พลัส (SSO+) งบประมาณ 275 ล้านบาท แต่ผู้ใช้งานรีวิว (Review) ความพึงพอใจให้ 1.5 ดาว จากคะแนนเต็ม 5 ดาว พร้อมเผยว่า จ่ายเงินผ่านแอปฯ ไม่ได้ ต้องไปจ่ายที่หน้าเคาน์เตอร์เหมือนเดิม

จัดทำ “ปฏิทิน” แจกประชาชน โดยข้อมูลจาก “สำนักข่าวอิศรา” ระบุว่า เมื่อตรวจสอบย้อนหลังไปพบการตั้งงบประมาณจัดทำปฏิทิน ตลอด 10 ปี ที่ผ่านมา ใช้งบประมาณรวมเกือบ 580 ล้านบาท ซึ่งในบางปีจัดพิมพ์มากถึงกว่า 4.4 ล้านฉบับ ใช้งบมากกว่า 75 ล้านบาท แต่บางปีจัดทำ 1.3 ล้านฉบับ ส่วน 2 ปีล่าสุด คือ ปฏิทินปี 2567-2568 ยังไม่พบข้อมูลจำนวนปฏิทินที่จัดทำ แต่ใช้งบปีละประมาณ 55 ล้านบาท โดยมี “ชุมนุมเกษตรกรแห่งประเทศไทย เป็นผู้รับจ้างจัดทำปฏิทินเหล่านี้ถึง 6 ปี จากในช่วง 10 ปี ที่มีโครงการมา

เฉพาะ 3 โครงการนี้ ใช้งบประมาณรวมกันไปมากกว่า 1.5 พันล้านบาท แต่ล้วนเป็นโครงการที่ถูกตั้งคำถามถึงความคุ้มค่าและประสิทธิภาพของงาน เมื่อเทียบกับงบประมาณที่เสียไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อกลุ่มผู้ประกันตน ซึ่งเป็นคนที่ถูกหักรายได้ส่งไปให้กองทุนประกันสังคมในทุกๆ เดือน ยังสงสัยว่า ... งบประมาณเหล่านี้ สามารถนำมาเปลี่ยนเป็นสิทธิในการรักษาพยาบาลที่ดรีขึ้นของพวกเขาได้หรือไม่?

สุภอรรถ โบสุวรรณ ผู้ก่อตั้ง HANDse วิสาหกิจเพื่อสังคมที่ขับเคลื่อนให้เกิดกระบวนการ “รัฐบาลเปิด” หรือ Open Government เพื่อให้เป็นกลไกหลักในการป้องกันการคอร์รัปชัน มองลึกลงไปทีละโครงการ พร้อมชี้ให้เห็นที่มาของความไม่ไว้วางใจจากสังคม พร้อมให้ข้อเสนอที่จะเป็นโอกาสในการใช้งบประมาณให้คุ้มค่า

“แม้ว่าสำนักงานประกันสังคมจะสามารถชี้แจงได้ว่า ใช้เงินทั้งหมดไปตามระเบียบของสำนักงบประมาณที่อนุญาตให้ “กองทุน” สามารถใช้เงิน 10% ของงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรมาเป็นงบบริหารงานและทำโครงการต่างๆ ได้ ซึ่งในกรณีนี้สำนักงานประกันสังคมชี้แจงว่า ใช้ไปเพียง 3% เท่านั้น แต่ต้องไม่ลืมว่า สำหรับกองทุนขนาดใหญ่ที่มีงบประมาณถึง 2.7 แสนล้านบาท การใช้งบ 3% ดังกล่าว หมายถึงจำนวนเงินมากถึง 7.8 พันล้านบาท ... ดังนั้น เราอาจต้องดูด้วยว่า สำหรับกองทุนขนาดใหญ่เช่นนี้ การคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ อาจไม่ได้สะท้อนความจำเป็นในการใช้งบประมาณที่แท้จริง”

สุภอรรถ อธิบายหลักคิดในภาพรวมของเขา ก่อนจะเจาะลงไปใน 3 โครงการ

*************


โครงการที่ 1 ... 850 ล้านบาท จัดจ้างทำระบบไอทีหลังบ้าน เว็บแอปพลิเคชัน (Web Application)

