เพจ "MTA-Rmu" ของสาขาเทคโนโลยีมัลติมีเดียและแอนิเมชัน มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม โพสต์ข้อความชี้แจงปมดรามามาสคอตมหาสารคาม "น้องปูกลอง" ค้านสายตา ชี้เป็นเรื่องของรสนิยม ยันการตัดสินโปร่งใส
จากกรณีดรามาการประกวด Mascot ประจำจังหวัดมหาสารคาม หลังสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดมหาสารคามได้ประกาศผลการตัดสินการประกวดออกแบบมาสคอต (Mascot) จังหวัดมหาสารคาม โดยผู้ชนะจะได้รับรางวัลมูลค่า 30,000 บาท
ซึ่งผลปรากฏว่ารางวัลชนะเลิศ ได้แก่ชื่อผลงาน "น้องปูกลอง" ชื่อผู้ส่งผลงานคือ นางสาวอิสราภรณ์ ลามี แต่กลับกลายเป็นดรามา หลังมีผู้ใช้เฟซบุ๊กจำนวนมากเข้ามาแสดงความคิดเห็นในเชิงไม่เห็นด้วย พร้อมวิพากษ์วิจารณ์ผลงานมาสคอตดังกล่าว
ล่าสุดวันนี้ (6 ม.ค.) เพจ "MTA-Rmu" ของสาขาเทคโนโลยีมัลติมีเดียและแอนิเมชัน มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ได้ออกมาโพสต์ข้อความชื่นชมนางสาวอิสราภรณ์ นามี นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวด Mascot ประจำจังหวัดมหาสารคามในครั้งนี้ โดยทางเพจได้ระบุข้อความว่า
"แนวคิดในการออกแบบ "น้องปูกลอง"
คือ ปูกลอง เป็นสัญลักษณ์ที่ผสาน ปูทูลกระหม่อม สัตว์เฉพาะถิ่นที่แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ กับกลองยาว และผ้าไหมลายสร้อยดอกหมาก ที่สื่อถึงศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวมหาสารคาม สีม่วงแสดงถึงความสง่างาม สีส้มสื่อถึงพลังและความสามัคคี ส่วนสีเหลืองสื่อถึงความรุ่งเรืองและความอบอุ่นในชุมชน
ความหมายและสัญลักษณ์
ปู: แสดงถึง ปูทูลกระหม่อม ซึ่งเป็นสัตว์ประจำจังหวัดมหาสารคาม
กลองยาว: แสดงถึง ศิลปะการแสดง ประเพณีและวัฒนธรรม
ผ้าไหมลายสร้อยดอกหมาก: แสดงถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวมหาสารคามที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น
ผ้าขาวม้า: แสดงถึงการอนุรักษ์ความเป็นไทย
และจากกระแสสังคมที่เกิดขึ้นในตอนนี้ ทางสาขาเทคโนโลยีมัลติมีเดียและแอนิเมชัน มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคามได้รับทราบถึงข้อมูลและกระบวนการตัดสินผลงานที่ชนะเลิศในการประกวดออกแบบมาสคอต (Mascot) จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งทุกกระบวนการเป็นไปด้วยความถูกต้อง โปร่งใส มีกระบวนการที่ชัดเจน ผลงานของนางสาวอิสราภรณ์ ลามี ได้แสดงถึงอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของจังหวัดมหาสารคามครบทุกองค์ประกอบ เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งจุดเด่นที่สำคัญคือ สามารถมองออกได้ง่ายว่าเป็นปูทูลกระหม่อมที่สื่อถึงจังหวัดมหาสารคาม
แต่เนื่องจากงานด้านศิลปะ ในเรื่องของความสวยงาม รสนิยมหรือความถูกใจของแต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกัน และไม่สามารถบังคับกันได้ ดังนั้น จึงขอให้ทุกท่านเคารพมุมมองของแต่ละคนด้วย
สำหรับการวิจารณ์ใดๆ ขอให้เป็นการวิจารณ์ที่เป็นไปอย่างสร้างสรรค์ ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ไม่มีอคติ สามารถแนะนำและให้ข้อเสนอแนะได้อย่างมีเสรีภาพในเชิงวิชาการ แต่ไม่ควรด้อยค่าบุคคลอื่นจนเกินความพอดี เนื่องจากนักศึกษาที่ออกแบบผลงานไม่ได้มีความผิด และนักศึกษาได้ส่งผลงานตามขั้นตอนและผ่านการเข้ารอบถึง 2 รอบ ทางสาขาฯ จึงขอความเห็นใจและขอให้ช่วยกันส่งกำลังใจให้น้องด้วย เพราะตอนนี้น้องก็รู้สึกกดดันอย่างหนักจากกระแสสังคมดังกล่าว และข้อความบางข้อความที่ไปกระทบกระเทือนจิตใจของน้อง อย่างไรก็ตาม ทางเราขอน้อมรับทุกการติชมจากทุกท่าน และจะนำความคิดเห็นจากหลายๆ ท่านไปปรับปรุงและพัฒนาน้องปูกลองให้ดียิ่งขึ้น ขอบพระคุณค่ะ"