xs
xsm
sm
md
lg

ข้าวเน่าคาโกดังพิจิตร ฉีกหน้า “ภูมิธรรม” ประจานซ้ำจำนำข้าวล้มเหลว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ภูมิธรรม” อุตส่าห์กินข้าวเก่า 10 ปีโชว์ หวังฟอกขาวให้โครงการจำนำข้าวยุคยิ่งลักษณ์ แต่รูปธรรมความล้มเหลวยังโผล่ประจานไม่หยุด ล่าสุดคือกรณีโรงสีข้าวใน จ.พิจิตรออกมาทวงค่าเช่าโกดังและค่าแรงกรรมกรกว่า 300 ล้านบาท และหาผู้รับผิดชอบข้าวเน่าคาโกดัง รวมค่าเสียหายกว่าพันล้าน เคยร้องเรียนหลายหน่วยงาน รวมถึง “ภูมิธรรม” ฟ้อง อคส.แต่ไม่มีอะไรคืบหน้า



ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก” เมื่อวันศุกร์ที่ 10 มกราคม 2568 นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ ได้กล่าวถึงกรณีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อครั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้พยายามฟอกขาวให้โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ด้วยการจัดประมูลข้าวที่จังหวัดสุรินทร์ โดยก่อนการประมูลได้พาคณะสื่อมวลชนชุดใหญ่ลงพื้นที่จังหวัดสุรินทร์เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2567 แล้วกินข้าวโชว์เพื่อแสดงว่าข้าวเก่าเก็บ 10 ปีไม่เสีย


แต่หลังจากนั้นก็มีดรามาตามมาอีกหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเปิดประมูลข้าวล็อตนั้น ที่มีการอ้างว่าเป็นข้าวจากโครงการจำนำข้าวล็อตสุดท้าย และที่หลงเหลือจากการทุจริตในยุคยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปัญหาเรื่องคุณสมบัติของผู้ชนะการประมูล

หลังจากจัดฉากโชว์กินข้าวเก่า 10 ปีที่สุรินทร์เมื่อกลางปีที่แล้ว นายภูมิธรรมคิดว่าภารกิจสำเร็จแล้ว คงไม่ต้องมาแสดงอะไรโง่ๆ อย่างนี้อีก แต่คนคำนวณมิสู้ฟ้าลิขิต เข้าสู่ปี 2568 ได้เพียงไม่กี่วัน ที่จังหวัดพิจิตรมีโรงสีข้าวชื่อ สิงห์โตทองไรซ์ เจ้าของคือ นายมนต์ชัย รุ่งชาญชัย คนพื้นที่เรียกว่า "เสี่ยหรั่ง" ทำธุรกิจโรงสีข้าวมา 23 ปีกับภรรยาที่ชื่อ "ซ้อแรม" นางธัญญา รุ่งชาญชัย ปัจจุบันมีโรงสีข้าวที่ถือว่าใหญ่มาก กำลังผลิตถึง 4,000 ตันต่อวัน และมีคลังสินค้าใหญ่มาก กว่า 300,000 ตารางเมตร


เสี่ยหรั่งได้พาสื่อมวลชนเข้าไปดูกองข้าวเน่า 10 ปีที่อยู่ด้านหน้าโกดังเก็บข้าว คลังสินค้าหลังที่ A1 บรรจุในกระสอบป่านและถุงจัมโบ้ กองเรียงรายอยู่ด้านหน้าโกดังยาวเกือบ 300 เมตร เป็นข้าวเน่าเสื่อมสภาพเห็นได้ชัดเจน

นายมนต์ชัยบอกว่าได้ส่งหนังสือถึงองค์การคลังสินค้า (อคส.) หลายฉบับ ให้มาขนย้ายข้าวที่เน่าเสียออกจากหน้าโกดัง จนถึงวันนี้ก็ยังเพิกเฉยอยู่

