xs
xsm
sm
md
lg

‘พัชราภรณ์ ควรสงวน’ กับงานศิลปะที่ถ่ายทอดผ่านแสงแห่งความหวังและปลอบประโลม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


‘เพลง-พัชราภรณ์ ควรสงวน’ หรือชื่อที่ใช้ในการทำงานศิลปะว่า her.



หมีกริซลีที่โอบกอดปกป้องดอกไม้ในขวดแก้วไว้ด้วยความรัก



แสงไฟสีละมุนชวนให้รู้สึกอบอุ่น ส่องผ่านมาจาก ‘บ้าน’ ที่สร้างสรรค์ขึ้นอย่างสวยงาม



แสงรำไรที่ลอดผ่านเงาใบไม้ ให้สัมผัสได้ถึงห้วงขณะแห่งความหวัง


แสงอาทิตย์ยามเย็นทอดผ่านตัวละครเด็กหญิง (ซึ่งหมายถึงตัวศิลปินเอง) และสุนัขขณะเดินชมสวนดอกไม้ ราวกับบันทึกห้วงขณะที่สวยงาม

'แสง' ที่ปรากฏในงานนิทรรศการผ่านผลงานศิลปะแหล่านี้
ล้วนเป็นแสงที่ชวนให้เกิดความรู้สึกอบอุ่น และมีนัยยะดังที่ศิลปินต้องการสื่อถึง คือ ความหวังและการปลอบประโลม

‘เพลง-พัชราภรณ์ ควรสงวน’ หรือชื่อที่ใช้ในการทำงานศิลปะว่า her.
“งานของเพลงทุกๆ ชิ้น ทั้งหมด แสงจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญ”

“…มันมีจุดพลิกผันอะไรบางอย่าง…ที่ทำให้เรารู้สึกว่า เรา lost เป็นครั้งแรก เราหลงทาง อยู่ตัวคนเดียว ช่วงนั้นเอง เป็นครั้งแรกที่อยากสร้างโลกของตัวเองขึ้นมาใหม่ ด้วยมือของตัวเองอีกครั้ง มันเหมือนมีบางอย่างที่แตกร้าวลงไป”

“Solo Exhibition ครั้งแรกของเพลง…เพลงอยากพูดเรื่อง ‘แสง’…โดยความหมายก็คือ การเล่นกับแสง แสงที่ส่องผ่านภาพด้วยส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งก็เชื่อมโยงกับ Theme Concept ที่เหมือนกับเป็นแสงสว่างรำไรที่ปลายอุโมงค์”


“…ไม่ว่าเราจะเจออะไร เราอยากให้ตัวเองมองเห็นสิ่งนั้น งานทุกๆ งานแม้จะเริ่มจากธีมที่เศร้า แต่สุดท้ายแล้ว เหมือนที่เพลงสร้างไว้ อยากให้ตัวเองเห็นด้านที่งดงามของมัน”

‘เพลง-พัชราภรณ์ ควรสงวน’ หรือชื่อที่ใช้ในการทำงานศิลปะว่า her.
ผู้จัดการออนไลน์ สัมภาษณ์พิเศษ ‘เพลง-พัชราภรณ์ ควรสงวน’ หรือชื่อที่ใช้ในการทำงานศิลปะว่า her. ที่กำลังมีผลงาน Solo Exhibition จัดแสดงในชื่อ ‘Through the eyes of shine.’‘..ด้วยดวงตาแห่งแสง.’ ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC)

ด้วยเนื้องานที่จัดแสดง รวมทั้งผลงานที่ผ่านๆ มานับว่ามีเอกลักษณ์เฉพาะตัว การพูดถึงประเด็นความแตกร้าว โดดเดี่ยว หลงทาง ด้วยความหมายและนัยยะแห่งความหวัง ความอบอุ่น การปกป้อง โอบประคอง ก้าวผ่านความเศร้าความสิ้นหวังสู่ความเข้มแข็งและกำลังใจที่มีให้กับตัวเอง ด้วยแสงที่ส่องผ่านในหลากหลาย Story ที่เธอสร้างขึ้นเป็นงานศิลปะแต่ละชิ้น ล้วนน่าสนใจและชวนให้พูดคุยถึง ‘แสง’ อันเป็นองค์ประกอบสำคัญในผลงานของเธอ 
รวมทั้งกระบวนการสร้างงาน, ความมุ่งหวังตั้งใจที่จะสร้าง Picture Book ที่ผู้อ่านสามารถมีประสบการณ์ร่วมกับเรื่องราวในเล่มได้อย่างเต็มที่ ทั้งหมดทั้งมวล บอกเล่าผ่านถ้อยความเหล่านี้



