xs
xsm
sm
md
lg

“DeepSeek” AI จีน เขย่าทุนนิยมอเมริกา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อุตสาหกรรมเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ถึงกับไปไม่เป็น เมื่อ DeepSeek ปัญญาประดิษฐ์จากจีนที่ใช้เงินพัฒนาต่ำสุดๆ เพียง 190 ล้านบาท พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามีประสิทธิภาพเทียบเท่า AI อเมริกันที่ใช้เงินลงทุนเป็นแสนล้าน ที่สำคัญคือเปิดให้ใช้ฟรี แถมเป็นโอเพนซอร์สให้นักพัฒนาเอาไปต่อยอดได้ ส่งผลสะเทือนถึงราคาหุ้นของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้าน AI ในอเมริกาที่โดนปั่นขึ้นไปสูงลิ่วต้องร่วงระนาว ขณะเดียวกันก็สะท้อนว่ามาตรการปิดล้อม-กีดกันเพื่อสกัดกั้นความก้าวหน้าด้านนวัตกรรมจีนนั้นไม่ได้ผลแม้แต่น้อย



ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก” เมื่อวันศุกร์ที่ 31 มกราคม 2568 นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ ได้กล่าวถึง DeepSeek ระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ผลงานของสตาร์ทอัพจีนได้สั่นสะเทือนบรรดายักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีในสหรัฐอเมริกา และแสดงเห็นว่ามาตรการปิดล้อม-กีดกันของสหรัฐฯ ไม่ได้ผลแม้แต่น้อย

ก่อนหน้านี้ AI คือหนึ่งในเทคโนโลยีที่สหรัฐฯ ตั้งมั่นว่าจะต้องเหนือชั้นกว่าจีนและประเทศอื่นๆ ในโลกนี้ สหรัฐฯ จึงทำทุกวิถีทางเพื่อสกัดกั้นความก้าวหน้าของจีน แต่ว่าในวันจันทร์ที่ 20 มกราคม ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ สาบานตัวเข้ารับตำแหน่ง บริษัทสตาร์ทอัพเล็กๆ ของจีนที่ชื่อว่า Hangzhou DeepSeek Artificial Intelligence Basic Technology Research Co., Ltd หรือชื่อจีนสั้นๆ คือเซินตู้ฉิวสั่ว (深度求索) ตั้งอยู่ที่เมืองหางโจว มณฑลเจ้อเจียง ได้เปิดตัวโมเดล AI ที่ชื่อ DeepSeek-R1


ทีมสร้างสรรค์ AI ของ Meta ถึงกับยอมรับว่า DeepSeek ทำให้ทีมของ Meta ตื่นตระหนกว่าปัญญาประดิษฐ์ของจีนมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วด้วยต้นทุนต่ำ คือ DeepSeek-R1 ใช้เงินพัฒนาเพียง 5.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 190 ล้านบาท) ขณะที่บรรดาบริษัทสหรัฐฯ ในซิลิคอนวัลเลย์ทุ่มงบประมาณมหาศาลหลายร้อยล้านเหรียญสหรัฐ หรือหลายพันล้านเหรียญสหรัฐ

ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนธันวาคม ปีที่แล้ว 2567 DeepSeek ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพที่เพิ่งก่อตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 โดยชายหนุ่มวัย 40 ปีที่ชื่อ เหลียง เหวินเฟิง ได้เปิดตัว DeepSeek-V3 ซึ่งสร้างความฮือฮาในวงการ AI ทั่วโลก เพราะมีค่าใช้จ่ายในการพัฒนาที่ต่ำมาก คิดเป็นแค่ 5% ของค่าใช้จ่ายของ GPT-40 ที่ล้ำหน้าที่สุดในสหรัฐฯ แต่ว่ามีประสิทธิภาพในระดับเดียวกัน


ทั้งนี้ ในการทดสอบประสิทธิภาพโดยรวมในด้านต่างๆ พบว่า DeepSeek ทำคะแนนได้ในอันดับที่ 3 รองจาก Gemini ของ Google และ ChatGPT ของ OpenAI แต่ในหลายด้าน DeepSeek นั้นทำได้ดีกว่า ChatGPT,Gemini (ของกูเกิล Deepmind), Llama (ของ Meta-เฟซบุ๊ก), Claude ของบริษัท แอนทรอปิก สตาร์ทอัพอเมริกัน ด้วยซ้ำ