เสี่ยหรั่งบอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นส่งผลให้เสียโอกาสทางธุรกิจ เพราะใช้ประโยชน์จากพื้นที่ที่กองข้าวเน่าอยู่ยาวเหยียดไม่ได้ มิหนำซ้ำยังส่งกลิ่นเน่าเหม็น เวลาลูกค้ามาติดต่อซื้อขาย เจรจาธุรกิจ เดินเข้ามาเห็นกองข้าวเน่าตรงนี้ก็เสียภาพลักษณ์ในการค้าขายไปมาก ทำให้การเจรจาต่อรองธุรกิจนั้นสูญเสียโอกาสไปหลายครั้งหลายครา ที่น่าแปลกคือ ถึงวันนี้ อคส.ยังส่งคนมาเช็กสต๊อกข้าวเน่าปีละ 2 ครั้ง แต่ไม่ยอมขนข้าวออกไปตามที่ร้องขอไว้

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เสี่ยหรั่งออกมาเคลื่อนไหว ที่ผ่านมาเคยร้องเรียนเรื่องกองข้าวเน่าที่ อคส.ปล่อยปละละเลยต่อหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เปิดโกดังให้สื่อมวลชนดูหลายครั้ง แต่ไม่มีใครเหลียวแลเลย แม้กระทั่งนายภูมิธรรม สมัยที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เคยโชว์กินข้าว 10 ปี

แต่ข้าวเน่าคาตาแบบนี้ ปีที่แล้วนายมนต์ชัยส่งหนังสือร้องเรียนไปที่นายภูมิธรรมแล้ว เปิดโกดังให้สื่อดูแล้ว แต่ก็เงียบกริบ พอเปลี่ยนรัฐบาล เปลี่ยนเป็นรัฐมนตรีที่ชื่อ พิชัย นริพทะพันธุ์ ก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้า ปีใหม่ 2568 นายมนต์ชัยเลยร้องเรียนอีกรอบ

เรามาดูความเป็นมาของเรื่องนี้อย่างละเอียดว่าเกี่ยวข้องกับความเสียหายโครงการจำนำข้าวในสมัยยิ่งลักษณ์ อย่างไร


ย้อนกลับไปปี 2554 (13 ปีที่แล้ว) สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เริ่มมีโครงการรับจำนำข้าว กระทั่งถึงปี 2557 อคส. หรือองค์การคลังสินค้า มาเช่าคลังสินค้าของนายมนต์ชัย จำนวน 15 หลัง ไว้เก็บข้าวสารตามโครงการรับจำนำข้าว ตั้งแต่ปี 2554-2556 ก่อนนำข้าวในคลังไปจำหน่ายเกือบหมดแล้ว แต่ปรากฏว่า อคส.ไม่ยอมจ่ายค่าเช่าคลังสินค้า และค่าแรงกรรมกร เป็นเงิน 232 ล้านบาท

มิหนำซ้ำ คลังสินค้าหลังที่ A1 และ A6 นำข้าวสารไปเก็บไว้เต็มโกดัง แต่ไม่ทำสัญญาเช่าคลัง ติดค้างค่าเช่าอีก 113 ล้านบาท

ต่อมา พฤษภาคม 2558 เกิดเพลิงไหม้ในคลังสินค้า สร้างความเสียหายให้กับข้าวสารจำนวนหนึ่ง เจ้าหน้าที่ อคส. พร้อมทั้งบริษัทประกันภัยได้ร่วมกันตรวจสอบแล้วขนย้ายข้าวออกมากองไว้ที่ด้านนอกคลังประมาณ 6,000 ตัน หรือประมาณ 60,000 กระสอบ (ข้าวสาร 1 กระสอบ = 100 กิโลกรัม)


