สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายสร้างชุมชนต้นแบบ ถ่ายทอดความรู้ การสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์จากใบอ้อยและเถ้าชานอ้อย
ปัจจุบันมลพิษจากฝุ่นควัน หรือ PM 2.5 ถือเป็นปัญหาระดับชาติ ซึ่งสาเหตุหลักก็หนีไม่พ้นการเผาพื้นที่ทางการเกษตรเพื่อเริ่มการเพาะปลูกใหม่โดยเฉพาะการเผาไร่อ้อย จากข้อมูลปี 2565 ถึงปัจจุบันพบว่ามีใบอ้อยเหลือทิ้งและถูกเผาในไร่ประมาณ 12 ล้านตัน ทางรัฐบาลจึงมีโครงการส่งเสริมให้เกษตรกรนำใบอ้อยและเถ้าชานอ้อยมาสร้างมูลค่าเพิ่ม ทำให้นอกจากจะช่วยสร้างรายได้ ยังช่วยลดมลพิษอีกด้วย
โครงการพัฒนาเครื่องต้นแบบเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์จากใบอ้อยและเถ้าชานอ้อย เป็นความร่วมมือที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์ และพลังงานทดแทน โดยเน้นการใช้พลังงานที่ผลิตได้ภายในประเทศอย่างยั่งยืน พร้อมช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น ลดฝุ่น PM 2.5 และเพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชนเกษตรกร ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนระดับชุมชน
สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ร่วมกับ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และสำนักบริการวิชาการ ได้สร้างชุมชนต้นแบบและจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ในการสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์จากใบอ้อยและเถ้าชานอ้อย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างชุมชนต้นแบบเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์จากวัสดุเหลือใช้เถ้าชานอ้อย
ทั้งนี้ รศ.ดร.ศุภสิทธิ์ คนใหญ่ เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าวเป็นการสร้างชุมชนต้นแบบในการสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์จากใบอ้อยและเถ้าชานอ้อย และเป็นส่วนช่วยในการลดมลพิษจากฝุ่นควัน หรือ PM 2.5 โดยได้เลือกชุมชนต้นแบบในพื้นที่ บ้านท่าชัย ตำบลท่าชัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ซึ่งนำโดยผู้ใหญ่บ้าน นางรัตนาภรณ์ พลชะนะ ซึ่งเป็นพื้นที่ส่งเสริมของศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายภาคที่ 2 (ศอภ.2) ตำบลนครชุม อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร ในการนำใบอ้อยที่เหลือในแปลงปลูกอ้อยตลอดจนเถ้าชานอ้อยมาพัฒนาสร้างมูลค่าในรูปถ่านอัดแท่งที่ให้ค่าพลังงานความร้อนที่สูงและเกิดควันน้อยซึ่งเป็นที่ความต้องการของตลาด โดยผ่านการพัฒนางานวิจัยภายใต้โครงการฯ
การสร้างชุมชนต้นแบบนี้สามารถผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ได้จริง และช่วยนำทางการเพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือใช้ไปพัฒนาต่อยอดให้เกิดรายได้เสริมในระยะยาว อีกทั้งส่งเสริมการพัฒนากลุ่มอาชีพและเป็นตัวอย่างของชุมชนอื่นๆ ได้ : กิจกรรมในวันที่ 22 มกราคม 2568 ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ มหาวิทยาลัย และภาคประชาชน ในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงการดำเนินงานที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในหลายมิติ
ทั้งด้านการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน (SDG 8) ผ่านการสร้างอาชีพและรายได้ให้ชุมชน การสร้างนวัตกรรมในอุตสาหกรรม (SDG 9) ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่จากวัสดุเหลือใช้ การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (SDG 13) โดยการลดการเผาในพื้นที่เกษตร และการสร้างความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG 17) ระหว่างภาครัฐ สถาบันการศึกษา และชุมชน โดยคาดหวังว่าจะสามารถนำผลสำเร็จของโครงการเป็นต้นแบบและนำไปขยายผลในพื้นที่อื่นๆ มุ่งเน้นผลักดันให้เกิดธุรกิจพลังงานทดแทนระดับชุมชน สร้างรายได้เสริมให้เกษตรกร และนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลที่ยั่งยืน พร้อมลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนในชุมชน อีกทั้งเพื่อส่งเสริมการใช้วัสดุเหลือใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในระดับประเทศต่อไป