DeepSeek ก้าวล้ำเหนือกว่าโมเดล AI ขนาดใหญ่ของยักษ์ใหญ่ไอทีในอเมริกา โดยเฉพาะในด้านการให้เหตุผล และการคำนวณอีกด้วย ที่สำคัญคือ ต้นทุนของ AI จีนตัวนี้ ต่ำกว่าของบรรดาบริษัทในสหรัฐฯ อย่างมาก

ประการถัดมาก็คือตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ พยายามกีดกันจีน ห้ามส่งออกไมโครชิปประสิทธิภาพสูงไปให้จีน และยังกดดันให้ประเทศที่สามที่ใช้เทคโนโลยีของสหรัฐฯ ร่วมคว่ำบาตรจีนด้วย โดยออกกฎห้าม Nvidia ขายชิประดับก้าวหน้าที่สุด 2 ตัวให้แก่จีน ซึ่งได้แก่รุ่น A100 และรุ่น H100 แต่ DeepSeek นั้นได้หันไปใช้หน่วยประมวลผลกราฟิก (GPU) รุ่น H800 ที่ Nvidia ปรับแต่งลดประสิทธิภาพสำหรับตลาดจีน ตามมาตรการควบคุมการส่งออกของสหรัฐฯ


แต่สิ่งมหัศจรรย์ก็เกิดขึ้นเมื่อ DeepSeek สามารถใช้ไมโครชิปที่ประสิทธิภาพน้อยกว่า แต่สร้างผลลัพธ์ที่ไม่น้อยหน้ายักษ์ใหญ่ของอเมริกาที่ใช้ชิปประสิทธิภาพสูง และยังเป็นระบบ “Open source” อย่างสมบูรณ์ ผู้เชี่ยวชาญจึงสามารถศึกษา, แบ่งปัน และร่วมกันพัฒนา ให้ DeepSeek เป็น AI ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น การระดมสมองเช่นนี้จะช่วยให้เกิดองค์ความรู้ว่า DeepSeek จะเพิ่มจุดแข็ง และลดจุดอ่อนได้อย่างไร


การเปิดตัวแบบกะทันหันของ DeepSeek-R1 นี่ก็เป็นเหตุผลที่พนักงานของ Meta (Facebook) ตื่นตระหนกอย่างรุนแรง เพราะว่า Meta นั้นพัฒนาโมเดล AI ชื่อ ลามะ โดยใช้ GPU H100 ที่มีพลังการประมวลผลสูงกว่าที่ DeepSeek-V3 ถึง 15 เท่าตัว แต่ประสิทธิภาพสุดท้ายกลับไม่ได้เหนือไปกว่ากันมากมายนัก

เขาบอกว่า “ผู้บริหาร (Meta) กำลังวิตกกังวลอย่างมากกับต้นทุนในการพัฒนาโมเดลของ Generative AI ที่สูงมหาศาล แต่พวกเขาจะตอบคำถามได้อย่างไร ในเมื่อผู้นำทุกคนในองค์กรที่พัฒนา Generative AI (ในสหรัฐฯ) นั้นได้ผลตอบแทนมากกว่าต้นทุนในการพัฒนาทั้งหมดของ DeepSeek V3 เสียอีก ... และที่สำคัญเราไม่ได้มีผู้นำอย่างนี้แค่คนเดียว แต่มีเป็นโหล ๆ”


ด้านนิตยสาร Fortune ของสหรัฐฯ ถึงกับบอกว่า สหรัฐฯ เพิ่งประกาศว่าจะลงทุนหลายแสนล้านดอลลาร์เพื่อปกป้องความเป็นผู้นำในด้านปัญญาประดิษฐ์ แต่ว่าบริษัทสตาร์ทอัพของจีนที่มี “งบประมาณต่ำอย่างเหลือเชื่อ” กลับทำลายความหวังของสหรัฐฯ ลงได้อย่างสิ้นเชิง