หลังจากนั้น ปี 2558 ปีเดียวกัน อคส.ได้เบิกค่าสินไหมทดแทนจากบริษัท ทิพยประกันภัย ไปแล้ว 10 ล้านบาท ทางโรงสีได้ทำหนังสือถึง อคส.ให้มาขนย้ายข้าวสารหลายครั้ง มีการเคลียร์พื้นที่แล้ว แต่ อคส.บ่ายเบี่ยงไม่เคยมาสนใจข้าวสารที่เป็นทรัพย์สินของรัฐ คิดเป็นมูลค่า 60 ล้านบาทในเวลานั้น

ปี 2562 ในยุครัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา มีนโยบายเร่งระบายข้าวค้างในสต๊อกทั่วประเทศให้หมด อคส.จึงจัดประมูลข้าวในสต๊อกตามคลังสินค้าที่เหลืออยู่ รวมทั้งข้าวในคลังสินค้าโรงสีสิงห์โตทองไรซ์ จำนวน 140,000 ตัน ตอนนั้นโรงสีจึงส่งหนังสือโต้แย้ง คัดค้านการประมูลข้าว เพราะจะประมูลได้อย่างไร ในเมื่อ อคส.ยังไม่จ่ายเงินค่าเช่าคลังสินค้าและค่าแรงกรรมกร แถมยังไม่ยอมทำสัญญาเช่าคลังสินค้าอีก 2 หลังที่เอามาใช้ หาก อคส.ยังคงประมูลข้าวต่อไปทั้งที่ยังไม่จ่ายค่าเช่าคลังสินค้าและค่าแรงกรรมกรให้เรียบร้อย ต้องถือว่าไม่ให้ความเป็นธรรม ทำให้โรงสีได้รับความเสียหาย พร้อมกับสงวนสิทธิ์ยึดหน่วงข้าวค้างสต๊อกทั้งหมดในคลังสินค้า ห้ามขนย้ายข้าวสารออกไปจากคลังสินค้าโดยเด็ดขาด

ตอนนั้นตัวแทน อคส.อ้างว่าที่ทำสัญญาเช่าและเบิกจ่ายค่าเช่าคลังสินค้าไม่ได้ เพราะเป็นการทำสัญญาย้อนหลัง และช่วงนั้นกำลังเปลี่ยนผู้บริหาร อคส. แต่ได้หารือกับสำนักงานอัยการสูงสุด และกรมบัญชีกลางพิจารณาดูแล้ว อยู่ในระหว่างรอคำวินิจฉัย

หนึ่งปีให้หลัง อคส.เปิดประมูลขายข้าวคลังสินค้า A1 เป็นข้าวพลังงาน ได้ผู้ชนะการประมูลเรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้นก็ได้ขนย้ายข้าวออกไปจำนวนหนึ่ง แต่ไม่หมด ยังคงเหลือ 2,000 ตัน ที่ผู้ซื้อยังไม่มาขนย้ายไป และยังอยู่ในความดูแลขององค์การคลังสินค้า ทางเจ้าของคลัง คือโรงสี ไม่กล้าขนย้ายออก เพราะเป็นทรัพย์สินของรัฐ แต่พยายามหาหนทางติดต่อประสาน อคส. ชี้แจงด้วยเอกสารต่างๆ แล้ว แต่องค์การคลังสินค้าก็ยังเพิกเฉย จึงออกมาร้องเรียนอีกรอบเพื่อให้ อคส.รับผิดชอบเรื่องนี้


ปรากฏว่าผู้อำนวยการ อคส.ที่ชื่อ นายเกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต ชี้แจงว่า อคส.ยังสงวนสิทธิ์ในการเรียกค่าเสียหายที่โรงสีสิงห์โตทองไรซ์ไม่ส่งมอบข้าวให้กับผู้ชนะการประมูลข้าวในสต๊อกช่วงที่ผ่านมา ซึ่งได้ฟ้องศาลไปก่อนหน้านี้