‘เพลง-พัชราภรณ์ ควรสงวน’ หรือชื่อที่ใช้ในการทำงานศิลปะว่า her.
นิยามอันกว้างและไกล มากมายกว่า ‘Collage’

ขอให้ช่วยเล่าถึงจุดเริ่มต้นในการทำงานศิลปะที่ดูเป็นงาน Collage ( หมายเหตุ : คอลลาจ กล่าวอย่างง่ายคือเป็นศิลปะโดยใช้เทคนิคตัดแปะ อาจใช้ส่วนของกระดาษหนังสือ นิตยสาร เศษผ้า กระดุม รูปภาพ และสิ่งต่างๆ ที่หาได้ ติดลงไปบนวัสดุต่างๆ อาทิ กระดาษ หรือขึ้นอยู่กับศิลปินว่าจะใช้อะไร )

เพลงตอบว่า จุดเริ่มต้นน่าจะมาจากช่วงอายุ 18 คือเริ่มเข้ามหาวิทยาลัย เล่มไดอารี่สีน้ำตาลที่เพลงหยิบให้ดูคือเล่มแรก
“มันมี จุดพลิกผันอะไรบางอย่างในเรื่องครอบครัว ที่ทำให้เรารู้สึกว่า เรา lost เป็นครั้งแรก เราหลงทาง อยู่ตัวคนเดียว ช่วงนั้นเอง เป็นครั้งแรกที่อยากสร้างโลกของตัวเองขึ้นมาใหม่ ด้วยมือของตัวเองอีกครั้ง มันเหมือนมีบางอย่างที่แตกร้าวลงไป”

“สำหรับไดอารี่ เพลงเองเป็นคนที่ชอบเขียนไดอารี่อยู่แล้ว สิ่งแรกที่เราทำ คือทำสมุดทำมือของตัวเอง จำไม่ได้แล้วว่าความชอบนี้เริ่มขึ้นมาจากตรงไหน แต่ว่า เราหยิบเอาดอกไม้ทับแห้ง มาทับ เย็บติดในกระดาษ ไม่ได้มีความรู้อะไรด้านนี้เลย แต่เราต้องการทับสิ่งนั้น เก็บสะสมไปพร้อมกับ memory ของเรา”

“ถ้าถามว่า มันคือการคอลลาจไหม สำหรับเพลง รู้สึกว่าเราไม่ได้มีความรู้ด้านศิลปะด้านนั้นโดยตรง ก็เลยเริ่มมาจากความชอบเล็กๆ น้อยๆ แบบนั้น”








ถ้าไปไกลและกว้างเกินคอลลาจ ถามว่าแล้วนิยามความหมายของงานศิลปะในแบบที่คุณทำเรียกว่าอะไร
เพลงตอบว่า “ทุกอย่างเลยค่ะ วัสดุทุกอย่างที่เพลงหยิบมาใช้ มันมี Texture บางอย่างที่เพลงชอบ อันดับหนึ่งเลยคือกระดาษ การเย็บ การใช้ดอกไม้ทับแห้งหรืออะไรก็แล้วแต่ คือเพลงหยิบ Material ที่เพลงชอบทั้งหมดมาใช้ หรือแม้แต่กับแสง”




