xs
xsm
sm
md
lg

แก้ให้แล้วนะ ป้ายรถเมล์ใหม่ กทม.ทับกระเบื้องทางเดินคนตาบอด 5 จุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำนักการจราจรและขนส่ง กทม.ชี้แจงป้ายรถเมล์แบบใหม่ทับแนวกระเบื้องทางเดินคนตาบอด ตรวจสอบแล้วพบ 5 จุด ปรับย้ายแนวกระเบื้องให้แล้ว และมีแผนตรวจสอบดูแลและซ่อมบำรุงประจำเดือนตามรอบเพื่อให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน

วันนี้ (13 ก.พ.) จากกรณีที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทางโฉมใหม่ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) แบ่งเป็น Type M มี 3 ที่นั่ง ค่าก่อสร้างประมาณ 230,000 บาท และ Type L มี 6 ที่นั่ง ค่าก่อสร้างประมาณ 320,000 บาท ล่าสุดมีประเด็นที่ตำแหน่งที่อยู่กลางทางเท้าจนเกินไป และเสาของป้ายปักยาวไปตามแนวกระเบื้องทางเดินของผู้พิการทางสายตา

อ่านประกอบ : เหมาะสมไหม? ป้ายรถเมล์รูปแบบใหม่ สร้างบนแนวกระเบื้องทางเดินคนตาบอด

ล่าสุด สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร (สจล.กทม.) ชี้แจงว่า กรณีข้อวิจารณ์ป้ายรถเมล์รูปแบบใหม่ติดตั้งกลางทางเท้า-เสาป้ายทับแนวกระเบื้องทางเดินคนตาบอด สำนักการจราจรและขนส่งขอเรียนว่า 1. การกำหนดจุดก่อสร้างศาลารอรถเมล์จะอยู่บริเวณตำแหน่งป้ายหยุดรถโดยสารประจำทาง (Bus Stop) ด้วยข้อจำกัดความกว้างของทางเท้าและสาธารณูปโภคใต้ดินทำให้บางจุดที่สำนักการจราจรและขนส่งเข้าไปดำเนินการก่อสร้างศาลารอรถเมล์ใหม่ ต้องมีการติดตั้งฐานเสา บางตำแหน่งจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องอยู่บริเวณแนวกลางทางเท้า และอาจทับซ้อนกับแนวทางเดินคนตาบอด (Braille Block) ที่มีอยู่เดิม สำนักการจราจรและขนส่งได้ตรวจสอบแล้ว ปัจจุบันพบจุดที่ทับซ้อนจำนวน 5 จุด และได้ดำเนินการปรับย้ายแนวกระเบื้องทางเดินคนตาบอดให้สามารถใช้งานได้ตามปกติทุกจุดแล้ว

2. ศาลาป้ายรถเมล์ที่สำนักการจราจรและขนส่งดูแลรับผิดชอบ ทั้งรูปแบบใหม่ที่เพิ่งดำเนินการก่อสร้างเสร็จและศาลาป้ายรถเมล์เดิมที่ใช้งานอยู่ รวมถึงที่ให้สิทธิเอกชนดูแล ทางสำนักการจราจรและขนส่งมีแผนในการตรวจสอบดูแลและซ่อมบำรุงประจำเดือน ทั้งการทำความสะอาด การทาสี การซ่อมแซมส่วนที่ชำรุด เช่น ม้านั่ง หลังคา กรอบป้ายบอกสายรถเมล์ ระบบไฟฟ้าส่องสว่าง รวมถึงความมั่นคงแข็งแรงของโครงสร้าง โดยมีรอบในการตรวจสอบและรายงานผลให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน




กำลังโหลดความคิดเห็น