นอกจากนี้ ยังฟ้องร้องค่าเสียหายโรงสีสิงห์โตทองไรซ์ 13 คดี กรณียึดหน่วงข้าวที่เหลือจากโครงการปรับปรุงข้าวบรรจุถุงผิดชนิด และข้าวดังกล่าวเกิดไฟไหม้ อยู่ในระหว่างเรียกค่าเสียหายจากโรงสี ประมาณ 3,640 ล้าน กรณีผิดสัญญาจ้างปรับปรุงข้าวถุง รวม 5 สัญญา ค่าเสียหายประมาณ 6,248 ล้าน

นายมนต์ชัยโต้กลับว่า โรงสีสิงห์โตทองไรซ์ได้ทำหนังสือปฏิเสธค่าเสียหายไปแล้วเมื่อปี 2562 ว่าไม่ได้เป็นผู้ผิดสัญญา ยืนยันได้ว่าส่งมอบข้าวสารที่เหลือจากการปรับปรุงบรรจุถุงคืนให้ อคส.ครบถ้วนตามบัญชี เมื่อปี 2557 และที่จริงฝ่ายตนต่างหากที่ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากสัญญาฝากเก็บรักษาข้าวสาร ปี 2556-2557 กว่า 100 ล้านบาท และ อคส.ได้ฟ้องแย้ง ซึ่งเรื่องอยู่ที่ศาลปกครองกลาง

ส่วนที่ อคส.ระบุว่าข้าวเน่าเสียอยู่ที่หน้าคลังสินค้าหลังที่ A1 ไม่ใช่ข้าว อคส. แต่เป็นข้าวของโรงสีนั้น ไม่ถูกต้อง เพราะเป็นข้าวของ อคส.ที่ย้ายออกจากคลังตอนเกิดเพลิงไหม้ สต๊อกข้าวเหนียวเสียหาย 4,181 กระสอบ และเมื่อปี 2558 ทาง อคส.ยังแต่งตั้งคณะกรรมการควบคุมดูแลการขนย้ายและคัดแยกข้าวสาร คณะทำงานยังมีข้อเสนอแนะให้ขนย้ายข้าวที่กองอยู่ด้านนอกคลัง ให้นำไปเก็บไว้คลัง A1 ที่ยังมีพื้นที่ว่าง สามารถใส่ข้าวได้ประมาณ 15,000 กระสอบ ถ้าข้าวนอกคลังสินค้า อคส.อ้างได้ว่าเป็นข้าวผิดชนิด ข้าวเสียหายจากไฟไหม้เป็นของโรงสีจริง เมื่อปี 2560 อคส.เบิกค่าสินไหมทดแทนจากบริษัท ทิพยประกันภัย ได้อย่างไร ก็ในเมื่อไปเบิกค่าสินไหมทดแทนจากบริษัท ทิพยประกันภัยเข้า อคส. แสดงว่า อคส.ต้องยืนยันกับบริษัท ทิพยประกันภัย ว่าข้าวต่างๆ เหล่านี้คือข้าวของ อคส.


เพราะมีเอกสารตามกรมธรรม์อัคคีภัย เลขที่ 1200-108-144385231 สรุปความเสียหายภายใต้การคุ้มครองโดยจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้ อคส. จำนวน 10,894,574 บาท หรือเกือบ 11 ล้านบาท

นอกจากนี้แล้ว ทางโรงสีได้ร้องทุกข์กล่าวโทษถึง ป.ป.ช.กำแพงเพชร เพราะ อคส.ได้ย้ายข้าวออกมากองไว้ข้างนอกคลัง 3,000-4,000 ตัน ตั้งแต่ปี 2558 ซึ่ง อคส.และเจ้าหน้าที่มีหน้าที่ต้องรักษาคุณภาพข้าวสารให้คงสภาพดี เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ กลับละเว้น ไม่ปฏิบัติหน้าที่ ไม่ได้ดูแลรักษาคุณภาพข้าวกว่า 5 ปี ทำให้ข้าวเน่าเสีย ถือว่าเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของ อคส.และเจ้าหน้าที่

