เปิดความจริง “กองทัพว้า” รุกล้ำเขตแดนไทยด้านแม่ฮ่องสอน แค่ข่าวปั่นของ RFA สื่อโฆษณาชวนเชื่อของอเมริกา หวังกระพือความตึงเครียดขึ้นมาอีกครั้ง หลังการสู้รบระหว่างรัฐบาลพม่ากับชนกลุ่มน้อยในรัฐฉานเริ่มคลี่คลาย เผย “ว้าแดง” มีสถานะเป็นเหมือนรัฐกันชนระหว่างไทย-พม่ามานาน การลำแดนกันไปมาเกิดขึ้นเป็นปกติ แต่ไม่เคยรุนแรงถึงขั้นต้องรบกัน
ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก”เมื่อวันศุกร์ที่ 27 ธันวาคม 2567 นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการได้กล่าวถึงกรณี “ว้าแดง” ตั้งฐานทหารบริเวณชายแดนไทย-พม่า ด้านจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่มีการพูดถึงอย่างแพร่หลายมาตลอด 1 เดือนเต็มที่ผ่านมา
นายสนธิกล่าวว่า ข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ ในสื่อหลักและสื่อออนไลน์หลายแห่ง พบว่าไม่ได้หยิบข้อเท็จจริงมานำเสนอ ใช้เพียงโวหารหรือวลีที่รุนแรง เร้าใจ ปลุกปั่นอารมณ์ ความรู้สึกของคนไทยจำนวนหนึ่ง หวังทำให้เรื่องนี้ถูกพัฒนา กลายเป็นความขัดแย้งทางทหารระหว่างกองทัพของ 2 ประเทศ พยายามสร้างกระแสความโกรธแค้นทหารว้าที่รุกล้ำเขตแดนไทย และขยายผลไปเป็นความโกรธ เกลียดชัง “พม่า” และ “จีน” ซึ่งเป็นลูกพี่ใหญ่ของว้า
รวมถึงพยายามดูหมิ่นกองทัพไทย ด้อยค่าทหารไทย ที่ปล่อยให้ว้ามาตั้งฐานไว้บริเวณนี้ ว่าอ่อน ไม่กล้าทำอะไรกับว้า
เหมือนตั้งใจว่า จะต้องทำให้กองทัพไทยกับกองทัพว้ารบกันให้ได้ โดยใช้กรณีฐานของทหารว้าตรงนี้ เป็นต้นเหตุ
ข้อเท็จจริง
1. เขตแดนไทย-พม่า ยาวกว่า 2,400 กิโลเมตร นับจากบ้านสบรวก อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย หรือที่รู้จักกันว่าสามเหลี่ยมทองคำ เรื่อยลงไปจนถึงปลายแหลมวิคตอเรีย จังหวัดระนอง
แต่เขตแดนที่ได้มีการตกลงปักปันแบ่งพรมแดนกันอย่างชัดเจนแล้ว ยาวเพียง 59 กิโลเมตร เท่านั้น
ตามข้อมูลของแผนกเขตแดนไทย-พม่า ในเว็บไซต์กรมแผนที่ทหาร เขียนไว้ดังนี้
พ.ศ.2530 – 2531 ได้มีการสำรวจและปักปันเขตแดนแบบคงที่เฉพาะบริเวณแม่น้ำสาย–แม่น้ำรวก ในเขตจังหวัดเชียงราย ยาวประมาณ 59 กิโลเมตร โดยสร้างหลักอ้างอิงเขตแดนไว้ 492 คู่ คู่ที่ 1 อยู่ที่สบรวก สามเหลี่ยมทองคำ และคู่ที่ 492 อยู่ที่หัวเขาดอยคา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
รัฐบาลไทยและพม่าได้ลงนามให้สัตยาบันรับรองเส้นเขตแดนนี้ใน ปี 2535 ซึ่งหมายความว่า เส้นเขตแดนไทย–พม่า ตามลำน้ำสาย น้ำรวก จะคงที่ไม่ว่าแม่น้ำจะเปลี่ยนทางเดินไปอย่างไรก็ตาม
