xs
xsm
sm
md
lg

เร่งแก้ปัญหาโรคอ้วนในเด็กและโรค NCDs เล็งออกกฎหมายคุมการตลาด 4 กลุ่มอาหาร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โรคอ้วนไม่ใช่โรคติดต่อแต่คนทั่วโลกกำลังเป็นโรคอ้วนเพิ่มมากขึ้นอย่างน่ากังวล เด็กไทยวันนี้เป็นโรคอ้วนมากขึ้นเป็นสองเท่าของคนรุ่นพ่อแม่ หากแก้ไขไม่ได้ อีก 5-6 ปีข้างหน้า คนที่เดินมาสองคนจะอ้วนหนึ่งคน และต่อไปเราจะพบว่าคนที่ไม่อ้วนจะกลายเป็นคนส่วนน้อยในสังคม

นอกจากนั้น ปัจจุบันเด็กไทยเผชิญกับกลยุทธ์การตลาดที่มุ่งเป้าจูงใจให้บริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่หวานมันเค็มสูงจนเป็นสาเหตุของโรคคอ้วนมาก เครือข่ายด้านสุขภาพเร่งผลักดันกฎหมายคุมการตลาดอาหารหวาน มัน เค็ม เช่น ขนมขบเคี้ยว ขนมอบ ขนมหวานและไอศครีม และเครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิด พร้อมรณรงค์ปรับพฤติกรรมเด็กไทย

การตลาดที่มุ่งเป้าเด็กจำเป็นต้องถูกควบคุม
 
ดร.นงนุช จินดารัตนาภรณ์ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ระบุว่า ร้อยละ 88 ของผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่วางขายในร้านค้าปลีก มีปริมาณไขมันน้ำตาลและโซเดียมสูงเกินเกณฑ์โภชนาการตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก มีการใช้เทคนิคที่มุ่งเป้าดึงดูดจูงใจเด็ก เช่น การทำการตลาดและวางจำหน่ายในสถานศึกษา การโฆษณา การใช้การ์ตูนและเนื้อหาที่ดึงดูดใจให้เกิดความอยาก การจำหน่ายแบบตรงและออนไลน์ การจูงใจด้วยราคา การแลกหรือชิงโชครางวัล แถมของเล่น การเป็นผู้ให้ทุนอุปถัมภ์สนับสนุนกิจกรรมของเด็ก เป็นต้น เด็กไทยประมาณ 70-80% พบเห็นสื่อและเทคนิคการตลาดอาหารเหล่านี้ในชีวิตประจำวัน การตลาดที่ขาดการควบคุมจึงกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมเลือกซื้อและบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารที่มีไขมันน้ำตาลและโซเดียมมากขึ้นและจำเป็นต้องถูกควบคุม


ดร.นงนุช อธิบายว่า การที่เด็กพบเห็นโฆษณาการทำการตลาดบ่อยๆ ของอาหาร จะสร้างผลกระทบในระยะสั้นคือ เด็กจะเกิดการจดจำ ยิ่งเห็นซ้ำๆ ยิ่งสร้างการจดจำ ยิ่งถ้าโฆษณานั้นใช้คนดัง หรือมีตัวการ์ตูนที่เด็กชอบ ก็ยิ่งทำให้เด็กชื่นชอบในผลิตภัณฑ์นั้นมากขึ้น ในระยะกลางเด็กจะเริ่มเข้าใจว่า อาหารเหล่านั้นอร่อย ด้วยเทคนิคการโฆษณาที่ตีกรอบให้เด็กเข้าใจและเชื่อแบบนั้นด้วยตัวเด็กยังขาดการตระหนักรู้ หรือ รู้ไม่เท่าทันสื่อโฆษณา ในระยะยาวจะนำไปสู่การซื้อการบริโภคที่เพิ่มขึ้น เด็กจะเกิดความเคยชิน จะติดรสชาติจนทำให้รู้สึกว่านี่คือรสชาติปกติ ไม่มัน ไม่เค็ม ไม่หวาน เกินไป และบริโภคอาหารเหล่านั้นจนกลายเป็นเรื่องปกติ กลายเป็นบรรทัดฐานของเขา ในที่สุดเขาก็จะไม่ได้สนใจว่ารสชาติหวาน มัน เค็ม มีผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไร นอกจากนี้เมื่อเด็กพบเห็นโฆษณาโดยใช้คนดังเป็นผู้แสดงแบบ เด็กจะชอบอาหารเหล่านี้มากขึ้นประมาณ 23% และอีก 22% มีแนวโน้มที่จะซื้ออาหารเหล่านี้ หรือว่าถ้าเป็นเด็กเล็กๆก็จะร้องขอให้พ่อแม่ซื้อจนพ่อแม่ต้องยอมตามใจ