“ถ้าดูจากข้อเท็จจริงที่ถูกเปิดเผยมาจากงาน HACK งบประกันสังคมนะครับ ... โครงการนี้ตั้งราคากลางไว้ที่ 850 ล้านบาท ประกาศเปิดรับผู้เสนอราคาล่วงหน้า 15 วัน มีเอกชนเสนอตัวเข้าประกวดราคา 2 ราย ... บริษัทที่ชนะการประกวดราคา เสนอราคา 848.5 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 1.5 ล้านบาท ส่วนบริษัทที่แพ้ เสนอราคาแพงกว่ากัน 3 แสนบาท คือ 848.8 ล้านบาท”

“จากข้อมูลนี้ สิ่งแรกที่ต้องการให้สำนักงานประกันสังคมชี้แจง คือ ได้ราคากลางมาจากไหนครับ ข้อนี้สำคัญมาก”

ผู้ก่อตั้ง HANDse ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในประเด็น Open data ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เรียกร้องให้สำนักงานประกันสังคมเริ่มต้นอธิบายตั้งแต่แนวทางการจัดทำทำข้อกำหนดและขอบเขตงาน (TOR) โดยเฉพาะขั้นตอนการสืบราคาของโครงการนี้เพื่อกำหนดราคากลางที่จะเป็นข้อมูลตั้งต้นในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง รวมไปถึงระยะเวลาในการเปิดรับข้อเสนอจากเอกชนว่ามีความเหมาะสมที่จะทำให้ผู้ประกอบการทั่วไปสามารถเข้าร่วมแข่งขันประกวดราคาได้เต็มที่หรือไม่ ก็จะช่วยทำให้คลายความสงสัยลงไปได้ เพราะข้อสังเกตใหญ่ที่เกิดจากโครงการนี้ คือ การที่ผู้ชนะการประกวดราคา เสนอราคาต่ำกว่าราคากลางเพียง 1.5 ล้านบาท จากโครงการที่มีราคากลางสูงถึง 850 ล้านบาท และบริษัทคู่เทียบก็เสนอราคาต่างกันเพียง 3 แสนบาทเท่านั้น

“โครงการขนาด 850 ล้านบาท ต้องใช้วิธีอี-บิดดิ้ง (e-bidding) ครับ ซึ่งวิธีนี้ ผู้เข้าร่วมประกวดราคาจะเสนอราคาได้เพียงครั้งเดียว โดยไม่รู้ว่าคู่แข่งเสนอราคาเท่าไหร่ แต่โครงการนี้ ทั้ง 2 บริษัทที่เข้าประกวดราคา เสนอราคาต่ำกว่าราคากลางแค่ล้านกว่าบาทจากโครงการ 850 ล้านบาท คิดเป็นเพียงประมาณ 0.2% ของมูลค่าโครงการ และทั้ง 2 บริษัทยังเสนอราคาในโครงการมูลค่าสูงเช่นนี้ต่างกันแค่ 3 แสนบาท ซึ่งการจะเกิดสถานการณ์เช่นนี้ได้ หมายความว่า จะต้องสามารถตั้งราคากลางได้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากเท่านั้น ดังนั้นจึงควรต้องเปิดเผยว่า สำนักงานประกันสังคมตั้งราคากลาง 850 ล้านบาท มาด้วยกระบวนการใด สอบถามไปกี่บริษัท มีบริษัทใดบ้าง เพราะการทำอี-บิดดิ้ง ในโครงการที่เป็นเทคโนโลยีต้องมีคณะกรรมการที่มีความเชี่ยวชาญอยู่ด้วย” ผู้ก่อตั้ง HANDse กล่าว

*****


โครงการที่ 2 ... 275 ล้านบาท จัดทำแอปพลิเคชัน SSO+ 275 ล้านบาท

“ประเด็นหลักที่ถูกตั้งคำถามจากโครงการนี้ คือ แอปฯ SSO+ มีความคุ้มค่าเหมาะสมกัยราคา 275 ล้านบาทหรือไม่ .... วิธีการตรวจสอบที่ดีที่สุดก็คือ ความพึงพอใจของผู้รับบริการครับ”

ในความเห็นของ สุภอรรถ การจะระบุว่างบประมาณ 275 ล้านบาทที่ใช้ไปกับการพัฒนาหรือสร้างแอปพลิเคชันขึ้นมาให้บริการประชาชนคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไปหรือไม่ เป็นเรื่องที่ไม่สามารถบอกได้ผ่านความเห็นของใครคนใดคนหนึ่ง เพราตัวชี้วัดที่ดีที่สุดคือความพึงพอใจของคนที่มีความจำเป็นต้องเข้ามาใช้บริการ ซึ่งในกรณี แอป SSO+ มีหลักฐานที่ชัดเจนว่า ประชาชนยังไม่พึงพอใจเท่าที่ควร เพราะได้คะแนนการรีวิวเพียง 1.5 ดาว จากคะแนนเต็ม 5 ดาว ทั้งที่เป็นแอปที่ใช้งบประมาณค่อนข้างมากในการจัดทำ