“ณ ตอนนี้ พูดในฐานะที่ทำงานนี้มา 3 ปี แล้ว เพลงก็สับสนในตัวเองเหมือนกัน อย่างดอกไม้ทับแห้ง มันก็เหมือนจะดูโดดไปไหมเมื่อเข้ามาอยู่ในงาน กระทั่งวันนี้เพลงแค่รู้สึกว่า จุดมุ่งหมายในการทำงานของเพลง มันแค่เริ่มขึ้นจากสิ่งที่เราสนใจ เพลงก็เลยมองว่า ไม่ว่าจะเป็น Material ของดอกไม้ทับแห้ง หรือว่าแสงไฟ เพลงมองว่าเป็น Material นึงที่เป็นองค์ประกอบของงาน ซึ่งทั้งหมดนี้ สำหรับเพลง มันก็คือการคอลลาจ หยิบทุกอย่างมาปัก-ปะ-ตัด-แปะ หยิบทุกอย่างมาใช้”

“เพลงไม่รู้เหมือนกันว่านิยามการคอลลาจของคนอื่นเป็นยังไง แต่ของเพลง จากที่เพลงเห็นงานคนอื่นมาเยอะ ศึกษามาเยอะ แต่งานของเพลงเองก็จะมี Texture ของกระดาษ การฉีกกระดาษ ที่เพลงค่อนข้างชอบ เราถนัดในการฉีกเป็นหลัก ไม่ต้องเนี้ยบ ไม่ต้องใช้กรรไกร หรือคัตเตอร์ให้ตรง มันก็เลย Free มากๆ ในการทำงานค่ะ”

Theme, Concept, Story


องค์ประกอบสำคัญในงานของคุณมีอะไรบ้าง
ศิลปินสาวตอบว่า ไม่ค่อย Fix ตัวเอง ค่อนข้างปล่อยให้ตัวเองมีอิสระ

“แต่ว่าจุดเด่นหลักๆ เพลงคิดว่า เพลงเริ่มต้นจาก Concept อะไรบางอย่างก่อน เพลงเรียนละครเวทีมาก่อน เพลงไม่ได้เรียนด้านอาร์ต ด้านการเพนท์ ดังนั้น เพลงจึงชอบการเล่าเรื่อง ซึ่งจุดเริ่มต้นในการทำงานของเพลง คือ ‘Picture book’ คือการเล่าเรื่องผ่านการทำภาพ กลับไปสู่จุดแรกค่ะ เพลงแค่รู้สึกอยากสร้างงานขึ้นมาโดยการใช้มือทำงาน ถ้าเพลงทำหนังสือภาพของเพลง เพลงอยากสร้าง อยากทำภาพประกอบ ทำทุกอย่างด้วยมือของเพลงเอง”

“ดังนั้น ในการสร้างงานก็มี Theme Concept เช่น งานนี้ ก็มี Story หรือการเรียบเรียงคำ หรือแม้แต่ชื่องานแต่ละชิ้น เพลงก็คิดมาแล้ว แม้แต่การเขียนตัวอักษรเหล่านั้น สำหรับเพลงคืองานศิลปะอย่างหนึ่ง ที่อยากเชื้อเชิญให้ทุกคนลองทำความเข้าใจกับมัน ควบคู่ไปกับงานภาพด้วย เพลงมองว่า จุดเด่นของเพลง อยู่ที่ Theme Concept ที่เพลงอยากจะเล่า”




‘Through the eyes of shine.’

เพลงกล่าวว่า “ตัวอย่างเช่นงานนี้ ‘Through the eyes of shine.’
‘..ด้วยดวงตาแห่งแสง.’
เป็น Solo Exhibition ครั้งแรกของเพลง เพลงก็เลยรู้สึกว่า จะทำอย่างไร ให้ทุกคนได้เห็น Theme งาน Concept ที่เพลงอยากจะตีแผ่ เพลงก็เลยรู้สึกว่า เพลงอยากพูดเรื่องแสง
โดยความหมายก็คือ การเล่นกับแสง แสงที่ส่องผ่านภาพด้วยส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่ง ก็เชื่อมโยงกับ Theme Concept ที่เหมือนกับเป็นแสงสว่างรำไรที่ปลายอุโมงค์”