“ความบัดซบของเรื่องนี้คือ ระบบราชการ ที่ผ่านมามีการเปลี่ยนตัวผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้ามาแล้วหลายคน ทุกคนบ่ายเบี่ยงตลอด คุณมนต์ชัย หรือเสี่ยหรั่ง ร้องขอความเป็นธรรมผ่านสื่อมวลชนเป็นประจำ เปิดเผยถึงพฤติกรรม อคส.ที่ไม่รับผิดชอบต่อทรัพย์สินของรัฐ ทำให้เกิดความเสียหายต่อภาครัฐ แล้วโรงสีได้รับความเสียหายต่อภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือในการประกอบธุรกิจ

“มาถึงปีที่แล้ว (2567) มีข่าวว่านายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (ในขณะนั้น) ประกาศประมูลข้าว 10 ปี ล็อตสุดท้าย 15,000 ตัน ที่จังหวัดสุรินทร์
คุณมนต์ชัย หรือเสี่ยหรั่ง ก็ออกมาบอกว่าไม่ใช่ล็อตสุดท้าย เพราะมีที่กำแพงเพชร เน่าคาโกดังอีก 3,000 ตัน เคยส่งหนังสือให้สั่งการขนข้าวออกจากคลัง พร้อมเรียกค่าเสียหายไปหลายพันล้านแล้ว หลัง อคส.โต้ว่าเป็นข้าวโรงสี แต่เบิกเคลมประกันภัยไฟไหม้ไป 10 ล้านบาท นายสนธิกล่าว


ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 นายมนต์ชัยได้ส่งหนังสือถึงนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (ในขณะนั้น) เพื่อร้องขอความเป็นธรรมกรณีได้รับความเสียหายจากการกระทำของ อคส. ในขณะที่ข้อเท็จจริง ยังมีเจ้าหน้าที่ของ อคส.เข้าตรวจเช็กสต๊อกสินค้าคงเหลือถึงปีละ 2 ครั้ง ในเดือนเมษายน และกันยายน ของทุกปี บริษัทฯ เป็นผู้ให้เช่าคลังสินค้าในโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปี 2551-2555 ทำสัญญาเช่าโดย อคส.รับผิดชอบ และจ้างบริษัทเซอร์เวเยอร์เป็นผู้ดูแลข้าวสารในโกดัง ซึ่งบริษัทได้ค่าเก็บข้าวกระสอบละ 2 บาทเท่านั้น ต่างจากโครงการรับจำนำข้าวปี 2556-2557 จะเป็นสัญญาฝากเก็บ โดยคลังและโกดังคู่สัญญาจะรับผิดชอบในการดูแลและรมยาให้ได้คุณภาพข้าวสารตามที่กำหนด หากเกิดความเสียหายขึ้นมาจะเก็บจากโรงสีหรือโกดังที่เป็นคู่สัญญา เป็นคนละสัญญา จะมาใช้เหมารวมกันไม่ได้ แล้วจะให้เรานำข้าวสารมาชดเชยคืน เรื่องอะไรต้องชดใช้ด้วย เพราะเราให้เช่าแค่โกดังเท่านั้นสำหรับเก็บข้าวสาร

ปรากฏว่าในขณะนั้นแหล่งข่าว อคส.เปิดเผยว่า นายเกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต อดีตผู้อำนวยการ อคส. ได้แจ้งผู้ประกอบการว่าข้าวจำนวนดังกล่าวเป็นของโรงสี รวมทั้งข้าวสารที่ขนมากองไว้หน้าคลัง ก็เป็นข้าวไม่มีคุณภาพ ดังนั้นเมื่อข้าวยังเป็นของโรงสีอยู่ อคส.จึงไม่มีหน้าที่ต้องชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยผิดนัดอันเกิดจากการขาดประโยชน์ในการใช้พื้นที่แก่บริษัท โดยต้องขนย้ายข้าวสารจากเหตุเกิดไฟไหม้ออกจากบริเวณคลังสินค้าหลัง A1 แต่อย่างใด มีความประสงค์ที่จะให้บริษัทดำเนินการส่งมอบข้าวสารคืนแก่ อคส. จำนวน 76,932 ตัน ซึ่งเป็นข้าวจำนวนเต็มที่ อคส.นำมาฝากเก็บให้ครบจำนวน และมีมาตรฐานตรงตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดด้วย ก็เลยกลายเป็นเรื่องที่คาราคาซังกันต่อไป


