สมเด็จกรมพระศรีสวางควัฒนทรงบรรยายพิเศษ เรื่อง การเกิดโรคมะเร็ง พระราชทานแก่นักศึกษาหลักสูตรแพทยฯ ชั้นปีที่ 3 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในรายวิชา จภพบ 3304 พัฒนาการ พันธุศาสตร์ และโรคมะเร็ง
วันนี้ (7 มกราคม 2568) เมื่อเวลา12.29 น. ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จไปยังอาคารคณะแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เขตหลักสี่ ทรงบรรยายพิเศษ เรื่อง การเกิดโรคมะเร็ง หรือ Oncogenesis พระราชทาน แก่คณาจารย์ นักวิชาการ และนักศึกษาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต ชั้นปีที่ 3 ของคณะแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน รวม 64 คน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับองค์ประกอบพื้นฐานและความซับซ้อนของโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในรายวิชา จภพบ 3304 พัฒนาการ พันธุศาสตร์ และโรคมะเร็ง
เนื่องจากโรคมะเร็งเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตอันดับหนึ่งในประเทศไทย และมีแนวโน้มการเกิดอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นอยู่ตลอด ปัจจัยหลักมาจากการดำเนินชีวิตของมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งวงการวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้ความสำคัญกับการศึกษาค้นคว้า วิจัย พัฒนาด้านการตรวจวินิจฉัยและการรักษาโรค เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วย ตั้งแต่ "กระบวนการและขั้นตอนของการเกิดมะเร็งและชีววิทยาของเซลล์มะเร็ง" ประกอบด้วยหลายขั้นตอน มีความซับซ้อนในตัวเอง ยกตัวอย่างเช่น กลไกการเกิดมะเร็งจากสารเคมี โดย "ขั้นเริ่มต้น" เชื่อว่าสามารถแยกออกเป็น 2 รูปแบบ คือ กลไกที่ทำลาย หรือเปลี่ยนแปลงดีเอ็นเอโดยตรง และทำให้เกิดการกลายพันธุ์ จนภายหลังกลายเป็นเซลล์มะเร็ง เช่น การเกิดมะเร็งจากสาร อะฟลาท็อกซิน (Aflatoxin) ที่พบจากเชื้อราในเมล็ดธัญพืชชนิดต่างๆ และสาร เอ็น-ไนโตรซามีน (N-nitrosamine) ที่พบในอาหาร เช่น ปลาร้า กะปิ และเครื่องดื่มบางชนิด ส่วนกลไกที่ไม่ได้ทำลายดีเอ็นเอโดยตรงจะมีการทำปฏิกิริยาในระบบการควบคุมการแสดงออกของยีนส์ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและเกิดเป็นเซลล์มะเร็ง เมื่อเข้าสู่ "ขั้นก่อตัว" เซลล์จะถูกกระตุ้นให้เพิ่มจำนวนมากขึ้น และเข้าสู่ "ขั้นกระจายตัว" ทั้งนี้ เซลล์มะเร็งมีลักษณะทางชีววิทยาที่สำคัญ คือการแบ่งตัวอย่างไม่หยุดยั้ง และการเปลี่ยนแปลงในโปรตีน ซึ่งระยะแรกเซลล์มะเร็งจะอยู่รวมกันในบริเวณที่เกิดความผิดปกติ หากตรวจพบในระยะนี้ จะมีโอกาสยับยั้งและรักษาให้หายได้
ปัจจุบัน คณะแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นโรงเรียนแพทย์ลำดับที่ 23ของไทย ได้รับการรับรองตามเกณฑ์มาตรฐานสากลของ World Federation for Medical Education โดยสถาบันรับรองมาตรฐานการศึกษาแพทยศาสตร์และแพทยสภา จัดการเรียนการสอนในหลักสูตรที่ทันสมัยทั้งในระดับปริญญาตรี โท และเอก เพื่อมุ่งผลิตบัณฑิตแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นผู้นำด้านสุขภาพและการบริการทางการแพทย์ ที่มีความสามารถด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน เป็นกำลังสำคัญของการพัฒนาประเทศชาติต่อไป