xs
xsm
sm
md
lg

‘TU!!-ณัชพล ตุ๊เสงี่ยม’ ศิลปิน Pop Psychedelic Art สู่ช่างสักสไตล์ Pop Art

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ตุ๊ หรือ TU!! ณัชพล ตุ๊เสงี่ยม ศิลปินที่นิยามงานตนเองว่า Pop Psychedelic Art
“…ตอนนี้ผมกำลังจริงจังกับการทำร้านสักด้วย ลองดูปีนี้ว่าจะเป็นอย่างไร แล้วก็ฝึกทำธุรกิจผสมไปด้วย คือผมอยาก Recruit หรือรวมตัวศิลปินช่างสักที่มีความสนใจในแนว Pop Art มาอยู่ด้วยกัน เป็นช่างสักด้วยกัน ลองทำคอนเซ็ปต์ให้ละเอียดอ่อนขึ้น พิเศษมากขึ้น ใครสนใจงานสักแนว Pop Art , Street Art ก็มาหาได้ที่ร้านนี้…”

ถ้อยความที่บอกเล่าด้วยน้ำเสียงแจ่มใส สะท้อนถึงความสนุกที่เขากำลังก้าวเดินไปบนอีกบทบาทหนึ่ง นอกจากการเป็นศิลปิน นั่นก็คือ การเป็น ‘ช่างสัก’ ที่มีสไตล์เฉพาะตัว แต่ก็พร้อมปรับเพื่อให้ลูกค้าได้รับความพอใจจากการสักของเขาและรู้สึกเสมือนว่าได้เก็บสะสมผลงานศิลปะชิ้นหนึ่งไว้บนร่างกาย



ตุ๊ หรือ TU!! ณัชพล ตุ๊เสงี่ยม ศิลปินที่นิยามงานตนเองว่า Pop Psychedelic Art
เขาคือตุ๊ หรือ TU!! 'ณัชพล ตุ๊เสงี่ยม' ศิลปินที่นิยามงานตนเองว่าเป็นแนว Pop Psychedelic Art ( หมายเหตุ : มี Element บางอย่างมากกว่า Pop Art อาทิ ทำให้มีความเป็น Animation ขยับได้ มาผสมผสาน ) เขาเป็นศิลปินที่เคยมีผลงานที่ขายใน NFT ได้มูลค่าสูงถึง 1 Ethereum ( Ethereum คือ Cryptocurrency สกุลหนึ่ง ส่วน NFT คือ Non Fungible Token โดยเหรียญที่ใช้ซื้องานศิลปะ NFT เป็นหลักคือ Ethereum) งานของเขาที่ขายใน NFT ณ เวลานั้น มีชิ้นงานที่มีมูลค่า 120,000 บาท ถึง 130,000 บาทอยู่ด้วย ถือว่าเยอะมากสำหรับแวดวง NFT ไทยช่วงนั้น ที่มีผู้ขายงานได้ในราคานี้อยู่ราว 10-20 คน


เขายังคงทำงานศิลปะอย่างต่อเนื่อง อาทิ กลางปี 2024 งาน Solo Exhibition งานหนึ่งของเขา นำพาผู้คนก้าวข้ามไปถึงมุมมองในสังสารวัฏ สุข ทุกข์ ล้วนเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ยืนยันความสำเร็จด้วยการที่เหล่า Collector ซื้อผลงานมากกว่า 20 ชิ้นไปจนเกือบหมดแล้ว อีกทั้งปีนี้ เขาก็ยังมีงาน collab กับทั้งแบรนด์ และห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งย่านเอกมัย ซึ่งรายหลังนี้ เป็นแนว Digital Display ที่นับเป็นโปรเจ็กต์ใหญ่พอสมควร