มาถึงปี 2568 นายมนต์ชัยเรียกร้องความเป็นธรรมต่อสื่อมวลชนอีกครั้ง หลังปัญหายืดเยื้อเข้าสู่ปีที่ 10 โดยพบว่า อคส.ได้อนุมัติยกเลิกการซื้อขายให้กับบริษัทผู้ชนะการประมูลไปแล้ว หลังทราบข่าวรู้สึกแปลกใจ เรียกร้องให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องตรวจสอบการทำงานของ อคส. ว่าผู้บริหารคนไหนเป็นผู้ลงนามในขณะนั้น เพราะการทำสัญญาซื้อขายข้าวสารแล้วไม่สามารถที่จะยกเลิกให้กับภาคเอกชนได้ ต้องขนสินค้าออกไปให้หมด

ยิ่งเป็นกรณีที่ซื้อขายในรูปแบบของอุตสาหกรรมพลังงานแล้ว ไม่มีทางใดที่จะยกเลิกได้เลย เพราะการประมูลซื้อเป็นชนิดใช้ทำพลังงาน จะถูกกว่าข้าวทุกชนิด ที่รัฐได้นำมาประมูลขายออก คือชนิดที่ประมูลเป็นอุตสาหกรรมพลังงาน (ห้ามนำไปให้คนและสัตว์บริโภค) จะเอาไปใช้ผลิตเป็นปุ๋ย ผลิตเป็นเอทานอล หรือนำไปเผาเป็นพลังงานผลิตกระแสไฟฟ้า จึงไม่มีเหตุผลใดที่ยกเลิกให้กับผู้ประมูลได้ทุกกรณี

ประเด็นต่อมา ขณะนั้นบริษัทได้ทำหนังสือแจ้งขอให้ขนย้ายข้าวออกจากนอกคลังสินค้า ซึ่งกีดขวางบริษัท ขาดประโยชน์ในการใช้พื้นที่ และกองข้าวเน่ายังทำให้บริษัทเสียภาพลักษณ์ แต่ผู้บริหาร อคส.เวลานั้นกลับทำหนังสือตอบกลับมาว่าไม่ใช่ข้าวของ อคส. แต่เป็นข้าวของโรงสี ที่ส่งคืนกรณีข้าวสารที่เหลือจากการบรรจุถุงคืนเข้าคลังแล้วเกิดเสื่อม ซึ่งกรณีรับคืนข้าวสารบรรจุถุงคืนเข้าคลังกลางนั้น จะมีบริษัทเซอร์เวเยอร์ และหัวหน้าคลังของ อคส.เป็นผู้ตรวจสอบคุณภาพและเป็นผู้รับผิดชอบคุณภาพข้าว จำนวนและปริมาณข้าวทั้งหมด ขณะที่คลังหลัง A1 นี้เป็นคลังสัญญาเช่า ผู้ให้เช่าไม่มีสิทธิ์ถือกุญแจคลัง และไม่ต้องรับผิดชอบในส่วนของความเสียหายที่จะเกิดขึ้นหลังจากเซอร์เวเยอร์และหัวหน้าคลังได้รับมอบแล้ว