ปี 2540 ในการประชุมคณะกรรมการเขตแดนร่วมไทย-พม่า หรือ JBC (Joint Boundary Committee) ครั้งที่ 3 รัฐบาลสองประเทศ ได้ตกลงในหลักการให้มีการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนตลอดแนวในส่วนที่เหลือร่วมกัน แบ่งพื้นที่สำรวจเป็น 10 ตอน เริ่มตั้งแต่ด้านเหนือในเขตจังหวัดเชียงราย เรื่อยลงมาทางใต้ถึงปลายแหลมวิคตอเรียที่จังหวัดระนอง
แต่เนื่องจากไทยและพม่ายังมีความเห็นไม่ตรงกันเกี่ยวกับกรอบทางกฎหมาย (Legal Framework) ที่จะใช้เป็นแนวทางในการสำรวจ โดยฝ่ายพม่าต้องการให้ระบุคำพรรณนาเส้นเขตแดนอย่างละเอียดไว้ในบันทึกความเข้าใจ (MOU) แต่ฝ่ายไทยเห็นว่าหลักฐานทางกฎหมาย คือ สนธิสัญญา อนุสัญญา และแผนที่แนบท้ายก็เป็นหลักฐานเพียงพอที่จะให้ชุดสำรวจลงไปดำเนินการปักปันเขตแดนร่วมกันได้แล้ว
ดังนั้น จึงทำให้การสำรวจเขตแดนตลอดแนวยังไม่คืบหน้า ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเจรจาระดับกระทรวงการต่างประเทศ
2.ว้าเป็นใคร ?
"ว้า" เป็นชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในบริเวณตั้งแต่ภาคเหนือตอนบนของไทย ลาว ในรัฐฉาน ขึ้นไปจนถึงในมณฑลยูนนานของจีน
คนไทยรู้จักชนเผ่าว้าในอีกหลายชื่อ ตามประวัติศาสตร์ล้านนา เรียกชนเผ่าว้าว่า “ลัวะ” หรือ “ละว้า” ส่วนในรัฐฉาน หรือในจีน เรียก “ชนเผ่าว้า” ว่าเป็น “ชาวปลัง”
ส่วนที่เรามักเรียกชนเผ่าว้าเป็น “ว้าแดง” เพราะจุดกำเนิดของกองทัพว้า มาจากการเป็นกองกำลังติดอาวุธที่ได้รับการฝึกฝนจากพรรคคอมมิวนิสต์จีน
โดยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงที่จีนกำลังเปลี่ยนมาปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์เต็มตัว ทหารพรรคก๊กมินตั๋งที่เริ่มพ่ายแพ้ต่อพรรคคอมมิวนิสต์ ได้ถ่อยร่นหนีมาตั้งฐานอยู่บนเทือกเขาตามชายแดนที่ติดกับรัฐฉาน ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวว้า พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ส่งทหารมาฝึกอาวุธให้กับชนเผ่าว้า เพื่อใช้เป็นกำลังพลปราบปรามทหารก๊กมินตั๋ง
ต่อมา “กองทัพติดอาวุธชาวว้า” ที่ได้รับการฝึกฝนจากจีน ก็ได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในกองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์พม่า เพื่อต่อสู้กับกองทัพพม่า ในพื้นที่ตอนบนของรัฐฉาน
ประมาณปี 2530 พรรคคอมมิวนิสต์พม่าเริ่มอ่อนแอ และมีปัญหากันภายในพรรค กองกำลังติดอาวุธของชาวว้าจึงตัดสินใจแยกตัวออกมาจากพรรคคอมมิวนิสต์พม่า และได้เซ็นสัญญาหยุดยิงกับกองทัพพม่าใน เดือนเมษายน 2532 โดย กองทัพพม่าได้มอบพื้นที่ชายแดนรัฐฉาน-จีน สถาปนาเป็นเขตปกครองตนเองของกองทัพว้า เพื่อเป็นการตอบแทน