นั่นคือเส้นทางหลักโดยรวมในชีวิตศิลปิน แต่ยังมีอีกหนึ่งเส้นทางที่เขาแผ้วถางสร้างขึ้นใหม่ให้ตัวเอง
นั่นคือ การเป็น ‘ช่างสัก’ ที่มีสไตล์และเอกลักษณ์ของงานที่น่าสนใจ นำความเป็น Pop Art ความเป็น Street Art มาใส่ในเนื้องานให้แก่ลูกค้าที่ชอบศิลปะแนวนี้ อีกทั้งเขายังมุ่งหวัง จริงจัง ไปถึงขั้นที่อยากรวบรวม-รวมตัว ศิลปินช่างสักแนว Pop Art ให้มาทำงานร่วมกัน ราวกับเป็นศูนย์ หรือ Hub แห่งงานสักสไตล์ Pop Art, Street Art ก็มิปาน

‘ตุ๊-ณัชพล ตุ๊เสงี่ยม’ ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ ‘ผู้จัดการออนไลน์’ ถึงเรื่องราวทั้งหลายเหล่านั้น

ตุ๊ หรือ TU!! ณัชพล ตุ๊เสงี่ยม ศิลปินที่นิยามงานตนเองว่า Pop Psychedelic Art
มองสังสารวัฏ ผ่านเนื้องาน ‘The Circle of Never Ending Pain(T)’
Solo Exhibition by TU!! at Street Star Gallery

ตุ๊เล่าให้ฟังถึงคอนเซ็ปต์งานว่า “The Circle of Never Ending Pain(T) ที่ Street Star Gallery มันก็คือเรื่องราวเกี่ยวกับการเล่าถึงบาดแผลในจิตใจของตัวเอง และบอกเล่าถึงความสุข เป็นการยอมรับทั้งความสุขและความทุกข์ว่า สุดท้ายแล้วมันก็อยู่ด้วยกันในชีวิต เป็นเหมือนการสำรวจจิตใจ แล้วก็เป็นเชิงธรรมะมากขึ้น"












"งานครั้งนี้ที่จัดแสดง ผมดึงแรงบันดาลใจมาจากศาสนาพุทธค่อนข้างเยอะ
คือเรื่องเกี่ยวกับสังสารวัฏ เรื่องเกี่ยวกับการที่ทุกอย่างเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่เที่ยงครับ”

“หรือแม้กระทั่งความสุข เมื่อเกิดขึ้นมาก็ไม่เที่ยง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ความทุกข์ก็เช่นกัน เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป และส่วนหนึ่งมันมาจากประสบการณ์ชีวิตผมเอง ที่เคยเจอเรื่องร้ายๆ เข้ามา แล้วเรารู้สึกว่าเราอยากนำเรื่องนี้มาบอกเล่า
เป็นงานจัดแสดงใหญ่งานเดี่ยวของตัวผมเอง ที่ Street Star Gallery
มีงานทั้งหมดประมาณ 25-26 ชิ้นครับ จัดแสดง 1 เดือน
เป็นงานเพนท์ Physical อย่างเดียว ไม่มี NFT ครับ”






ปัจจุบัน ผลงานจาก The Circle of Never Ending Pain(T) เหลือเพียงแค่ประมาณ 3 ชิ้นสุดท้ายเท่านั้น เนื่องจากมีเหล่า Collector ซื้อไปเกือบหมดแล้ว

ถามถึงกระบวนการสร้างงานคอลเลคชั่นนี้ เพราะมีผลงานหลายชิ้นพอสมควร
ตุ๊ตอบตรงไปตรงมาว่า กระบวนการสร้างงานถือว่าเร่งมาก ใช้เวลาเพียงแค่สามเดือน แต่ก็มีทีมงานช่วยกันในการจัดแสดง

“ผมเป็นเจ้าของผลงาน แต่ก็มีทีมช่วย เพื่อให้งานเสร็จเร็วขึ้น
สำหรับขั้นตอนในการทำงาน ผมก็จะคิดถึงคอนเซ็ปต์หลักก่อน ว่าเราอยากเล่าเรื่องอะไร แล้วก็อยู่ในแกนหลักของวงกลม คือ Circle ไงครับ ดังนั้น The Circle of Never Ending Pain(T) มันก็เป็นเรื่องของวงกลมครับผม”