นวัตกรรมของ DeepSeek สร้างความตกตะลึงให้กับอุตสาหกรรม แม้ว่าจะเผชิญข้อจำกัดในด้านฮาร์ดแวร์และเงินลงทุน ที่สำคัญคือ DeepSeek ได้พิสูจน์ให้เห็นว่ามีทางเลือกที่เป็นไปได้สำหรับการพัฒนา AI โดยไม่ต้อง “เผาเงิน” เหมือนกับบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่กำลังทำอยู่


ทั้งนี้ ปัจจุบันองค์ประกอบของการพัฒนา AI นั้นมีอยู่ 3 ประการ คือ หนึ่ง อัลกอริทึม (วิธีการประมวลผล) สอง ข้อมูลที่ใช้ในการประมวลผล และ สาม พลังการประมวลผล (ประสิทธิภาพของไมโครชิป)

บรรดาบริษัทเทคโนโลยีของตะวันตกเชื่อมาตลอดว่า พลังการประมวลผลที่เกิดจากประสิทธิภาพของไมโครชิปเปรียบเสมือนเซลล์ประสาทในสมองของมนุษย์ ยิ่งพลังการประมวลผลมีมากเท่าไร AI ก็ควรจะฉลาดขึ้นเท่านั้น หรือเปรียบเทียบเหมือนกับคนที่หัวสมองดี+ฉลาด ย่อมจะเรียนรู้ได้เร็วกว่าคนที่หัวทึบ

“ท่านผู้ชมครับ อเมริกาชอบขี่ช้างจับตั๊กแตน เทคโนโลยีใหญ่ของอเมริกาจึงแสวงหาการแข่งขันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ทำไมอเมริกาทำอย่างนี้ได้ ? เพราะมันมีนักเก็งกำไรจากวอลล์สตรีทลงทุนในบริษัทของอเมริกา พวกนี้ซื้อหุ้นเอาไว้ เอาเงินทุนก้อนใหม่ๆ มา นี่เอาเงินทุนนี้ไป แล้วก็ไปลงทุนด้านพลังการประมวลผล เพราะต้องการแย่งชิงพลังการประมวลผลชั้นเทพ ศูนย์ข้อมูล Super Computer XAI ของอีลอน มัสก์ ใช้ชิปชั้นยอดของ NVIDIA คือ GPU NVIDIA H100 ท่านผู้ชมรู้หรือเปล่าว่าใช้เท่าไร? 1 แสนตัว ทำให้เป็นคลัสเตอร์เพื่อฝึก AI ที่ทรงพลังที่สุดแห่งหนึ่งในโลกปัจจุบัน” นายสนธิกล่าว


ด้านนายแซม อัลท์แมน ผู้ก่อตั้ง OpenAI และเจ้าของ ChatGPT บอกว่า เขาจะลงทุน 100,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 3.4 ล้านล้านบาท) เพื่อสร้างศูนย์ข้อมูล 10 แห่งในเทกซัส และจะใช้จ่ายอีก 500,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 17 ล้านล้านบาท) ใน 4 ปีข้างหน้าเพื่อสร้างคลัสเตอร์ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ 20 แห่งทั่วสหรัฐอเมริกา

นี่ได้สะท้อนแนวคิดของบริษัทเทคโนโลยีสหรัฐฯ ที่เชื่อว่าใครก็ตามที่มีไมโครชิปที่ทรงประสิทธิภาพมากกว่าก็จะชนะอย่างแน่นอน แต่ว่าการแข่งขันเรื่องไมโครชิปมีต้นทุนที่สูงมาก และยังใช้ไฟฟ้าในปริมาณมหาศาล เพื่อฝึกฝน AI อย่างไม่หยุดหย่อน

ปัญหาเรื่องการบริโภคพลังงานไฟฟ้าของศูนย์ข้อมูล (Data Center) เพื่อใช้ในการพัฒนา AI เป็นปัญหาใหญ่ จนถึงขั้นว่าบริษัทเทคในสหรัฐฯ อย่าง กูเกิล และแอมะซอนพยายามเสนอว่าจะขออนุญาตในการพัฒนาและตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก หรือขนาดจิ๋ว ของตัวเองขึ้นมาเพื่อหล่อเลี้ยงไฟฟ้าให้กับศูนย์ข้อมูล และศูนย์ประมวลผล AI ของตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งพารัฐบาล


