มีนา รัตนากรพิสุทธิ์
นอกเหนือจากมาตรการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำที่หลายฝ่ายทั้งรัฐ เอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างพยายามร่วมกันแก้ไข ก็ยังได้เห็นแนวทางของการนำปลาชนิดนี้ไปใช้ประโยชน์จากมุมมองของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ หนึ่งในนั้นคือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งใน จ.สมุทรสงคราม ที่ให้สัมภาษณ์รายการข่าว 3 มิติ ได้อย่างน่าสนใจ
เกษตรกรรายนี้เริ่มทดลองโดยเปลี่ยนบ่อกุ้งให้เป็นบ่อเลี้ยงปลากะพงและใช้ปลาหมอคางดำเป็นอาหาร ซึ่งโมเดลนี้น่าจะเป็นทางเลือกในการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร ไปพร้อมๆ กับการช่วยลดปริมาณปลาหมอคางดำลงด้วย ทั้งนี้ เนื่องจากปลากะพงเป็นปลานักล่าที่งานวิจัยชี้ว่าสามารถกำจัดลูกปลาหมอคางดำได้ดี และเมื่อนำปลาหมอคางดำมาทำเป็นอาหารเลี้ยงปลากะพงแทนอาหารเม็ด ต้นทุนการผลิตจะลดน้อยลง ถือว่าช่วยเกษตรกรได้ หากแต่เกษตรกรร้องขอให้รัฐบาลหาตลาดรองรับผลผลิตปลากะพงด้วย ก็จะทำให้โมเดลดังกล่าวขับเคลื่อนต่อไปได้ ซึ่งจะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะช่วยกำจัดปลาหมอคางดำได้อย่างน้อยวันละ 4 ตัน ดังที่เกษตรกรกล่าวอย่างมั่นใจ
นับเป็นอีกแนวทางที่น่าสนใจ และอาจทดแทนปัญหาปกติที่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งต้องดิ้นรนกับราคากุ้งตกต่ำและต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น เพราะการใช้ปลาหมอคางดำเป็นอาหารสัตว์น้ำ จะช่วยลดต้นทุนการผลิตได้มากกว่า 40% โดยเฉพาะค่าอาหารเม็ด และนี่คงเป็นอีกบทพิสูจน์หนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า หากรู้จักมองและปรับใช้อย่างสร้างสรรค์ บางครั้งโอกาสก็ซ่อนอยู่ในสิ่งที่คิดว่าเป็นปัญหา เพียงแค่ต้องกล้าคิด กล้าทำ และเปิดใจรับสิ่งใหม่ๆ ดังที่เกษตรกรรายดังกล่าวเสนอไว้
ขณะที่ล่าสุด ก็มีข่าวดีจากกรมประมงที่ได้ส่องให้เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์แล้ว หลังประสบความสำเร็จใน โครงการวิจัยการเหนี่ยวนำชุดโครโมโซม 4 ชุด (4n) ในปลาหมอคางดำ ซึ่งในเบื้องต้นได้ปลาหมอคางดำพิเศษชุด 4n จำนวน 551 ตัว โดยจะเริ่มปล่อยปลาหมอคางดำชุดโครโมโซม 4n ลงในแหล่งน้ำธรรมชาติในวันที่ 4 ก.พ.นี้ เพื่อควบคุมและจำกัดการเพิ่มจำนวนประชากรปลาหมอคางดำ หากโครงการนี้ประสบผลสำเร็จและกรมสามารถเหนี่ยวนำโครโมโซมของปลาหมอคางดำในจำนวนที่สอดคล้องเหมาะสมกับปลาที่มีอยู่ คาดว่าภายใน 3 ปีจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำได้ในระดับที่ไม่กระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม นี่จึงนับเป็นก้าวสำคัญในการจัดการปัญหาปลาสายพันธุ์นี้อย่างเป็นระบบ
ต้องยอมรับว่าปลาหมอคางดำไม่มีทางที่จะหมดไปจากประเทศไทย แต่การเปิดใจปรับเปลี่ยนและหาแนวทางพัฒนาปรับปรุงเป็นสิ่งที่ควรทำ ดังเช่น เกษตรกรข้างต้นทดลองปฏิบัติอยู่ ควบคู่ไปกับการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี และในที่สุดเมื่อธรรมชาติจัดการกันเองเรียบร้อย มันจะกลายเป็นปลาพื้นถิ่นเช่นเดียวกับปลานิล และปลาอีกหลายชนิดที่อยู่ร่วมกันได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ แต่จะกลายเป็นปลาอีกชนิดหนึ่งไว้เป็นตัวเลือกให้เราได้นำไปใช้ประโยชน์เท่านั้น