“เหล่านี้ คือจุดเริ่มต้น โดยที่เพลงไม่ได้ Fix เลยว่าทุกเรื่องราว ทุกภาพ ทุกจุดเริ่มต้น แต่เพลงปล่อยให้ตัวเราดำเนินไปก่อน ทำไปก่อน แล้วเราค่อย Flashback กลับไปมอง แล้วเราได้เห็นว่า ‘เอ๊ะ! นี่เป็น Pattern ซ้ำๆ ที่เราหยิบมาใช้ในชีวิต เราคงอยากบอกตัวเองมั้ง ว่าเราอยากก้าวผ่านสิ่งต่างๆ ไปได้’ ค่ะ”

เพลงเล่าว่าตอนนี้เพลงก็ยังพูดถึงประเด็นของความหวังและการก้าวผ่านสิ่งต่างๆ นี้ เพลงพูดเรื่องนี้มา 5-6 ปีแล้ว ย้อนไปถึงช่วงการทำละครของเพลง เมื่อครั้งทำธีสิส เพลงบอกว่า เป็นบทละครที่ดัดแปลงมาจากผลงานเขียนของ
มูราคามิ ชื่อเรื่อง ‘เส้นแสงที่สูญหาย เราร้องไห้เงียบงัน’

“ณ ตอนนั้น อาจเป็นจุดประกายเล็กๆ ที่เพลงพูดเรื่องความหวัง ซึ่งจากตอนนั้น มาถึงตอนนี้ เพลงไม่เคยคาดหวังเลยว่าเพลงจะยังคงพูดเรื่องนี้ต่อมาอีกถึงวันนี้
มันอาจจะเป็นจุดบางจุด หรือเราเจอการแตกร้าวของอะไรบางอย่าง แล้ว Way นี้ Heal ใจเพลง ทำให้เพลงก้าวต่อไปได้ เพลงก็เลยรู้สึก ไม่ว่าเราจะเจออะไร เราอยากให้ตัวเองมองเห็นสิ่งนั้น งานทุกๆ งานแม้จะเริ่มจากธีมที่เศร้า แต่สุดท้ายแล้ว เหมือนที่เพลงสร้างไว้ อยากให้ตัวเองเห็นด้านที่งดงามของมัน”






ด้วยแสงแห่งความหวัง

ถามว่า ‘แสง’ ของคุณเป็นแสงแบบไหน จึงสะท้อนนัยยะของความหวังความอบอุ่น การเยียวยา
เพลงตอบว่า “หลักๆ แล้วเพลงก็ไม่คิด แต่ที่บ้านเพลง ไม่ว่าห้องทั้งห้องของเพลง ในพื้นที่ของเพลงจะไม่มีแสงสีขาวเลย มีแต่แสงสีเหลือง เรารู้สึกว่ามันอบอุ่นและปลอบประโลมเรามาก บางทีถ้าไปนอนไปพักที่อื่นแล้วในห้องเป็นแสงสีขาว คือ นอนไม่ค่อยหลับเลย มันอาจเริ่มต้นมาจากอะไรบางอย่างเหล่านั้น แล้วมัน Heal ใจ"

"เคยมีคนมาเจองานเพลง ล่าสุดเลย แล้วเค้าบอกว่า ภาพของเพลง บางภาพ ลองย้อมแสงสีฟ้า สีม่วง มันก็อาจให้ความรู้สึกที่เหงาหรือเจ็บปวดกว่าเดิม
เพลงก็ว่าเป็นความคิดที่ดี แต่พอเพลงถามตัวเอง ณ ตอนนี้ เพลงยังรู้สึกว่า แสงสีเหลืองยังสื่อความหมายได้ดีสำหรับเพลง เป็นความหวังรำไรที่ปลายอุโมงค์ เป็นพระอาทิตย์ที่ใกล้จะตกดิน หมายถึงการกลับมาปรากฏขึ้นใหม่อีกครั้ง งานของเพลงทุกๆ ชิ้น ทั้งหมด แสงจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญ"


‘Aquarium of Hope’

ถามว่า ‘แสงแรก’ ของงาน ‘Through the eyes of shine.’ ที่คุณทำ เป็นแบบไหน

เพลงเล่าว่า มีอยู่ชิ้นนึง ชื่องาน ‘Aquarium of Hope’
ซึ่งเมื่อราวสองปีที่แล้ว จากจุดเริ่มต้นที่เพลงเริ่มทำภาพออกมาทีละชิ้นๆ เพราะรู้สึกว่า ถ้าจะทำให้เป็นเล่ม Picture Book เลยในคราวเดียวก็จะเป็นงานชิ้นใหญ่มาก