“ถ้าเราไปซื้อทีวีมาเครื่องหนึ่งในราคาเพียง 1 พันบาท เราอาจจะคิดว่า ได้ทีวีมาในราคาที่ถูกมาก แต่ปรากฎว่าทีวีเครื่องนี้เปิดไม่ได้ หรือเปิดแล้วภาพไม่ชัด ดูไม่รู้เรื่อง เสียงไม่ดี โดยสรุปคือ เราใช้ทีวีเครื่องนี้เพื่อสร้างความบันเทิงให้เราไม่ได้อย่างที่ควรจะเป็น ราคาเพียง 1 พันบาทที่เราจ่ายไป ก็จะถือว่า “แพงมาก” เพราะเราไม่ได้อะไรจากเงินที่จ่ายไปเลย”

“ในกรณีแอป SSO+ มีข้อมูลว่า ประชาชนยังต้องไปจ่ายเงินผ่านร้านสะดวกซื้อ ไม่สามารถจ่ายผ่านแอปได้ด้วยซ้ำ ก็ต้องกลับไปตรวจสอบดูว่า การจ่ายเงิน 275 ล้านบาทไป ได้ผลลัพธ์กลับมาตรงตามวัตถุประสงค์ของผู้รับบริการหรือไม่”

********


โครงการที่ 3 ... 55 ล้านบาท แจกปฏิทิน

คำชี้แจงของกระทรวงแรงงาน ระบุว่า ปฏิทินของสำนักงานประกันสังคมที่จัดทำขึ้นถือเป็นเครื่องมือสื่อสารเพื่อบอกถึงข้อมูลและรายละเอียดเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ประกันสังคม เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรู้จักประกันสังคม โดยเฉพาะในกลุ่มเกษตรกรซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับแจกปฏิทินเป็นหลัก เพื่อเป็นช่องทางให้เกษตรกรเข้ามาเป็นผู้ประกันตน ในฐานะกลุ่มอาชีพอิสระตามมาตรา 40 ซึ่งมีอีกกว่า 10 ล้านคนที่ยังไม่ได้เป็นผู้ประกันตน (มีชุมนุมเกษตรกรแห่งประเทศไทย เป็นผู้รับจ้างทำปฏิทินถึง 6 โครงการ จาก 10 โครงการล่าสุด)

“ถ้าเราจะพยายามมองอย่างเข้าใจ ผมเชื่อว่า ในยุคหนึ่ง หน่วยงานของรัฐจำนวนมากมีนโยบายทำปฏิทินแจกประชาชน ซึ่งเท่าที่รู้มาก็มีหลายหน่วยงานแจกปฏิทิน แม้แต่หน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบการคอร์รัปชันอย่าง ป.ป.ช. ก็เคยแจก แต่เราก็ต้องมาดูกันด้วยว่า เป้าหมายของการแจกปฏิทินคืออะไร”

ในฐานะผู้ก่อตั้งองค์กรวิสาหกิจเพื่อสังคมที่ขับเคลื่อนการตรวจสอบทุจริต สุภอรรถ ยอมรับว่า ปฏิทินของหน่วยงานรัฐหรือแม้แต่เอกชนก็ตาม สามารถใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารทางตรงกับประชาชนได้ดีในยุคสมัยหนึ่ง แต่ในอีกแง่หนึ่ง ก็ต้องมองเป้าหมายของการใช้ปฏิทินเป็นเครื่องมือสื่อสารให้ชัดเจนว่าเหมาะสมกับการใช้จ่ายงบประมาณในการจัดทำหรือไม่ เช่น บางองค์กรอาจจะใช้ไปเพื่อทำให้เกิดการจดจำทางการค้า บางองค์กรต้องการเผยแพร่ข้อมูลองค์ความรู้สำคัญไปในถึงประชาชนในระดับครัวเรือน และที่สำคัญมากๆ คือ ต้องตอบให้ได้ว่าการทำปฏิทินมีวัตถุประสงค์ที่แท้จริงอย่างไร เพื่อให้ตรวจสอบได้ว่า ผลผลิตที่ได้มา ตอบวัตถุประสงค์นั้นได้จริงหรือไม่