“เราได้ทำการสำรวจกับเด็กทั่วประเทศไทยจำนวน 4,117 คน ที่มีอายุ 6 -18 ปี เกี่ยวกับพฤติกรรมการกินอาหารที่มีน้ำตาล เกลือ ไขมันสูง พบว่าเด็ก 9ใน 10 คนกินขนมขบเคี้ยวและเครื่องดื่มรสหวาน ในขณะที่ 8 ใน 10 คนกินพวกอาหารกึ่งสำเร็จรูป และ 7 ใน10 คน ที่ชอบกินพวกขนมหวานที่เป็นพวกช็อกโกแลต ไอศคีรม เยลลี่ วุ้น อาหารพวกนีมีโอกาสทำให้อ้วนสูงมาก กุมารแพทย์พบว่า เด็กที่เป็นโรคอ้วนมีอายุต่ำน้อยลงเรื่อยๆ ก็คือเด็กตั้งแต่อายุ 6 ขวบก็เริ่มพบเคสที่เป็นเบาหวานที่เชื่อมโยงกับพฤติกรรมการกินที่ไม่เหมาะสม”

จุดเทียนรณรงค์สร้างความรอบรู้ท่ามกลางพายุการตลาด

ทันตแพทย์หญิงปิยะดา ประเสริฐสม นักวิชาการผู้ขับเคลื่อนเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานให้ข้อสังเกตว่า แม้ที่ผ่านมาประเทศไทยจะมีการรณรงค์ส่งเสริมสุขภาพอย่างกว้างขวาง แต่ทว่าในสภาพแวดล้อมที่เด็กได้พบเห็นโฆษณาและกิจกรรมทางการตลาดทางสื่อโดยเฉพาะเมื่อเด็กได้ใช้มือถือและระบบการเซ็นเซอร์สื่อไม่อาจจะจัดการได้ ทำให้การที่จะสร้างความรอบรู้และปลูกฝังพฤติกรรมที่ดีให้กับเด็กๆ เป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะแม้แต่ผู้ใหญ่ก็ยังไม่อาจจะต้านทานกระแสสังคมที่สื่อและการตลาดโหมสร้างขึ้นจึงเรียกร้องทุกภาคส่วนมุ่งเป้าที่การปกป้องเด็กจากภัยคุกคามสุขภาพ


หนุนรัฐออกกฎหมายควบคุมการตลาดที่มุ่งเป้าเด็กร่วมกับเร่งสร้างความรอบรู้สุขภาพ

องค์การอนามัยโลกได้ให้แนวทางการแก้ปัญหาโดยใช้กฎหมายและนโยบายภาครัฐเข้ามาจัดการ โดยมีต้นแบบกว่า 20 ประเทศทั่วโลก สมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย ( Association of Thai NCD Alliance) โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกรมอนามัยและภาคีสุขภาพ จึงได้ร่วมกันจัดทำ ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่มีผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก เป้าหมายคือ ลดการพบเห็นกลยุทธ์การทำตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และเพื่อส่งเสริมให้เด็กมีสุขภาพดี ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วนและโรคโรคติดต่อในอนาคต ซึ่งมาตรการในกฎหมายใหม่นี้ไม่ซ้ำซ้อนกับมาตรการที่มีอยู่

“การมีกฎหมายนี้จะเป็นประโยชน์แน่นอน และจะมีประโยชน์มากจะช่วยให้บุคลากรที่ทำงานต่อสู้แก้ปัญหาโรคติดต่อโรคอ้วนต่างๆ ทำงานได้สำเร็จมากขึ้น และจะช่วยลดภาระค่ารักษาพยาบาลที่จะเกิดขึ้นได้ด้วยจะช่วยป้องกันและลดผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจทางด้านคุณภาพของประชากรของประเทศ” ทันตแพทย์หญิงปิยะดา กล่าว

ชวนทุกภาคส่วนเร่งมือผลักดันเพื่อประโยชน์ของเด็กและส่วนรวม

ปัจจุบันร่างกฎหมายถูกเคี่ยวจนมีความพร้อมที่จะนำเสนอต่อรัฐบาลและตอบคำถามของสาธารณะในทุกมิติ แล้ว โดยได้เสนอเครื่องมือปกป้องเด็กถึง 9 เครื่องมือ 9 มาตรการสำคัญ ดังนี้