เขตปกครองตนเองชนชาติว้า หรือที่ตอนนี้รู้จักกันในชื่อเขต “ว้าเหนือ” อยู่ห่างจากชายแดนทางภาคเหนือของประเทศไทย 300 กว่ากิโลเมตร มีเมืองป๋างซาง หรืออีกชื่อหนึ่งคือเมืองปางคำ เป็นเมืองหลวง
เมืองป๋างซางอยู่ข้ามกับอำเภอปกครองตนเองชนชาติไต ลาหู่ และว้า เมิ่งเหลียน ที่ขึ้นกับจังหวัดผูเอ่อร์ มณฑลยูนนาน ของจีน
ส่วนพื้นที่ตอนบนของเขตว้าเหนือในรัฐฉาน ก็อยู่ติดกับเขตปกครองตนเองชางหยวนว้า และเขตปกครองตนเองชนชาติไตและว้า กึ่งม้า ที่ขึ้นกับจังหวัดหลินชาง ของมณฑลยูนนาน
3. แนวคิดเรื่องรัฐกันชน
แม้กองทัพว้าได้แยกตัวออกจากพรรคคอมมิวนิสต์พม่า แต่รัฐบาลกลางของจีนก็ยังให้การสนับสนุนกองทัพว้าในหลาย ๆ ด้าน เหตุผลเนื่องจากจีนต้องการให้เขตปกครองตนเองชนชาติว้า เป็นเหมือนรัฐกันชนระหว่างจีนกับพม่าที่ไม่เอาระบอบคอมมิวนิสต์
แนวคิดเรื่องรัฐกันชนไม่ได้ถูกใช้เพียงแค่ในจีน ประเทศไทยเองก็ได้ใช้แนวคิดนี้ โดยให้การสนับสนุนกองกำลังติดอาวุธของชาติพันธุ์หลายกลุ่มที่เคลื่อนไหวอยู่บริเวณชายแดนที่ติดกับพม่าเพื่อใช้เป็นกันชน เช่น การสนับสนุนกองทัพกะเหรี่ยงทางชายแดนด้านตะวันตกที่ติดกับจังหวัดตาก
ในภาคเหนือ “กองทัพเมิงไต (MTA)” ที่เคลื่อนไหวอยู่ในเขตรัฐฉาน ฝั่งตรงข้ามกับจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอนของไทย ก็ถือเป็นรัฐกันชนระหว่างไทยกับพม่า
เพียงแต่ “กองทัพเมิงไต” มีขุนส่าเป็นผู้นำ และเงินทุนที่กองทัพเมิงไตนำไปใช้ซื้ออาวุธมาจากการค้ายาเสพติด ภาพของขุนส่าจึงถูกมองเป็นราชายาเสพติดที่อาศัยพื้นที่ชายแดนรัฐฉาน-ไทย เป็นแหล่งผลิต
แต่ในสายตาของชาวไทใหญ่ ขุนส่าเป็นดั่งวีรบุรุษกู้ชาติ สามารถสร้างกองทัพเมิงไตให้เป็นกองทัพติดอาวุธชาติพันธุ์ไทใหญ่ที่แข็งแกร่ง กองทัพพม่าเคยพยายามบุกปราบกองทัพเมิงไตอยู่หลายครั้ง แต่ก็ไม่สำเร็จ
กองบัญชาการใหญ่ของกองทัพเมิงไตอยู่ในเขตบ้านหัวเมือง จังหวัดลางเคอ ตรงข้ามกับจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีพื้นที่ปฏิบัติการครอบคลุมเขตจังหวัดเมืองสาต เมืองโต๋น ฝั่งตรงข้ามกับจังหวัดเชียงใหม่ และเชียงรายของไทย
กองทัพเมิงไตได้นำทหารมาตั้งฐานปฏิบัติการไว้บนสันเขาที่เป็นพื้นที่รอยต่อระหว่างภาคเหนือของไทยกับรัฐฉาน เพื่อใช้สู้รบกับทหารพม่า