“ที่ผมเคยเห็น อย่างสำนักงาน ป.ป.ช. เขาแจกปฏิทินโดยใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารให้ความรู้เกี่ยวกับการร่วมตรวจสอบทุจริตจากภาคประชาชนในท้องถิ่นเป็นเนื้อหาหลักอยู่ในปฏิทิน หรือแม้แต่องค์กรที่ทำธุรกิจอย่างการบินไทย เขาก็จัดงบไปทำปฏิทินแจก เพื่อสร้างภาพจำ เป็นการโฆษณาให้คนไปเป็นลูกค้าของเขา ซึ่งมันมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนและตีความได้ว่าปฏิทินอาจจะเป็นเครื่องมือที่เหมาะสมกับความต้องการขององค์กร”

“แต่เมื่อเราไปดูปฏิทินของสำนักงานประกันสังคม ก็จะพบว่า มีเนื้อหาอยู่ไม่มากนัก และในส่วนของเนื้อหาก็ใช้ตัวหนังสือที่มีขนาดเล็กมาก ยังไม่นับว่านั่นเป็นเนื้อหาที่หวังผลในการเผยแพร่ผ่านรูปแบบการใช้ปฏิทินได้จริงหรือไม่”

“เราต้องไม่ลืมด้วยว่า แม้สำนักงานประกันสังคมจะมีงบประมาณค่อนข้างมาก แม้ว่าการใช้เงินจะเป็นไปตามระเบียบราชการที่อนุญาตให้ใช้ได้ แต่กองทุนประกันสังคม ไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ที่ประชาชนรับรู้ว่าเป็นกองทุนที่ร่ำรวย ในทางกลับกัน ยังมีข่าวลือมาตลอดว่า กองทุนนี้อาจจะมีปัญหาทางการเงินในระยะยาวจากการที่ประเทศไทยกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ ยิ่งเมื่อนำไปเชื่อมโยงกับการที่ผู้ประกันตนจำนวนมากตั้งคำถามถึงสิทธิการรักษาที่พวกเขารู้สึกว่ายังไม่ดีเท่ากับสิทธิอื่น การนำเงินปีละหลายสิบล้านมาใช้ทำปฏิทินซึ่งในปัจจุบันสามารถดูผ่าน smart phone ได้อย่างง่ายดายแล้ว จึงเป็นเรื่องที่สังคมจะสามารถตั้งคำถามได้ และเป็นอีกหนึ่งโครงการที่สำนักงานประกันสังคมน่าจะถือโอกาสนำไปทบทวนในการจัดทำงบประมาณครั้งต่อไปครับ”

ข้อสรูปจากการเจาะลงไปในรายละเอียดการใช้งบประมาณของสำนักงานประกันสังคมใน 3 โครงการที่ถูกตั้งคำถามหลังมีงาน HACK เปิดเผยการใช้งบดองทุนประกันสังคม ผู้ก่อตั้ง HANDse สรุปเป็นข้อสังเกตไว้ว่า การใช้จ่ายงบประมาณที่สำนักงานประกันสังคมพยายามชี้แจงว่า “ทำถูกต้องตามกฎระเบียบ” กำลังถูกตั้งคำถามว่า “เป็นความไม่มีประสิทธิภาพที่ถูกระเบียบ” ใช่หรือไม่ ... ซึ่งถือเป็นคำถามใหญ่ที่สำนักงานประกันสังคมและกระทรวงแรงงานควรจะนำไปทบทวน เพราะหากหน่วยงานใดถูกมองว่าใช้จ่ายเงินอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ก็จะยิ่งทำให้เกิดคำถามเรื่องความโปร่งใสตามมาได้ ดังนั้นจึงต้องถามต่อไปด้วยว่า การใช้เงินในแต่ละโครงการต้องผ่านความเห็นชอบจากใครบ้าง กลไกการอนุมัติให้ทำโครงการเหล่านี้เป็นอย่างไร รวมไปถึงมีกระบวนการวัดผลความสำเร็จจากการใช้จ่ายงบประมาณอย่างไร

ส่วนการใช้งบเพื่อดูงานและส่วนหนึ่งเป็นค่าตั๋วเครื่องบิน First Class ของผู้บริหารระดับสูง สุภอรรถ มองว่า เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับหน่วยราชการทุกแห่ง ไม่ใช่เฉพาะกับสำนักงานประกันสังคม จึงจะขอนำเสนอแนวทางแก้ไขในภาพรวมทั้งหมดต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น