Betting On Dream

ไม่เพียง Exhibition ‘The Circle of Never Ending Pain(T)’
แต่ปีที่ผ่านมา ตุ๊ก็ยังมีนิทรรศการ Betting On Dream
จัดแสดงที่งาน ‘1 Day , 1,000 art’ ที่ Mun Mun Art Destination Seacon Square

ตุ๊เล่าถึงงานนี้ว่า
“เป็นผลงานที่ทาง Seacon Square เค้าเชิญไปจัดแสดง ร่วมกับศิลปินประมาณ 10 คนครับ แต่ผมได้ห้องแสดงเดี่ยวของตัวเอง
งานนี้มีชื่ออีเวนต์ว่า หนึ่งวันพันอาร์ต (‘1 Day , 1,000 art’) เป็นโซนที่ถูกจัดขึ้นสำหรับ Art Exhibition”










ตุ๊เล่าว่า งานคอลเลคชั่นนี้ เป็นเรื่องของการเสี่ยงทายกับความฝัน

“มีชื่อว่า Betting On Dream คือ เสี่ยงกับความฝัน
จัดแสดงทั้งหมดประมาณ 8 ชิ้นครับ เป็นห้องเล็กๆ ครับ ไม่ได้จัดแสดงเป็นงานใหญ่ พี่เขาชวนมาก็เลยมาร่วม ใช้ระยะเวลา 1 เดือนในการทำ เป็นระยะเวลาที่เร่งพอสมควร”

นอกจากงานศิลปะที่จัดแสดงต่อเนื่องแล้ว ตุ๊กล่าวว่า ทุกวันนี้ ก็ยังทำงานศิลปะ แบบ NFT อยู่ด้วย แต่ส่วนใหญ่จะทำกับแบรนด์ที่เชิญศิลปินมา collaboration ด้วยอีกทั้งยังมีโปรเจ็กต์ที่จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ กับห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งย่านเอกมัย แม้ยังบอกรายละเอียดไม่ได้ แต่ก็นับว่าเป็นโปรเจ็กต์ใหญ่ และเป็นแนว Digital Display เป็นงาน collab เช่นกัน




ค้นพบอีกตัวตนบนหนทาง ‘ช่างสัก’

นอกจากงานศิลปะในแขนงที่คุ้นเคยแล้ว พูดคุยถึงเส้นทางใหม่ของอีกตัวตนที่ค้นพบบ้าง นั่นก็คือ สนใจมาเป็นช่างสักได้อย่างไร

ตุ๊เล่าว่า ราวปี 2023-2024 มีงานศิลปะที่ทำอย่างต่อเนื่อง แต่ขณะเดียวกัน ในช่วงเวลาดังกล่าว ก็เป็นช่วงที่คิดได้ และหาแนวทางของตัวเองได้ นั่น คือ ‘การสัก’

“จากนั้น ผมก็ทำงานสักมากขึ้น งานเพนท์ที่เป็นผลงานของตัวเองก็จะยังมีไม่มากนัก ช่วงนี้เป็นงานสักมากกว่า คือผมไม่ค่อยยึดติดรูปแบบ ผมเน้นที่ว่า เราได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรักก็พอ”

ตุ๊มองว่า ด้วยความที่เราทำงานให้คนส่วนใหญ่ได้สะสมผลงาน ส่วนใหญ่ Collector มักจ่ายได้ไหวในราคาหลักหมื่นถึงหลักแสนบาท แต่ตุ๊รู้สึกว่า สำหรับคนที่เขาชอบสะสมผลงานที่ราคาไม่แรงมาก แต่จริงจังในการครอบครอบสิ่งเหล่านั้นก็ยังมี

