คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกแถลงการณ์สนับสนุนการทำหน้าที่ของศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต ในฐานะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยเจตนาสุจริตเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคโดยคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ
จากกรณี ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษาให้จำคุก ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ เป็นเวลา 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา ฐานกระทำการโดยมีเจตนากลั่นแกล้งบริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ส่งผลให้ทรู ดิจิทัล ไอดี ได้รับความเสียหาย อย่างไรก็ตาม ภายหลังศาลพิพากษาจำคุก 2 ปี ดร.พิรงรองได้ยื่นหลักทรัพย์ เพื่อขอประกันตัว ต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์ต่อไป
ล่าสุด วันนี้ (7 ก.พ.) เพจ "JC Thammasat" ของคณะ วารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกแถลงการณ์ กรณี กสทช .’พิรงรอง‘ สนับสนุนการทำหน้าที่ โดยได้ระบุข้อความว่า
"คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ขอแสดงจุดยืนสนับสนุนการทำหน้าที่ของศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต ในฐานะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยเจตนาสุจริตเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคโดยคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ
คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน เล็งเห็นว่าการพิทักษ์ผลประโยชน์ของสาธารณะคือสิ่งสำคัญ และ กสทช. ในฐานะองค์กรอิสระคือผู้ที่สังคมหวังให้เป็นที่พึ่ง กสทช.พึงกำกับดูแลสื่อให้เป็นไปตามหลักจริยธรรม รับผิดชอบต่อสังคม และคุ้มครองผู้บริโภค โดยคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ ทบทวนกลไกการกำกับดูแลให้เป็นไปอย่างอิสระและชัดเจนในบทบาทหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปของนิเวศดิจิทัล
คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนขอสนับสนุนให้วงการวิชาการและวิชาชีพด้านการสื่อสาร สื่อมวลชน และสาธารณชน ร่วมติดตาม สื่อสาร อภิปรายกฎหมายและการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์สื่อที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิของผู้บริโภค โดยเฉพาะสนับสนุนสื่อมวลชนให้ความสำคัญกับการเกาะติดการรายงานข้อเท็จจริงและให้ข้อมูลเชิงลึกอย่างต่อเนื่อง ด้วยความรอบคอบและรอบด้าน ก่อให้เกิดพื้นที่อิสระในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ภายใต้หลักคิดของการขับเคลื่อนสังคมที่มีผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง อันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะตามบทบาทหน้าที่การทำงานสื่อเพื่อมวลชนอย่างแท้จริง เพื่อชี้ให้เห็นถึงผลกระทบที่กว้างขวาง และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมกันทบทวนและเห็นถึงความสำคัญของผลประโยชน์สูงสุดของสาธารณะเป็นสำคัญ เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นบรรทัดฐานที่กระทบต่อการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค"