xs
xsm
sm
md
lg

“เอกนัฏ” เปิดงานเสวนาประจำปี สศอ. “OIE Forum” ติดอาวุธอุตสาหกรรมไทย ดันดัชนี MPI ขยายตัวปี 2568

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“รมว.เอกนัฏ” เปิดและปาฐกถาพิเศษในงานประจำปี สศอ. (OIE Forum) ครั้งที่ 16 “Industrial Reform : ปฏิรูปอุตสาหกรรมไทยสู่เศรษฐกิจยุคใหม่” จัดโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ชูแนวคิด 3 ปฏิรูป 3 แนวทาง “สู้ เซฟ สร้าง” เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนแนวคิดขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ สร้างโอกาส พัฒนาขีดความสามารถการแข่งขัน ติดอาวุธอุตสาหกรรมไทยให้เติบโตยั่งยืน
วันที่ 8 มกราคม 2568 นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดงานและแสดงปาฐกถาพิเศษในงานประจำปี สศอ. (OIE Forum) ครั้งที่ 16 “Industrial Reform : ปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย สู่เศรษฐกิจยุคใหม่” ว่า ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมไทยยังคงเผชิญกับบททดสอบและความท้าทายใหม่ๆ ของโลกธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว หรือการเปลี่ยนแปลงผู้นำของประเทศมหาอำนาจที่อาจจะสร้างความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจและความมั่นคงระหว่างประเทศ การเติบโตของเทคโนโลยี AI ที่ก่อให้เกิดการแข่งขันและเปลี่ยนโฉมอุตสาหกรรมแบบก้าวกระโดด รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ล้วนส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมไทย

อย่างไรก็ดี สถานการณ์อุตสาหกรรมไทยยังมีแนวโน้มดีขึ้น สะท้อนจากภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) คาดการณ์ว่าในปี 2568 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) และ GDP ภาคอุตสาหกรรมจะมีแนวโน้มขยายตัว 1.5-2.5 เปอร์เซ็นต์ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการค้าระหว่างประเทศของไทยกับคู่ค้าหลักที่เติบโตต่อเนื่อง รวมทั้งการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการ การลงทุนภาครัฐผ่านการลงทุนขนาดใหญ่ และการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ให้เข้าถึงแหล่งทุนและสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ คาดว่าจะช่วยพยุงภาวะเศรษฐกิจภาพรวมให้ดีขึ้น

“ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ผมพร้อมยกระดับและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทยผ่านการปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมไทย ก้าวข้ามข้อจำกัด เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโลก เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และสร้างการเติบโตให้ภาคอุตสาหกรรมไทยในทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน” นายเอกนัฏกล่าว

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้กำหนดนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อสร้างโอกาสและการเติบโตให้กับภาคอุตสาหกรรมไทย ภายใต้วิสัยทัศน์ “การปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส” ผ่าน 3 ปฏิรูป 3 แนวทาง (สู้ เซฟ สร้าง) ได้แก่ ปฏิรูปที่ 1 “สู้” กับผู้ประกอบการที่ทำผิดกฎหมาย ทำร้ายชีวิตประชาชน บริหารจัดการกากอุตสาหกรรมทั้งระบบ คืนน้ำสะอาด แก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 สร้างอากาศบริสุทธิ์ให้คนไทย ปฏิรูปที่ 2 “เซฟ” สร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันของภาค อุตสาหกรรม และธุรกิจ SMEs สร้างโอกาส สร้างรายได้ และเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทย ปฏิรูปที่ 3 “สร้าง” อุตสาหกรรมใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเชื่อมโยงเศรษฐกิจโลก โดยขับเคลื่อนผ่าน 3 แนวทางสำคัญ ได้แก่ 1. การสร้างความร่วมมือพันธมิตรห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่สมบูรณ์แบบ เช่น ปรับมาตรการและสิทธิประโยชน์ เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และเชื่อมโยงผู้ผลิตไทยเข้าสู่ห่วงโซ่มูลค่าของอุตสาหกรรมหลักต่างๆ ของโลก 2. สร้าง Ease of Doing Business เช่น ปรับกฎหมายและภารกิจเข้าสู่ภาครัฐดิจิทัล เพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจด้วยระบบดิจิทัล เช่น e-License, e-Monitoring และ e-Payment และ 3. จัดตั้งกองทุนเพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรมเพื่อความยั่งยืน เน้นพัฒนาบุคลากรในสายอาชีพและอาชีวศึกษารองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมในอนาคต เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมไทยก้าวสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ที่ทันสมัย และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
ในระยะยาว

ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมไทยจำเป็นต้องเร่งปรับตัว พร้อมทั้งพัฒนาศักยภาพใหม่ๆ เพื่อรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้น และมุ่งสู่ “อุตสาหกรรมเศรษฐกิจยุคใหม่” ให้เติบโตบนพื้นฐานของความสมดุลและยั่งยืน โดย สศอ. เป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันภาคอุตสาหกรรมของประเทศ สร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างและความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจไทย โดยเน้นการบูรณาการกับทุกภาคส่วน พร้อมนำแนวคิด “สู้ เซฟ สร้าง”

และนโยบาย MIND ที่มุ่งเน้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมใน 4 มิติ ได้แก่ มิติที่ 1. การสร้างความสำเร็จทางธุรกิจ มิติที่ 2 การส่งเสริมความอยู่ดีกับสังคม มิติที่ 3 ความลงตัวกับกติกาสากล และมิติที่ 4 การกระจายรายได้สู่ชุมชนและสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ถือเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมยังได้ยกระดับการทำงานสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล เปิดตัวแพลตฟอร์ม i-Industry ระบบบริหารจัดการศูนย์ข้อมูลกลางของกระทรวง ที่ผู้ประกอบการสามารถลงทะเบียนเพื่อเข้าถึงบริการต่างๆ ได้อย่างสะดวก เช่น การขอใบอนุญาตแบบดิจิทัล (Digital-License) การชำระค่าธรรมเนียม (Digital-Payment) และการรายงานข้อมูลผ่านระบบ iSingleForm ซึ่งจะช่วยให้การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกและการออกแบบนโยบาย รวมถึงสร้างกลไกการพัฒนาอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับการลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานภายใต้กฎหมายของกระทรวงอย่างเข้มข้น ช่วยให้ผู้ประกอบการมีการประกอบกิจการที่ดี สามารถลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชุมชนและสังคมโดยรอบ

นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับงานประจำปี OIE FORUM ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 16 ถือเป็นกิจกรรมสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยสู่ความยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนมุมมองและแนวคิดในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน สนับสนุนผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการ SMEs เตรียมพร้อมรับมือกับบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ภายในงานประกอบด้วยกิจกรรมสำคัญ เช่น การปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย สู่เศรษฐกิจยุคใหม่” โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม การสรุปผลการดำเนินงานโดยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และเสวนาในหัวข้อ “ทิศทางการปฏิรูปอุตสาหกรรม ก้าวทันโลกยุคใหม่” ซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิจากแวดวงอุตสาหกรรมร่วมเสวนา ได้แก่ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงนิทรรศการผลการดำเนินงานที่สำคัญของ สศอ. รวมถึงการจัดแสดงผลงานของสถานประกอบการที่ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยม ประจำปี 2567 ได้แก่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย (จำกัด) (โรงงานเกตเวย์) จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งจะเป็นทูตอุตสาหกรรมภาคเอกชน หรือ MIND Ambassador ของกระทรวงอุตสาหกรรม ในการเป็นต้นแบบการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันภาคอุตสาหกรรมที่อยู่คู่กับชุมชนอย่างยั่งยืน โดยการจัดงาน OIE Forum ในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการนำเสนอนโยบายและแนวทางการปฏิรูปอุตสาหกรรมแล้ว ยังถือเป็นเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์และทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมที่จะช่วยให้เกิดการบูรณาการเชื่อมโยงแนวคิดเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยให้ก้าวไกลสู่อนาคตที่สดใส มั่นคง และยั่งยืนร่วมกัน
















กำลังโหลดความคิดเห็น