xs
xsm
sm
md
lg

เปลือยตัวตน "แพทองธาร" ในภาวะฝุ่นพิษเขย่าไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วิกฤตมลพิษกำลังเปลือยตัวตนของ 'แพทองธาร' ที่แสดงให้เห็นว่าเป็นรัฐบาลได้ แต่บริหารงานให้มีประสิทธิภาพไม่ได้




สถานการณ์หมอกควันและฝุ่นพิษ PM 2.5 ในประเทศไทยระยะนี้ถือว่าหนักหน่วงและส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนทั้งประเทศ อย่างเมื่อวันที่ 24 มกราคม กลายเป็นวันหนึ่งที่มีค่ามลพิษสูงมากและเป็นสีม่วงหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น สมุทรสาคร มีฝุ่นระดับ 247 ลำลูกกา-ปทุมธานี มีฝุ่นระดับ 239 พระนครศรีอยุธยา มีฝุ่นระดับ 233 คลองหลวง-ปทุมธานี มีฝุ่นระดับ 230 ปทุมธานี มีฝุ่นระดับ 223 นครชัยศรี-นครปฐม มีฝุ่นระดับ 220 ปากเกร็ด-นนทบุรี มีฝุ่นระดับ 218 บางเสาธง-สมุทรปราการ มีฝุ่นระดับ 217 คลองหนึ่ง-ปทุมธานี มีฝุ่นระดับ 217 คันนายาว-กรงเทพฯ มีฝุ่นระดับ 214

จากตัวเลขที่ปรากฏออกมาทำให้ฝ่ายรัฐบาลไม่อาจอยู่เฉยๆ และพูดปลอบใจผ่านสื่อมวลชนไปวันๆ ได้อีกแล้ว ถึงขนาดที่ 'แพทองธาร ชินวัตร' นายกรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ระหว่างเข้าร่วมประชุม World Economic Forum ประจำปี 2568 (WEF Annual Meeting 2025: WEF AM25) ที่สวิตเซอร์แลนด์ ต้องประชุมทางไกลมอบหมายงานให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องดำเนินการอย่างเต็มที่

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าสถานการณ์แบบนี้พรรคการเมืองใดขึ้นมาเป็นรัฐบาล ย่อมต้องเจอเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงการแก้ไขปัญหาไม่ต่างกัน แต่เสียงวิจารณ์ที่กระหน่ำหนักมาที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยเป็นเพราะไม่ปรากฏรูปธรรมในการทำงาน ในสถานการณ์นี้นายกฯแพทองธารมีแต้มตามหลังคู่แข่งทางการเมืองทั้งภายในและภายนอกรัฐบาล โดยเฉพาะกับ 'เอกนัฏ พร้อมพันธุ์' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่เข้มงวดกับโรงงานน้ำตาลที่รับซื้ออ้อยเผา เกินกว่าที่ภาครัฐกำหนด แม้การสั่งปิดโรงงานบางแห่งอาจไม่ได้มาจากเหตุผลเรื่องการรับซื้ออ้อยเผา แต่อย่างน้อยก็เป็นการแสดงให้เห็นว่ากระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น

หรือแม้แต่ 'ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ' ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร หัวหน้าพรรคประชาชน ที่สามารถนำเสนอตัวเลขและชี้ให้เห็นถึงความบกพร่องในการดำเนินนโยบายของรัฐบาลหลายจุด

ทั้งๆ ที่พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลเกือบ 2 ปีแล้ว แต่ยังไม่มีความเด็ดขาด เรียกได้ว่ายามนี้พรรคเพื่อไทยกำลังเมาหมัดอย่างหนัก

ในภาวะวิกฤตทางมลพิษเช่นนี้ กำลังเปลือยตัวตนของ 'แพทองธาร' และแกนนำรัฐบาล ที่แสดงให้เห็นว่าเป็นรัฐบาลได้ แต่บริหารงานให้มีประสิทธิภาพไม่ได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบรรดาคนเพื่อไทยขาดความกล้าในการถอนรากถอนโคนต้นตอของปัญหาให้เด็ดขาด โดยเฉพาะการไม่กล้าประกาศเขตมลพิษ เพื่อให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจในการดำเนินการอย่างเต็มที่ เนื่องจากไม่อยากให้กระทบต่อการท่องเที่ยว หรือแม้แต่การใช้มาตรการที่เข้มงวดกับการทำกิจกรรมทางการเกษตร พรรคเพื่อไทยเองก็ทำแบบชักเข้าชักออก เพราะการไปเข้มงวดมากเท่าไหร่ อาจกระทบต่อฐานคะแนนของพรรคและกลุ่มทุนใหญ่ที่เกี่ยวข้อง

ในทางกลับกัน ยิ่งสถานการณ์มลพิษทางอากาศเลวร้ายมากเท่าไหรก็จะยิ่งส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยรวมมากขึ้นเท่านั้น โดยงานวิจัยของ รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช รองศาสตราจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า ในกรุงเทพฯ มูลค่าต้นทุนความเสียหายทางเศรษฐศาสตร์จากฝุ่น (PM 10, PM 2.5, CO, NOx, NO2) ของกรุงเทพฯ จะมีมูลค่าสูงถึง 446,023 ล้านบาทต่อปี และแม้ว่าปัจจุบันยังไม่มีงานศึกษาที่ครอบคลุมทั่วประเทศเกี่ยวกับการประเมินต้นทุนความเสียหายทางเศรษฐศาสตร์จากฝุ่น PM 2.5 แต่ข้อมูลจากรายงานของ World Bank และ Institute for Health Metrics and Evaluation (2016) ชี้ให้เห็นว่ามลพิษทางอากาศในประเทศไทยส่งผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพและเศรษฐกิจ

ที่ผ่านมารัฐบาลพรรคเพื่อไทยประกาศมาตลอดว่ามีความเชี่ยวชาญในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ครั้งนี้จะเป็นพิสูจน์ครั้งสำคัญว่าจะทำได้อย่างที่พูด หรือจะมีดีแค่คำพูดอย่างเดียว ซึ่งอาจเดิมพันและราคาที่ต้องจ่ายมากกว่าที่พรรคเพื่อไทยคิดเอาไว้ก็ได้

--------------------------------
**หมายเหตุ
แอป Sondhi App ดาวน์โหลดได้แล้ว
ระบบ iOS ไปที่ AppStore :https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play :https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android

**ขอแนะนำ ThaiTimes โซเชียลมีเดียของคนไทย
ไม่ปิดกั้นเนื้อหา - แชร์รูปภาพและวิดีโอ - ติดตามข่าวสารล่าสุดได้อย่างอิสระ
มีให้ Download ได้แล้วทั้งในระบบ iOS และใน Android
iOS :https://apps.apple.com/th/app/thaitimes-social/id6502225132
Android :https://play.google.com/store/apps/details...
และhttps://thaitimes.co


กำลังโหลดความคิดเห็น