“เพลงรู้สึกว่าเพลงยังหาทางไม่เจอ ก็เลยทำเป็น Atrwork ที่มีความหมาย มี Story จบในอันเดียว แล้วเมื่อสองปีที่แล้ว เพลงก็พบจุดอะไรบางอย่าง ที่ทำให้เพลงกลับมา Lost ใน way ของตัวเองอีกครั้ง รู้สึกว่าโลกใบนี้มันว่างเปล่า คือในช่วงเวลายามเย็น เพลงชอบขึ้นไปนั่งที่ระเบียงหน้าบ้าน แล้วเวลานั้นมีแสงยามเย็น ซึ่งวันนั้นเพลงอยู่ในภาวะที่แย่มากๆ แล้วพอมองไปเห็นท้องฟ้าสีฟ้า แล้วเรานึกถึง Aquarium มันเหมือนแสงสีฟ้า หรือความเศร้ามันโอบทับตัวเรา จุดเริ่มต้นเป็นแบบนั้นเลย”

เพลงพาย้อนกลับไปในห้วงเวลานั้น ที่เธอคิดถ้อยคำขึ้นมาด้วย
ในวรรคนึง ระบุว่า “..แล้วก็ได้แต่หวังว่าแสงจะรอดผ่านมาถึง” (ซึ่งเพลงตั้งใจใช้ ‘ร’ ในคำว่า รอด)

“ภาพนี้ Aquarium of Hope คือภาพแรกสุดที่เพลงทำ คือเพลงต้องการให้เห็นว่า สุดท้ายแล้ว ถ้ามองมัน มันจะเป็นแสงสีฟ้าของ Aquarium แล้วค่อยๆ ไล่ไปจะเห็นเป็นท้องฟ้า มีดวงดาว แล้วเพลงก็เปลี่ยนแสงสีฟ้าของ Aquarium ให้เป็นแสงสีเหลืองที่มีความหวัง สำหรับเพลงนี่เป็นชิ้นแรกที่เพลงทำในธีม คอนเซ็ปต์นี้”




ในส่วน Picture Book แม้เป็นความตั้งใจ แต่ก็ยังอยู่ขั้นตอนการทำ กระบวนการยังอีกยาวนาน ซึ่งระหว่างทางนั้น เพลงก็จะยังทำ Art Book และ Zine เล่มเล็กๆ ออกมา

ในรายละเอียดของงาน เพลงเล่าเชื่อมโยงให้เห็นว่า ตัวอย่างเช่น เพลงชอบออกแบบงาน Merchandise ให้ทุกคนที่ซื้องานไปได้มีส่วนร่วม งานบางชิ้นที่ขาย ผู้ที่ซื้อไปแล้วก็สามารถฉีกเล่นได้


“งานของเพลงดึงให้คนดูได้มีประสบการณ์ร่วมกับงานนั้นด้วยตัวเอง ส่วน Picture Book ที่เพลงฝันเอาไว้ เราคงต้องใช้ระยะเวลาที่เยอะพอสมควร เพราะในเล่มอาจมีป๊อบอัพ ที่ต้องรอให้แสงส่องผ่านก่อน จึงจะเปิดหน้าต่อไปได้ นั่นเป็นเป้าหมายของเพลง ที่อยากให้ Picture Book เล่มนึง เมื่อคนซื้อไปแล้ว เค้าเล่นมันได้และได้เป็นเจ้าของประสบการณ์นั้นด้วยตัวเค้าเองค่ะ”
สำหรับผู้ที่ชื่นชอบผลงานของศิลปินสาวคนนี้ เชื่อว่าพร้อมรอคอยและสัมผัส ‘แสง’ ที่เธอสร้างสรรค์ขึ้นอย่างตั้งใจเป็นแน่

……….
Text and Photo : รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
ภาพผลงาน : พัชราภรณ์ ควรสงวน
ผู้สนใจ ติดตามงานศิลปะของเพลงได้ทาง
IG _her____________
FB : throughtheeyesofshine