วันนี้ (2 กุมภาพันธ์ 2568) เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม 112 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้การต้อนรับ คณะทำงานโครงการ Future of Good Life ซึ่งเป็นเยาวชนจากโรงเรียนร่วมฤดีวิเทศศึกษาและโรงเรียนนานาชาติบางกอกพัฒนา ประกอบด้วย นายสิทธิ์ศกร จันทร์ตระกูล (โรงเรียนร่วมฤดีวิเทศศึกษา) นายรัฐวิณัฏฐ์ ยุทธยงค์ (โรงเรียนร่วมฤดีวิเทศศึกษา) นายภูวกฤต วรรณขจรกิจ (โรงเรียนร่วมฤดีวิเทศศึกษา) และนายชัยณัฏฐ คุปติเวช (โรงเรียนนานาชาติบางกอกพัฒนา) โดยมี Mr. Peter Bracher กรรมการผู้จัดการ Team Public Health เป็นที่ปรึกษา พร้อมกันนี้ ดร.นานา คึนเคล (Dr. Nana Kuenkel: Director & Cluster Coordinator Agriculture & Food, GIZ) ผู้อำนวยการและผู้ประสานงาน กลุ่มเกษตรและความปลอดภัยด้านอาหาร องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมนี นายอภัย สุทธิสังข์ รองปลัดกระทรวงเกษตรฯ น.ส.ภัทราภรณ์ โสเจยยะ รองปลัดกระทรวงเกษตรฯ นางอมราพร ชีพสมุทร์ ผู้อำนวยการกองนโยบายเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรและเกษตรกรรมยั่งยืน และน.ส.ลัดดา วิริยางกูร ที่ปรึกษาอาวุโสด้านนโยบายข้าวยั่งยืน โครงการ Thai Rice NAMA เข้าร่วมด้วย
สำหรับโครงการ "Future of Good Life" สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มุ่งเน้นการทำเกษตรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม (Go Green) และการยกระดับสินค้าเกษตรมูลค่าสูง โครงการนี้ยังช่วยส่งเสริมการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการปลูกข้าวเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเน้นบทบาทของเยาวชนในการสนับสนุนเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการเกษตรที่ยั่งยืน โดยมีความมุ่งหวังในการส่งเสริมเกษตรกรให้ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตข้าวคาร์บอนต่ำ ลดก๊าซมีเทนในดินและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรผ่านการขายคาร์บอนเครดิต
ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบคำแนะนำแก่กลุ่มเยาวชน เพื่อนำไปพัฒนาโครงการให้มีความครอบคลุมและสร้างสรรค์การเกษตรเชิงบวกต่อไป ซึ่งเหล่าเยาวชนได้มอบข้าวที่ผลิตจากนวัตกรรมผลิตข้าวคาร์บอนต่ำให้กับทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด้วย
ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า "รู้สึกภาคภูมิใจที่เยาวชนไทยสนใจทำโครงการที่ช่วยให้เกษตรกรไทยสามารถเพาะปลูกข้าวคาร์บอนต่ำลดโลกร้อน ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ต้องการทำให้ประเทศไทยเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวคาร์บอนต่ำ โดยเครื่องมือที่น้องๆ เยาวชนช่วยกันคิดค้นขึ้น ทำให้การตรวจวัดค่าคาร์บอนที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศมีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น ช่วยให้ชาวนาทำเกษตรกรรมได้สะดวกและมีผลผลิตเพิ่มมากขึ้นผ่านการเพาะปลูกแบบเปียกสลับแห้ง ซึ่งช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทางกรมการข้าว โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็จะได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านี้ต่อไปในอนาคต และต้องขอขอบคุณ GIZ ที่สนับสนุนผลงานของเยาวชนไทย ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มุ่งเน้นที่จะสนับสนุนเยาวชนรุ่นใหม่ให้เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาขับเคลื่อนภาคการเกษตรของไทยผ่านโครงการ "Young Smart Farmer" ซึ่งองค์ความรู้ นวัตกรรม เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เยาวชนรุ่นใหม่คิดค้นขึ้นจะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการการเกษตรของไทย เพื่อที่จะรองรับการเปลี่ยนแปลงของ climate change โดยเป็นสิ่งที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ ซึ่งหากประเทศไทยขึ้นมาเป็นผู้นำในการผลิตข้าวคาร์บอนต่ำได้ ก็จะส่งผลดีเป็นอย่างยิ่ง"
ด้านเยาวชน นำโดย นายสิทธิ์ศกร จันทร์ตระกูล ผู้จัดทำโครงการ Future of Good Life กล่าวว่า "รู้สึกภูมิใจที่ได้นำเสนอโครงการฯ ดังกล่าวต่อท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย แต่ปัจจุบันวิธีการเพาะปลูกข้าวของเกษตรกรไทยก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน จึงริเริ่มทำโครงการฯ ดังกล่าวขึ้น โดยสนับสนุนให้ชาวนาใช้เทคนิคการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง หรือ AWD พร้อมใช้นวัตกรรม เครื่อง " Rice Sense" ที่ทางผู้จัดทำโครงการฯร่วมกันคิดค้นขึ้นมา เพื่อให้เกษตรกรสามารถใช้อุปกรณ์วัดระดับน้ำในดินที่สามารถส่งข้อมูลลงระบบได้ทันที ซึ่งจะทำให้ทราบว่าช่วงเวลาไหนต้องปล่อยน้ำ หรือเติมน้ำให้กับแปลงข้าว โดยในระยะแรกเริ่มมีเกษตรกรไทยเข้าร่วมโครงการฯ 40 ราย พื้นที่ 500 ไร่ ใน 2 ตำบล ของจังหวัดสุพรรณบุรี ต่อมาได้มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯเพิ่มเป็น 150 คน พื้นที่ 2000 ไร่ และเตรียมขยายต่อไปในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งทางผู้จัดทำโครงการ Future of Good Life มีความมุ่งมั่นอยากให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ มากขึ้น และอยากให้ประชาชนทั่วไปรับรู้ว่าข้าวลดโลกร้อนมีอยู่จริงและหันมาบริโภคกันมากขึ้น"