“ผมว่าคนที่ชอบสัก จะเป็น Feel ประมาณนั้น ลูกค้าสักเดี๋ยวนี้เขาจะชอบเก็บสะสมงานของศิลปินมากขึ้น แล้วแนวทางของการสักก็เริ่มมีความเป็นศิลปะแบบ Pop Art มากขึ้นแล้วก็ร่วมสมัยมากขึ้น”
“ต่างจากเมื่อก่อน ที่มักจะสักเป็นแนว Gangster แบบญี่ปุ่น หรือไม่ก็อเมริกา หรือ American Vintage ไม่ได้มีความหลากหลายเรื่องสไตล์”

“แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป คนเริ่มสักมากขึ้น แล้วผมเห็นว่าเขาเริ่มสักเพื่อสะสมผลงานกันมากขึ้น จากประสบการณ์ที่ผมเริ่มสักให้คนอื่น แม้ช่วงนี้ผมเพิ่งเริ่ม ลูกค้าก็จะเป็นคนที่รู้จักกัน และก็เริ่มมีแปลกหน้ามาประปรายบ้างแล้วครับ”



ภาพโดย : Pookophoko




Street Style : สไตล์สตรีท

ถามว่าเรียนสักที่ไหน ตุ๊ตอบว่า “เรียนกับรุ่นพี่ที่เป็นนักเต้น B-boy ผมก็เป็น B-boy ด้วย ( หมายเหตุ : หนึ่งในวัฒนธรรม Hip-Hop มีการเต้น Break dance หรือ B-boy : Hip-Hop มีองค์ประกอบที่เรียกขานกันว่าเป็น The Fifth element อาทิ MC, ดีเจ, นักแต่งเพลง, บี-บอย , บี-เกิร์ล และการพ่นกราฟฟิตี วัฒนธรรม Hip-Hop นับเป็นหนึ่งใน Street Culture ที่ได้รับความนิยมทั่วโลก ) ตุ๊เต้น B-boy มาไม่น้อยกว่า 15 ปีแล้ว จากมุมมองของเขา เขาเองก็ไม่รู้ว่าทำไมพี่ที่เป็นนักเต้น B-boy หลายคน จึงมักเป็นช่างสัก

“หรืออาจเพราะมีความ Street เท่ๆมั้ง ผมก็ไปขอคำแนะนำจากพี่เขา และเขาก็ให้คำแนะนำมา ผมก็เรียนกับเขาประมาณเดือน กว่าๆ ก่อนที่จะออกมาสักจริงๆ เขาก็บอกว่าผมทำได้ไว ขณะที่บางคน ต้องเรียน 3-4 เดือนเลย กว่าจะออกมาสักได้จริง อาจจะด้วยความที่เรามีพื้นฐานในการวาดรูปอยู่แล้ว แต่ว่าเครื่องมือต่างกัน ผิวหนังต่างกัน วิธีการทำก็ต่างกัน เราต้องดูแลเรื่องความสะอาดด้วย”

ภาพโดย : Pookophoko
เสน่ห์ของงานสัก

ถามว่า เมื่อเทียบกับงานศิลปะรูปแบบอื่นๆ ของคุณ งานสักถือว่าเป็นงานที่รักมากแค่ไหน
ตุ๊ตอบว่า “พูดตรงๆ ยังไม่มาก แต่ผมแค่รู้สึกว่ามันไม่ผิดที่จะลองอะไรใหม่ๆ เพราะผมอยากลองอะไรใหม่ๆ ด้วย ก็เลยลองทำดู แต่ถ้าถามว่ารักมากเท่างานเพนท์ไหม ตอบว่าไม่เท่าครับ เพราะว่าเราเริ่มต้นมาจากสิ่งนั้น เราก็ชอบสิ่งนั้นมากกว่า”

“แต่งานสักมันมีความน่าสนใจตรงที่ว่า เราจะทำยังไง ให้ลูกค้าเค้ารู้สึกอยากได้ผลงานของเราไปอยู่บนร่างกายเค้าเป็นระยะเวลาถาวร
ถ้าเค้าไม่ไปเลเซอร์ลบ รอยสักนี้ก็จะอยู่กับเค้าไปนานๆ”