ทางโรงสีมีหนังสือถามไปอีกครั้งว่า ถ้าไม่ใช่ข้าวขององค์การคลังสินค้า ก็ขอให้ อคส.ตอบหนังสือยืนยันมาอีกครั้ง แต่คราวนี้ อคส.ตอบกลับมาใหม่ว่า “ขอตรวจสอบอีกครั้ง”


ปัจจุบันก็ยังไม่ได้คำตอบว่าจะมาขนย้ายเมื่อไหร่ แต่ระหว่าง 9 ปีเศษที่ผ่านมา อคส.กลับมาเช็กสต๊อกสินค้าคงเหลือประจำปี ปีละ 2 ครั้ง ในรอบเดือนเมษายนหนึ่งครั้ง และในรอบเดือนตุลาคมอีกหนึ่งครั้ง ถ้าไม่ใช่ข้าวของ อคส. แล้วทำไมจึงต้องมาตรวจสอบสต๊อกคงเหลือถึงปีละสองครั้ง

ล่าสุดเจ้าหน้าที่ อคส.มาตรวจสอบสต๊อกคงเหลือ ตามบันทึกตรวจนับได้ประมาณ 20,000 กระสอบ มูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท ซึ่งเป็นความเสียหายของภาครัฐที่เกิดขึ้นจากการกระทำของผู้บริหาร อคส. ณ ขณะนั้น จึงขอให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ได้เข้ามาตรวจสอบความเสียหายและตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวด้วย

ปัจจุบันทางโรงสีได้ยื่นฟ้อง อคส.ต่อศาลปกครองกลาง จำนวน 8 คดีด้วยกัน มูลค่าความเสียหาย 1,030 ล้านบาทเศษ


เช่น คดีหมายเลขดำที่ 2565 / 2566 บ.สิงห์โตทอง ไรซ์ คอร์ปอเรชั่น ยื่นฟ้อง อคส. ต่อศาลปกครองกลาง เรียกค่าเช่าคลังหลัง A1 และค่าขาดประโยชน์ในการใช้พื้นที่ที่ อคส.เอาข้าวเน่ามากองทิ้งไว้ จำนวน 112,360,428 บาท

ก่อนหน้านี้ บ.สิงห์โตทอง ไรซ์ คอร์ปอเรชั่น ยังทำหนังสือร้องถึง ป.ป.ช.กำแพงเพชรไปแล้ว 2 ครั้ง ขอให้ลงพื้นที่ตรวจสอบความเสียหายในที่เกิดเหตุด้วย เรื่องก็เงียบ รวมทั้งได้ยื่นหนังสือถึงนายภูมิธรรม เพื่อร้องขอความเป็นธรรมกรณีได้รับความเสียหายจาก อคส.อีกทางหนึ่งด้วย แต่เรื่องก็เงียบเช่นกัน


"เรื่องนี้พิสูจน์ให้เห็นว่า ความพยายามของนายภูมิธรรม เวชยชัย สมัยที่เป็นรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ที่ประกาศว่าจะประมูลข้าวโครงการรับจำนำข้าวล็อตสุดท้าย และสาธิตกินข้าวเก่า 10 ปีโชว์ ซึ่งสังคมกังขาว่าเป็นการฟอกขาว เอื้อประโยชน์ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวนายทักษิณ ชินวัตร ที่หลบหนีคดีที่เกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวในอดีต

"แท้ที่จริงแล้วข้าวล็อตสุดท้ายในโครงการรับจำนำข้าว ไม่ใช่โรงสีที่นายภูมิธรรมกินข้าวโชว์ที่สุรินทร์ แต่เป็นโรงสีกำแพงเพชรตรงนี้ ที่แบกรับภาระค่าเสียหายจากค่าเช่าโกดังและค่าแรงกรรมกรกว่า 1 พันล้านบาท ถึงบัดนี้เปลี่ยนรัฐบาล เปลี่ยนรัฐมนตรี แต่มาจากพรรคเพื่อไทยเหมือนกัน ยังไม่มีใครหน้าไหนเหลียวแล"
นายสนธิกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น