แต่ว่าเมื่อจีนเผชิญกับการกีดกันไม่ให้เข้าถึงไมโครชิปโดยสหรัฐฯ DeepSeek จึงไม่ได้เดินตามกระแสข้อสามคือ “ปั่นพลังการประมวลผล” แบบเดียวกับบริษัท AI ของอเมริกา และหันไปพัฒนาอีก 2 องค์ประกอบหลักแรก คือ พัฒนาอัลกอริทึม และสรรหาข้อมูลซึ่งนำมาใช้การประมวลผลซึ่งได้เปิดหนทางใหม่ในการพัฒนา AI ด้วยต้นทุนที่ต่ำมาก

ด้วยเหตุนี้ ต้นทุนการฝึก AI ของ DeepSeek อยู่ที่เพียง 5.57 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 190 ล้านบาท) หรือคิดเป็นเพียง 1% ของ GPT-4 ซึ่งทำให้ AI กลายเป็นเทคโนโลยีที่ผู้ใช้งานจำนวนมากเข้าถึงได้ และใช้งานอย่างแพร่หลายได้


“จะเห็นได้ชัดเลย พูดง่ายๆ ว่าจีนหาทางออก หันกลับไปพัฒนาอัลกอริทึมให้มันดีขึ้นกว่าเก่า แล้วก็สรรหาข้อมูลซึ่งนำมาใช้ในการประมวลผล ด้วยเหตุนี้เขาถึงทำให้โลกตื่นตะลึง ตกตะลึง ช็อกไปหมด ช็อกที่ออกมาแล้วทำได้ดี บางหัวข้อได้ดีกว่าของอเมริกาผลิต ที่ช็อกมากที่สุด คือใช้เงินแค่ 190 ล้านบาทเอง

“เมื่อกี้ผมเล่าให้ฟังว่า นายอัลต์แมน GPT บอกว่าจะลงทุนทั้งหมด 6 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ในอนาคตข้างหน้าใน 6 แสนล้านเหรียญสหรัฐ มันคือเท่าไรล่ะท่านผู้ชม 18 ล้านล้านบาท แล้วเงินพวกนี้มาจากไหน ก็จากวอลล์สตรีททั้งหลายที่ปั่นกัน ปั่นกระแสกัน เพราะมันเห็นว่า AI หรือปัญญาประดิษฐ์คืออนาคตของโลก ใครคุม AI ได้เท่ากับคุมโลกได้ ก็หมายความว่าถ้าใครยิ่งใหญ่ในระบบปัญญาประดิษฐ์ได้ คนทั่วโลกต้องจ่ายค่าต๋งให้มัน มันมีคนในโลกนี้สัก 100 ล้านคน มันต้องจ่ายให้ปีละ 1,000 บาทต่อคน ก็เท่ากับ 1 ปี ก็ 1 แสนล้าน 2 แสนล้าน แต่ว่า DeepSeek ไม่คิดเงินเลย” 
นายสนธิกล่าว

ผู้ก่อตั้ง DeepSeek คือใคร?

เจ้าของ DeepSeek ก็คือบริษัท Hangzhou DeepSeek Artificial Intelligence Basic Technology Research หรือเซินตู้ฉิวสั่ว ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2566


ผู้ก่อตั้งบริษัทนี้ชื่อ นายเหลียง เหวินเฟิง (梁文锋) ชายหนุ่มอายุเพียงแค่ 40 ปี เกิดเมื่อปี 2528 ที่เกิดที่เมืองจ้านเจียง มณฑลกวางตุ้งทางใต้ของจีน เขาสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีและปริญญาโทด้านวิศวกรรมสารสนเทศและอิเล็กทรอนิกส์จากมหาวิทยาลัยเจ้อเจียง ซึ่งเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยระดับท็อปของจีน ตั้งอยู่ที่เมืองหางโจว ใกล้ๆ กับเซี่ยงไฮ้

