xs
xsm
sm
md
lg

“หมอหมู” เผยเคสคนไข้อ่านฉลากยาผิด 1 เดือน ทานไอบูโพรเฟน 1,176 เม็ด เกือบตาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หมอหมู วีระศักดิ์ เผยเคสคนไข้สุดอันตรายอ่านฉลากยาผิด 1 เดือน ทานไอบูโพรเฟน 1,176 เม็ด สุดท้ายพบเลือดออกในกระเพาะและหลอดอาหาร รวมถึงภาวะไตวายเฉียบพลัน

วันนี้ (24 ม.ค.) เพจ “หมอหมู วีระศักดิ์” หรือ รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ได้โพสต์ระบุข้อความว่า "เกือบตุย! อ่านฉลากยาผิด 1 เดือน ทานไอบูโพรเฟน 1,176 เม็ด ชายคนหนึ่ง เป็นนักวิ่ง ซึ่งเขามีปัญหาเรื่องอาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง เขาจึงเริ่มทานยาไอบูโพรเฟน เพื่อบรรเทาอาการปวด แต่เนื่องด้วยเขาอ่านจำนวนเม็ดยาที่เขาควรจะทานในแต่ละครั้งผิด จึงทำให้เขาทาน ยาไอบูโพรเฟน ครั้งละ 7 เม็ด วันละ 28 เม็ด (4 เวลา) และต่อเนื่อง 1 เดือน เขาทานไป 1,176 เม็ด หลังจากนั้น เขาเริ่มอาเจียนเป็นเลือด อุจจาระมีสีคล้ำผิดปกติ ปัสสาวะลำบาก มีอาการเวียนศีรษะ และเหนื่อยล้า ในที่สุดเขาก็ไปโรงพยาบาลซึ่งแพทย์สังเกตเห็นว่าเขาหน้าซีดมาก ความดันโลหิตของเขาจะลดลงเมื่อเขาลุกขึ้น และอัตราการเต้นของหัวใจก็สูงอย่างไม่น่าเชื่อ

แพทย์ตรวจวินิจฉัยพบ บาดแผลเลือดออกในกระเพาะและหลอดอาหาร รวมถึงภาวะไตวายเฉียบพลัน ซึ่งเขาต้องนอนพักรักษาตัวอยู่ภายใน รพ. นานพอควร เพื่อรักษาอาการดังกล่าว แต่ก็โชคดี ในที่สุด เขาก็สามารถฟื้นตัวได้เป็นปกติ

ไอบูโพรเฟนมักถูกกำหนดให้ใช้กับอาการต่างๆ เช่น อาการปวดหลังและอาการปวดที่เกิดจากการบาดเจ็บและเคล็ดขัดยอก ผู้ใหญ่สามารถรับประทานได้ 200 ถึง 400 มิลลิกรัม (มก.) ต่อครั้ง ทุก 4 ถึง 6 ชั่วโมง โดยสูงสุดคือ 1,200 มก. ต่อวัน

อันตรายจากไอบูโพรเฟน 5 ประการ
1. ภาวะหัวใจล้มเหลว
ยา Ibuprofen ออกฤทธิ์ยับยั้งการสังเคราะห์พรอสตาแกลนดินส์ (Prostaglandins) ในเนื้อเยื่อของร่างกาย และยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไซโคลออกซิจิเนส 1 และ 2 (Cyclooxygenase: COX-1 และ COX-2) จึงมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ บรรเทาอาการปวด และลดไข้ แต่ด้วยฤทธิ์ของยาก็อาจทำให้ความดันโลหิตสูงและของเหลวในร่างกายเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลว ได้ถึง 2 เท่า หากทานในปริมาณมากกว่าที่กำหนดต่อเนื่อง

2. โรคกระเพาะอักเสบรุนแรง
อาการอาหารไม่ย่อยและอาการเสียดท้องเป็นผลข้างเคียงที่พบบ่อยมาก แม้จะรับประทานยาในขนาดที่ถูกต้องก็ตาม อย่างไรก็ตาม ผู้ที่รับประทานไอบูโพรเฟนมากเกินไปอาจพบผลข้างเคียง เช่น ปวดท้องอย่างรุนแรง เป็นแผลในกระเพาะอาหาร มีเลือดออกรุนแรงในระบบย่อยอาหาร และท้องเสีย

3. ภาวะไตวาย
ไตวายอาจเกิดขึ้นได้เมื่อใช้ไอบูโพรเฟนเกินขนาด โดยผู้ป่วยจะมีอาการบวมที่มือ ขา และเท้า และจะปัสสาวะออกน้อยหรือแทบไม่ออกเลย

4. สาเหตุของอาการปวดเรื้อรัง
อาการปวดเฉียบพลันอันเป็นผลจากการบาดเจ็บ เกี่ยวข้องกับการอักเสบ ซึ่งเป็นปฏิกิริยาตามธรรมชาติของร่างกายต่อการบาดเจ็บ ซึ่งไอบูโพรเฟนมีฤทธิ์ในการหยุดการอักเสบ อย่างไรก็ตาม การวิจัยแสดงให้เห็นว่ายานี้สามารถมีผลตรงกันข้ามได้ และเมื่อเวลาผ่านไป อาการปวดเฉียบพลันอาจกลายเป็นเรื้อรัง

5. ตับวาย
การทานไอบูโพรเฟนในปริมาณที่มากต่อเนื่อง จะเพิ่มระดับเอนไซม์อะมิโนทรานสเฟอเรส (ALT) ซึ่งจะถูกปล่อยออกมาเมื่อเซลล์ตับตายหรือได้รับความเสียหาย การเพิ่มขึ้นนี้สามารถนำไปสู่ความเสียหายของตับหรือโรคตับได้ ด้วยเหตุนี้ จึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานไอบูโพรเฟนร่วมกับสารใดๆ ที่อาจทำลายตับ เช่น แอลกอฮอล์

ท้ายที่สุด อยากฝากถึงทุกท่านว่า ยาทุกชนิดต้องทานในปริมาณตามที่แพทย์สั่ง ไม่ควรเพิ่มปริมาณในการทานยาด้วยตนเอง และควรอ่านฉลากยาอย่างละเอียดทุกครั้งที่ทาน หากไม่แน่ใจ ควรปรึกษาแพทย์ นะครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น