นักเดินทางสะสมตราประทับสถานีรถไฟกำลังอินเทรนด์ มาดูความแตกต่างของหนังสือเดินทางรถไฟสองแบบ พร้อมคำแนะนำในการดูแลรักษา
กระแสความนิยมหนังสือเดินทางรถไฟเกิดขึ้นหลังจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้จัดทำตราประทับของแต่ละสถานี พร้อมข้อความ "ตรวจสอบความถูกต้อง" ประทับบนตั๋วโดยสาร เพื่อยืนยันว่าตั๋วโดยสารที่ซื้อจากสถานีรถไฟนั้นๆ ได้รับการตรวจสอบความถูกต้องเรียบร้อยแล้ว โดยพบว่าแต่ละสถานีออกแบบโดยนำเอกลักษณ์ ศิลปะ วัฒนธรรม และสถานที่สำคัญในพื้นที่ของแต่ละสถานีมาเป็นลวดลายบนตราประทับดังกล่าว ทำให้เริ่มมีผู้โดยสารนิยมสะสมตราประทับของแต่ละสถานี เพื่อบันทึกความทรงจำในการเดินทางด้วยรถไฟ
- หนังสือเดินทางรถไฟ ปัจจุบันมีอยู่ 2 รูปแบบ คือ
1. หนังสือเดินทางการรถไฟแห่งประเทศไทย (Thailand Railway Passport) ลวดลายธงชาติ ปกสีครีม จัดทำโดย บุรฉัตรมูลนิธิ และฝ่ายปฏิบัติการเดินรถ ร.ฟ.ท. จำหน่ายในราคาเล่มละ 100 บาท ซื้อได้ที่ฝ่ายปฏิบัติการเดินรถ หรือศูนย์ประชาสัมพันธ์ ตึกบัญชาการรถไฟ การรถไฟแห่งประเทศไทย ตรงข้ามโรงเรียนเทพศิรินทร์ หรือสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ บริเวณห้องจำหน่ายตั๋ว และต่างจังหวัดติดต่อได้ที่สถานีรถไฟต่างๆ ทั่วประเทศ
2. หนังสือเดินทางรถไฟไทย (Thailand Railway Passport) ปกสีน้ำตาล คล้ายหนังสือเดินทางประเทศไทย จัดทำโดย พิพิธภัณฑ์รถไฟไทย โดยมูลนิธิรถไฟไทย จำหน่ายในราคาเล่มละ 120 บาท ซื้อได้ที่พิพิธภัณฑ์รถไฟไทย ด้านหน้าสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) เปิดทำการ วันอังคาร-วันเสาร์ เวลา 10.00-18.00 น. ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์
นอกจากนี้ ผู้ที่สนใจยังสามารถนำสมุดของตนเองมาให้เจ้าหน้าที่ประทับตราที่สถานีได้อีกด้วย โดยไม่จำกัดรูปแบบและขนาด ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการจัดทำตราประทับของแต่ละสถานียังจัดทำไม่ครบทุกสถานีทั่วประเทศ บางสถานีอยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำ โปรดสอบถามเจ้าหน้าที่ประจำสถานีอีกครั้ง
- การดูแลรักษาหนังสือเดินทางรถไฟ
เนื่องจากหนังสือเดินทางรถไฟเป็นเพียงสมุดสำหรับสะสมตราประทับเท่านั้น ไม่ใช่หลักฐานที่ทางราชการออกให้ และไม่มีกลไกอิเล็กทรอนิกส์ใดๆ จึงสามารถแสตมป์รูปการ์ตูน วาดภาพเล่น หรือขีดเขียนใดๆ ได้ การดูแลรักษาหนังสือเดินทางรถไฟให้เก็บไว้ได้นาน เพียงแค่เก็บไว้ในที่แห้งและเย็น ไม่อับชื้น อย่าวางใกล้วัตถุที่มีความร้อน หลีกเลี่ยงการวางบริเวณที่โดนแสงแดดนาน บริเวณที่มีน้ำ สารเคมี ฝุ่นละออง ห้ามงอ บิด หรือทำให้ยับย่นจากเดิม และหลีกเลี่ยงการวางวัตถุสิ่งที่มีน้ำหนักมากบนหนังสือเดินทางรถไฟ นอกจากนี้ สามารถซื้อปกพลาสติกหุ้มหนังสือเดินทางเพื่อถนอมปกหนังสือเดินทางได้
- ข้อควรระวัง
สำหรับผู้ที่ซื้อหนังสือเดินทางรถไฟไทย ปกสีน้ำตาล คล้ายหนังสือเดินทางประเทศไทย (Thailand Passport) ที่ออกโดยกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ โปรดระมัดระวังสับสนกับหนังสือเดินทางฉบับจริง เนื่องจากหนังสือเดินทางฉบับจริง เป็นเอกสารที่ทางราชการออกให้ ต้องมีเพียงตราประทับของทางราชการ เช่น ตรวจคนเข้าเมืองแต่ละประเทศหรือดินแดนเท่านั้น
หากเผลอนำตราประทับของสถานีรถไฟ ประทับลงในหนังสือเดินทางฉบับจริงที่ยังไม่หมดอายุหรือยังไม่ได้ยกเลิกใช้งาน ถือว่า "หนังสือเดินทางชำรุด" ต้องทำหนังสือเดินทางใหม่ตามที่กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศกำหนด หากยังคงนำไปใช้ออกนอกประเทศ อาจถูกปฏิเสธการเข้าประเทศต่างๆ หรือถูกขึ้นบัญชีดำ (Blacklist) ห้ามเข้าประเทศนั้นอีก