เหลียง เหวินเฟิง เริ่มต้นเส้นทางวงการเทคโนโลยีด้วยความหลงใหลในเรื่อง AI ปัญญาประดิษฐ์ โดยในปี 2559 โดยก่อตั้งกองทุน High-Flyer Capital Management หรือชื่อจีนคือ ฮ่วนฟัง (幻方) ซึ่งเป็นกองทุนที่ใช้โมเดล Machine Learning ในการวิเคราะห์และซื้อขายหลักทรัพย์ทางการเงิน

จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในปี 2566 เหลียง เหวินเฟิง ตัดสินใจเปิดห้องปฏิบัติการวิจัยด้าน AGI (Artificial General Intelligence) หรือปัญญาประดิษฐ์ขั้นสูงที่มีความสามารถใกล้เคียงมนุษย์ โดยแยกการดำเนินงานออกจากธุรกิจการเงินของ High-Flyer


ต่อมาในเดือนพฤษภาคม 2566 ห้องปฏิบัติการนี้ได้แยกตัวออกมาเป็นบริษัท DeepSeek อย่างเต็มตัว โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในเมืองหางโจว มณฑลเจ้อเจียง และมี High-Flyer เป็นหนึ่งในผู้ลงทุนหลัก ซึ่งมุ่งเน้นการวิจัยเอไอโดยไม่เน้นการค้า

เหลียง เหวินเฟิง คิดว่า AI ไม่ควรถูกผูกขาดโดยบริษัทยักษ์ใหญ่ แต่ควรเป็นเทคโนโลยีที่ทุกคนเข้าถึงได้ นี่จึงเป็นสาเหตุให้เขาตัดสินใจสร้าง DeepSeek ให้เป็นแบบ Open Source เปิดให้ผู้เชี่ยวชาญต่างๆ สามารถเข้ามาศึกษาและพัฒนาร่วมกันได้ นอกจากนี้ บริษัทเขายังให้โอกาสนักศึกษาจบใหม่ และคนรุ่นใหม่ที่มีทักษะทางเทคนิค แม้ไม่มีประสบการณ์ เข้ามาร่วมทำงานด้วย


“สรุปครับท่านผู้ชม นี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของมาตรการกีดกัน ปิดล้อมจีนของสหรัฐฯ ซึ่งไม่ได้ผลเลย ในทางกลับกัน ยิ่งทำให้จีนต้องมุ่งมานะในการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นของตัวเอง สหรัฐฯ อาจจะได้เปรียบในเรื่องทรัพยากรและเงินทุน แต่จีนได้เปรียบตรงมีความรู้ และคนที่หาหนทาง หลังชนกำแพงที่จะฝ่าวงล้อม เปลี่ยนเลนแซงเหมือนที่เคยทำมาแล้วในเรื่องของ 5G รถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรีลิเทียมไอออน โซลาร์เซลล์ และอีกหลายกรณี กำแพงที่สหรัฐฯ สร้างขึ้นเพื่อหวังปิดล้อมจีน กลับจะกักขังสหรัฐฯ ให้ติดอยู่ในวงล้อมตัวเอง

“แนวนโยบายของ สี จิ้นผิง ในการพัฒนาเทคโนโลยี ให้จีนยืนบนลำแข้งตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งพาต่างชาติ ผมพูดมานานแล้ว แล้วระบบการศึกษาของจีนนั้นพลิกผันไปมากในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมา เขาเน้นการสอนในเรื่องของ
STEM ท่านผู้ชมจำได้ไหมคำว่า STEM ผมพูดไปไม่รู้กี่สิบครั้งแล้ว S คือ Science, T คือ Technology, E คือ Engineering และ M คือ Mathematics


“ก็เลยเกิดมหาวิทยาลัยที่เน้นสอนทางด้าน STEM ท่านผู้ชม ถ้าฟังรายการผม ที่ผมพูดเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว เรื่องมหาวิทยาลัยเสฉวน ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยภูมิภาค อุปมาอุปไมยเหมือนกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ ม.สุรนารี หรือแม้กระทั่งมหาวิทยาลัยนเรศวรได้รางวัลการวิจัยยอดเยี่ยมจากนิตยสาร NATURE ของตะวันตก ที่ทรงพลังและมีชื่อเสียงที่สุด ว่าการวิจัยของมหาวิทยาลัยเสฉวนนั้นชนะ MIT ชนะสแตมฟอร์ดได้ นี่แค่มหาวิทยาลัยทางภูมิภาค