1) มาตรา 14 ควบคุมฉลากและบรรจุภัณฑ์ (Label and packaging) โดยกำหนดให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้าอาหารฯ ต้องไม่ใช้เทคนิคดึงดูดเด็กบนซอง กล่อง ขวด ฯลฯ เช่น ต้องไม่ใช้ภาพการ์ตูน ดารา หรือคนมีชื่อเสียงที่จะชี้นำและชักจูงเด็กได้ และควรให้แสดงสัญลักษณ์กำกับบนหน้าซองที่เข้าใจง่ายว่าอาหารหรือเครื่องดื่มนั้นมีไขมัน น้ำตาล หรือโซเดียมสูง ซึ่งเป็นการแจ้งเตือนภัยให้กับเด็กและผู้ปกครองเพื่อให้ตัดสินใจเลือกซื้ออาหารและเครื่องดื่มที่เหมาะสมมากขึ้น

2) มาตรา 15 ควบคุมการแสดงความคุ้มค่าด้านราคา (Pricing and displaying) โดยกำหนดให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้าอาหารฯ ต้องต้องไม่แสดงความคุ้มค่าด้านราคาในฉลาก หรือ ณ จุดจำหน่ายของอาหารฯที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานโภชนาการที่กำหนด เช่น เปรียบเทียบปริมาณกับราคา ป้ายเพิ่มปริมาณไม่เพิ่มราคา หรือ ป้ายที่สื่อความคุ้มค่าด้านปริมาณที่จะจูงใจให้ซื้อมากขึ้น
3) มาตรา 16 ควบคุมการจำหน่ายในสถานศึกษา (Place and distribution channel) สถานศึกษาระดับต่ำกว่าอุดมศึกษา ทั้งปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษา ต้องไม่มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานโภชนาการที่กำหนด

4) มาตรา 17 ควบคุมการโฆษณา (Advertising) โดยต้องไม่มีผู้ใดโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก ทั้งทางโทรทัศน์ วิทยุ ระบบขนส่งสาธารณะ และสื่อออนไลน์ที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ทางการค้า

5) มาตรา 18 ควบคุมการส่งเสริมการขาย (Sale promotion) โดยกำหนดให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่าย หรือตัวแทน ต้องไม่ทำการส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์อาหารที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก เช่น แลก แจก แถม ให้ชิงโชค ชิงรางวัล


6) มาตรา 19 ควบคุมการบริจาค มอบหรือให้ผลิตภัณฑ์อาหารที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก (เป็นสปอนเซอร์และกิจกรรมทางสังคมเพื่อการตลาด) (Sponsorship marketing / Corporate social responsibility : CSR)) โดยกำหนดให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่าย หรือตัวแทน ต้องไม่ดำเนินการดังกล่าวในสถานศึกษาและสถานที่ศูนย์รวมของเด็ก

7) มาตรา 20 และ 21 ควบคุมการบริจาค มอบ ให้ และสนับสนุนสิ่งของอุปกรณ์ของใช้หรืองบประมาณ (เป็นสปอนเซอร์และกิจกรรมทางสังคมเพื่อการตลาด) (Sponsorship marketing / Corporate social responsibility : CSR) โดยกำหนดให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่าย หรือตัวแทน หากจะบริจาค มอบ ให้ และสนับสนุนสิ่งของอุปกรณ์ของใช้หรืองบประมาณในการจัดกิจกรรมใดแก่เด็ก ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม จะต้องไม่เชื่อมโยงโดยตรงถึงผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก

8) มาตรา 22 ควบคุมการจัดตั้งกลุ่ม ชมรม ชุมชนออนไลน์ (Online marketing) โดยจะต้องไม่มีผู้ใดสนับสนุนให้เกิดการบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็กเพื่อประโยชน์ทางการค้า ทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์

9) มาตรา 23 และมาตรา 24 ควบคุมการติดต่อชักชวนหรือจูงใจเด็ก (Direct marketing) โดยกำหนดให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่าย หรือตัวแทน จะต้องไม่ติดต่อชักชวนหรือจูงใจเด็ก เพื่อสนับสนุนให้เกิดการบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก

4 กลุ่มอาหารแรก ที่จะถูกควบคุมการตลาด

หากกฎหมายประกาศใช้แล้ว ในระยะแรกจะมุ่งเป้าไปที่อาหาร 4 กลุ่มหลัก ที่เด็กมีการบริโภคบ่อย มีปริมาณไขมัน น้ำตาล โซเดียม สูง และมีการทำการตลาดมาก ได้แก่ 1.ขนมขบเคี้ยว 2.ขนมอบ 3.ขนมหวานและไอศครีม 4.เครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท จะต้องถูกนำเข้าสู่กระบวนการคัดกรองเกณฑ์มาตรฐานโภชนาการ หากไม่ผ่านเกณฑ์ที่กำหนดจะถูกควบคุมการตลาดด้วยมาตรการต่างๆ ภายใต้กฎหมายนี้




กำลังโหลดความคิดเห็น