“นอกจากนั้น เราได้สำรวจความชอบของคน ของบุคคลแบบเป็นปัจเจกด้วยว่า ทำไมเค้าชอบแบบนี้ เราก็ได้มาดูลายสักด้วย ปรับรูปแบบลายสัก ว่าต้องเป็นยังไง เพื่อให้มีความน่าสนใจ ทำให้เค้าอยากมีไว้บนร่างกาย โดยที่การเล่าเรื่อง การทำสไตล์ ก็ยังเป็นสไตล์ผมอยู่ ผมยังใส่ความ ‘ตาไฟ’ อยู่ แต่เราก็จะทำงานตามสั่งมากขึ้น เค้าอาจจะให้เราเติมสิ่งนั้นสิ่งนี้เข้าไป เป็นสไตล์เรา 100% ก็ไม่ได้ เพราะสิ่งนี้จะอยู่กับเค้าไปตลอดชีวิต เค้าก็ต้องคิดเยอะ”

ตุ๊กล่าวว่า ตอนนี้ เขาเริ่มสักมาได้ประมาณ 3 เดือนแล้ว
สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนคือ ได้นำเอาค่านิยมของงานเพนท์ เข้าไปใส่ในงานสัก

“คือการที่เราให้ลูกค้าได้สะสมสิ่งพิเศษที่คนอื่นไม่มี ผมรู้สึกว่าทุกลายที่เราทำ ก็ทำให้เป็นลายเฉพาะของเขาไปเลยดีกว่า”

แล้วจะทำงานช่างสักไปถึงเมื่อไหร่ จริงจังกับมันแค่ไหน
ตุ๊ตอบว่า “ตอนนี้ผมกำลังจริงจังกับการทำร้านสักด้วย ลองดูปีนี้ว่าจะเป็นอย่างไร แล้วก็ฝึกทำธุรกิจผสมไปด้วย คือผมอยาก Recruit หรือรวมตัวศิลปินช่างสักที่มีความสนใจในแนว Pop Art มาอยู่ด้วยกัน เป็นช่างสักด้วยกัน
ลองทำคอนเซ็ปต์ให้ละเอียดอ่อนขึ้น พิเศษมากขึ้น ใครสนใจงานสักแนว Pop Art , Street Art ก็มาหาได้ที่ร้านนี้”

ภาพโดย : Pookophoko
สิ่งที่ได้รับจากงานสัก

อดถามไม่ได้ว่า งานสัก มอบอะไรให้กับคุณบ้าง
ตุ๊ตอบทันทีว่า “มอบวินัยครับ แล้วก็สมาธิ"

"วินัยคือ เราต้องมีการนัดลูกค้า มีการเตรียมความพร้อมเยอะกว่าภาพเพนท์
เพราะภาพเพนท์ทำอยู่ที่เราคนเดียว ทำช้า-ทำเร็วอยู่ที่เรา แต่เมื่อเป็นงานสัก อยู่ที่ลูกค้า สมมติลูกค้านัดวันนี้ เราก็ต้องเตรียมความพร้อม เตรียมอุปกรณ์ให้กับเค้า เค้าจะมารอเราไม่ได้ แล้วสมาธิหรือโฟกัส ต้องมีมากๆ เพราะจะพลาดไม่ได้ การแก้งานทำได้ยากมากๆ วงการสักถ้าพลาดคือพลาด ดังนั้น เราต้องมีสติกับการทำงานมากๆ ซึ่งผมรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ฝึกสมาธิดี”

“และผมยังมองด้วยว่า การเป็นศิลปินที่ทำได้หลายอย่าง ดีกว่าการทำอย่างเดียวไปตลอดครับ”
ตุ๊กล่าวทิ้งท้ายไว้อย่างน่าคิด

………..
Text by : รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
Photo by : ณัชพล ตุ๊เสงี่ยม
หมายเหตุ : ติดตามตุ๊ได้ที่ IG: TAT.TU!! (@tattu_studio)
สตูดิโอของ TU!! อยู่ที่ชั้น 2 ของร้าน Headshot Café เขตคลองสาน กรุงเทพฯ