“ด้วยเหตุนี้ พ่อเหลียงของผม เนิร์ด ใส่แว่นตา เขาสรรหาคนได้ทุกจุดเลย เขาเอาคนรุ่นใหม่ ซึ่งเรียนจบ ดูว่าเรียนเก่ง เอาเข้ามาอยู่ร่วมงาน เอามหาวิทยาลัยนั้นเข้ามา เอามหาวิทยาลัยนี้เข้ามา เขาไม่ลำบากเลยแม้แต่นิดเดียว แล้วคนพวกนี้มีแรงบันดาลใจในการทำงาน ส่วนหนึ่งเขาต้องการจะสร้างนวัตกรรมใหม่ ซึ่งที่สำคัญแรงผลักดันเขาที่สุดก็คือแข่งขันกับทางตะวันตก เพราะคนจีนสมัยใหม่รู้และเจ็บช้ำน้ำใจที่ประเทศจีนโดนประเทศอเมริกากลั่นแกล้งไม่ให้สามารถที่จะพัฒนาตัวเองขึ้นมาสู่ระดับเดียวกับอเมริกา หรือนำอเมริกา แกล้งทุกเรื่อง แกล้งไม่ให้ส่งไมโครชิปมา มิหนำซ้ำยังสั่งบริษัท ASML ที่เป็นคนผลิตเครื่องจักรผลิตไมโครชิป ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Lithography ไม่ให้ขายเครื่องจักรระดับสูงให้กับจีน คนพวกนี้เลยต้องการจะพิสูจน์ให้เห็นว่า กูอ้อมมึงไปก็ได้ หาวิธีการสร้างของตัวกูเอง คนรุ่นใหม่ที่มีความคิดอย่างนี้ ตอนนี้ จบ STEM เต็มไปหมดเลยที่เมืองจีน นายเหลียงไม่ต้องใช้เวลาค้นหานานเลย เขามุ่งเน้นไปที่แผนกเทคโนโลยี STEM ที่มหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง แล้วเขาบอกว่า ใครบ้างที่เก่งเรื่องคณิตศาสตร์ เด็กรุ่นใหม่นะ เก่งทางด้านวิทยาศาสตร์ เอามาหน่อยได้ไหม ผมจะเอามาทำงานด้วย



“เด็กพวกนี้พอเข้ามาแล้ว มีโอกาส มีประสบการณ์ ที่จะสร้างนวัตกรรมใหม่ที่ตื่นตาตื่นใจให้กับโลก ที่สำคัญ ทำให้อเมริกาช็อกได้ แรงบันดาลใจตรงนี้ตีเป็นมูลค่าเงินไม่ได้ เขาถึงบอกไงว่า คนที่เงินเดือนสูง ใน Facebook ใน Meta ใน Google ที่มาพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งแต่ละหน่วยงานจะมีคนประเภทนี้อยู่ประมาณสิบๆ คน อย่างน้อยต้องมี 20 คน เงินเดือนของคนพวกนั้นคนเดียว เท่ากับค่าใช้จ่ายทั้งหมดของ DeepSeek 1 ปี รวมทั้งค่าพัฒนาด้วย

“ท่านผู้ชมที่เป็นติ่งอเมริกาแล้วกระแนะกระแหนผมตลอด ใช้เงินแค่ 190 ล้าน เอาชนะ GPT ได้ในหลายหัวข้อ ชนะ Gemini ได้ ชนะ Llama ได้ ท่านผู้ชมครับ ท่านผู้ชมที่ติ่งอเมริกายังคิดว่าอเมริกาที่ท่านนับถือเหมือนพ่อ มันจะทำอย่างไรวันนี้ มูลค่าหุ้นที่บริษัทเทคโนโลยีสูญเสียไปทั้งหมด หลังจากข่าว DeepSeek ออกมา 1 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 34 ล้านล้านบาท ท่านผู้ชมยังคิดว่าผมอวยจีนอยู่หรือเปล่า ท่านคิดเอาเองก็แล้วกันนะครับ”
นายสนธิกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น