เกษตรกรคนเลี้ยงหมูของไทยบอบช้ำอย่างหนักกับปัญหาโรคระบาด ASF ในช่วงปี 2564-2565 จำนวนหมูพ่อแม่พันธุ์ในระบบทั่วประเทศลดลงจาก 1,200,000 ตัว เหลือเพียงครึ่งเดียว เป็นหายนะครั้งรุนแรงที่ส่งผลต่อเนื่องให้ซัพพลายเนื้อหมูมีน้อยกว่าความต้องการบริโภค ราคาหมูขยับสูงขึ้นถึง กก.ละ 200 บาท และเป็นช่องว่างให้ขบวนการมิจฉาชีพลักลอบนำหมูเถื่อนเข้าประเทศ สร้างความเสียหายต่อเนื่องเป็นระยะยาว ดังนั้น จำเป็นต้องมีมาตรการป้องกันโรคระบาดสัตว์ ซึ่งเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม และงานนี้ต้องชื่นชม “กรมปศุสัตว์” ที่เข้มงวดกับระบบป้องกันโรคจนเห็นผล สามารถกำกับดูแลและควบคุมสถานการณ์ ASF ได้ในที่สุด
มาตรการเหล่านี้ผ่านการกลั่นกรองจากผู้รู้ จากนักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์ สัตวแพทย์ และจากผู้เชี่ยวชาญในแวดวงการเลี้ยงสุกร ไม่ใช่มโนขึ้นมาเฉยๆ อาทิ คู่มือปฏิบัติมาตรฐาน (SOP) สำหรับการเฝ้าระวัง, ป้องกัน, และควบคุมโรค ASF มีคำเตือนการเฝ้าระวังทางอาการของสุกร เช่นต้องเก็บตัวอย่างเลือดสุกรป่วย 15 ตัวอย่าง และมีขั้นตอนการทำลายสุกรและการประเมินราคาสุกรที่สั่งทำลาย รวมถึงการเบิกเงินค่าชดใช้ในการทำลายสัตว์หรือซากสัตว์ ตลอดจนการนำสุกรเข้าเลี้ยงใหม่หลังจากโดนทำลาย ต้องทำลายสุกรมาแล้วอย่างน้อย 3 เดือน และล้างทำความสะอาดและทำลายเชื้อโรคครั้งใหญ่ (Big Cleaning) รวมถึงสุ่มเก็บ surface swab ในโรงเรือนที่จะนำสุกรเข้าเลี้ยง เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยของทั้งระบบ
ที่ภาครัฐต้องลงรายละเอียดของการป้องกันโรค ASF ในแทบจะทุกขั้นตอนของการผลิตสุกร เป็นเพราะโรคนี้มีความรุนแรงสูง หากเกิดแม้แต่ตัวเดียว ต้องใช้วิธีทำลายหมูทั้งหมดในรัศมี 3 กม.ทั้งยังต้องควบคุมการเคลื่อนย้ายในรัศมี 10 กม. ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกัน หรือยารักษา และหากระบาดขึ้นแล้ว โอกาสกำจัดเชื้อให้หมดไปนั้น ทำได้ค่อนข้างยาก และมักพบการระบาดซ้ำ ดังนั้น การเข้มงวดกับการป้องกันอย่างจริงจังจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะมันเป็นสาเหตุที่ทำร้ายคนไทยและเศรษฐกิจไทยอย่างหนักดังที่ทราบกัน
อีกนัยหนึ่งการมีมาตรฐานการเลี้ยงหมูเป็นเรื่องที่ดี จะช่วยดูแลความปลอดภัยให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูทั้งรายย่อย รายกลางและรายใหญ่ ที่มีอยู่ในระบบราว 2 แสนราย รวมถึงตลอดห่วงโซ่การผลิตอาหารทั้งหมด ทุกคนจะสามารถประกอบอาชีพได้อย่างมั่นคงและเลี้ยงครอบครัวต่อไปได้ ไม่ถูกทำลายด้วย ASF หรือโรคระบาดสัตว์อื่นๆ ทั้งยังเป็นการยกระดับภาคเกษตรของไทย เพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการผลิตอาหารของชาติ
วานนี้ กรมปศุสัตว์แจ้งข่าวว่าจะทบทวนประกาศกรมปศุสัตว์ เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์การนำสุกร หรือหมูป่า เข้ามาเลี้ยงใหม่ พ.ศ. 2567 ฟังแล้วน่าตกใจ เพราะหากผ่อนปรนมาตรการที่วางไว้ลง ย่อมเป็นอันตรายต่อห่วงโซ่การผลิตหมูของทั้งประเทศ ยังดีที่ท่านรองอธิบดียังย้ำถึงอันตรายของโรค ASF ที่จำเป็นต้องป้องกันอย่างเข้มแข็ง
การทบทวนประกาศนี้ระบุว่าจะพิจารณาร่วมกับผู้แทนเกษตรกรรายย่อย รวมถึงคณะทำงานด้านวิชาการในการป้องกัน ควบคุมและกำจัดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรแห่งชาติ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ตลอดจนภาคเกษตรกร ภาคเอกชน และภาคการศึกษา เพื่อกำหนดมาตรการในการเลี้ยงสุกรให้มีประสิทธิภาพและสามารถป้องกันโรคได้ ตลอดจนสอดคล้องกับการประกอบอาชีพของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรทุกระดับ ซึ่งต้องขอให้ยืนยันเข้มแข็ง ในการห้ามนำเข้าหมูป่าเข้าเลี้ยงโดยเด็ดขาด เนื่องจากหมูป่าเป็นพาหะนำโรค ASF ดังที่ทราบกัน
ขอชื่นชม “กรมปศุสัตว์” อีกครั้งที่เข้มงวดกับมาตรการป้องกันโรคมาตลอด และขอสนับสนุนให้ดำเนินการอย่างเข้มแข็งต่อไป เพื่อปกป้องความมั่นคงทางอาหารของชาติให้มั่นคงยั่งยืน เรื่องแบบนี้จะยอมอ่อนข้อ ผ่อนปรน หรือมองข้ามไม่ได้เลยแม้แต่นิดเดียว./
โดย สมคิด เรืองณรงค์