ฐานของทหารว้า 7 แห่ง บนยอดดอยพื้นที่รอยต่อกับเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งกำลังเป็นประเด็นอยู่ในขณะนี้ ส่วนหนึ่งก็เคยถูกใช้เป็นฐานของกองทัพเมิงไตมาก่อน
ย้อนไปเมื่อ 34 ปีก่อน ใน ปี 2533 ในยุคที่พม่ามี พล.อ.ขิ่น ยุนต์ เป็นผู้นำ กองทัพพม่าได้เปลี่ยนกลยุทธมาใช้สงครามตัวแทนเพื่อจัดการกับกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์กลุ่มต่างๆ กองทัพพม่าได้ให้กองทัพว้า ซึ่งตอนนั้นมีพื้นที่ปกครองตนเองอยู่ที่เดียวในเขตว้าเหนือ ชายแดนรัฐฉาน-จีน ส่งกำลังทหารจากเมืองป๋างซางลงมาทางใต้ เพื่อช่วยทหารพม่ารบกับทหารไทใหญ่ของกองทัพเมิงไต ตามแนวชายแดนที่ติดกับไทย
กองทัพพม่าให้เงื่อนไขจูงใจกองทัพว้าว่า พื้นที่ไหนที่ทหารว้ายึดจากกองทัพเมิงไตมาได้ กองทัพพม่าจะยกพื้นที่นั้นให้กองทัพว้าปกครองต่อไปเลย
กองทัพว้ารบกับทหารไทใหญ่ของขุนส่ายาวนานหลายปี สามารถยึดพื้นที่เมืองโต๋น เมืองสาต สถาปนาเป็นเขตปกครองตนเองชนชาติว้าแห่งที่ 2 หรือ“เขตว้าใต้” เข้ายึดแหล่งผลิตยาเสพติดของขุนส่า และขึ้นเป็นผู้ผลิตรายใหญ่แทน เพื่อนำเงินไปซื้ออาวุธ
เป้าหมายของพม่า คือให้ “เขตว้าใต้” เป็นรัฐกันชนกับไทย และใช้ “กองทัพว้าใต้” ไว้คอยสู้รบคานอำนาจกับ “กองทัพของชาวไทใหญ่”
ในอีกทางหนึ่ง รัฐบาลพม่าก็ใช้วิธีเจรจาจนขุนส่ายอมวางอาวุธแก่กองทัพพม่าในเดือนมกราคม 2539
หลังขุนส่ายอมวางอาวุธ ทำให้กองทัพเมิงไตต้องสลายตัว ในปี 2539 เจ้ายอดศึกที่เคยเป็นนายทหารระดับบัญชาการใน “กองทัพเมิงไต” ได้นำกำลังพลจำนวนหนึ่งแยกออกมาตั้งเป็น “กองทัพสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน (RCSS/SSA)” หรือ “กองทัพรัฐฉานใต้” ตั้งฐานบัญชาการอยู่บนดอยไตแลง เขตอำเภอเมืองปั่น จังหวัดลางเคอ ตรงข้ามกับบ้านปางคาม อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน
“กองทัพว้าใต้” ที่ในตอนนั้นได้นำทหารมาประจำการไว้ถาวรแล้ว จึงได้ขึ้นไปใช้พื้นที่เก่าของ “กองทัพเมิงไต” ตามแนวสันเขาที่ติดกับไทย เช่นฐานบนดอยหัวม้า ดอยหนองหลวง ซึ่งเป็นจุดที่ถูกนำมาสร้างประเด็นความขัดแย้งอยู่ในขณะนี้ เพื่อใช้เป็นฐานสำหรับยันกับทหารของ “เจ้ายอดศึก”
ดังนั้น เป็นเวลานับสิบปีแล้ว ที่ทั้งทหารไทใหญ่ ทหารพม่า โดยเฉพาะทหารไทย รวมถึงชาวบ้านในพื้นที่ของ 2 ประเทศ ต่างรับรู้ถึงการดำรงอยู่ของทหารว้าบนยอดดอยตามสันเขาเหล่านี้
4.บทบาททหารไทย
ในช่วงที่ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-เมียนมาเป็นปกติ ความสัมพันธ์ของทหารแต่ละกลุ่มในบริเวณนี้ ก็อยู่ร่วมกันได้โดยสงบ ต่างฝ่ายต่างไม่ยุ่งเกี่ยวกัน
เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา หลังเรื่องราวของฐานทหารว้าถูกนำมาสร้างเป็นประเด็นให้เกิดความขัดแย้งขึ้นมาแล้ว เพจที่ใช้ชื่อว่า"ทหารหลังกองพัน" ได้โพสต์ภาพชุดหนึ่ง เป็นภาพของทหารไทยกำลังนั่นสนทนาอยู่กับทหารว้า เขียนคำบรรยายว่า
“เป็นภาพเมื่อวานนี้ที่กองร้อยทหารไทย ได้ทำการพบปะพัฒนาสัมพันธ์ตามวงรอบประจำ กับ กองกำลังชนกลุ่มน้อยเชื้อสายว้า
“ภาพนี้สื่อให้เราเห็นความจริงได้ชัดครับว่า ในระดับผู้ทำงานแนวหน้าจริง ๆ มีการพบปะเจรจากันเป็นประจำและเป็นเครื่องมือสำคัญโดยเฉพาะในพื้นที่จริง เพราะปัญหาในพื้นที่ชายแดนมีความซับซ้อนหลายมิติมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ยังไม่ชัดเรื่องเขตแดน (เส้นบน google map ใช้ไม่ได้นะครับ)
“และการที่จะเอะอะใช้กำลังใส่กัน จะกระทบต่อประชาชนในพื้นที่อย่างมากครับ
“ถ้าจะรบเราพร้อมรบเสมอนั่นแหละครับ ขึ้นอยู่กับนโยบาย”
เนื้อหาช่วงท้ายของโพสต์นี้ ที่บอกว่า "การที่จะเอะอะใช้กำลังใส่กัน จะกระทบต่อประชาชนในพื้นที่" นั้น เป็นประเด็นสำคัญ และคนที่พยายามนำเรื่องฐานของทหารว้ามาด้อยค่าทหารไทย คงไม่ได้ศึกษาเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต นั่นคือการสู้รบบนเนิน 9631 หรือบางคนเรียกว่า "กรณีพิพาทกู่เต็งนาโย่ง"
5. ใครต้นตอ "ปั่น" ความขัดแย้ง ไทย กับ กองทัพว้า?
สิ่งที่น่าสงสัยอย่างมากก็คือ จู่ ๆ ข่าวเรื่องฐานทหารว้าชายแดนแม่ฮ่องสอนก็ถูกจุดเป็นประเด็นความขัดแย้งขึ้นมา โดยแทบจะไม่มีต้นสายปลายเหตุ
เมื่อตรวจสอบต้นตอของเรื่องนี้ พบว่า"ข่าวสด" เป็นสื่อไทยเจ้าแรกที่เสนอข่าวนี้เมื่อ ปลายเดือนพฤศจิกายน โดยอ้างข้อมูลจากวิทยุเอเชียเสรี (Radio Free Asia : RFA) ระบุว่าสถานการณ์ชายแดนไทยด้านจังหวัดแม่ฮ่องสอนกำลังตึงเครียดอย่างหนัก ถึงขั้นที่กำลังจะรบกันแล้ว เมื่อกองทัพไทยสั่งให้ทหารว้าถอยออกจากพื้นที่ซึ่งได้ล้ำเข้ามาในเขตไทย ทั้ง 2 ฝ่ายต่างขนอาวุธหนัก เช่น ปืนครก มาวางประจันหน้า เตรียมพร้อมสาดกระสุนใส่อีกฝ่ายหนึ่งตลอดเวลา
เนื้อข่าวระบุว่า ทหารไทยขีดเส้นให้ว้าถอนทหารออกไปภายในวันที่ 18 ธันวาคม
หลังข่าวนี้ถูกเผยแพร่ออกมา ทั้งสื่อไทยและสื่อของพม่าหลายสำนัก โดยเฉพาะสื่อที่อิงกับตะวันตก และสื่อที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับรัฐบาลทหารพม่า ต่างรับลูก นำข่าวและภาพไปเผยแพร่ต่อ พร้อมใส่สีตีไข่เพิ่มเข้าไปให้สถานการณ์ดูน่ากลัวขึ้น
ต่อด้วยคอลัมนิสต์ นักวิชาการ และนักการเมืองไทย ได้นำข่าวนี้ไปขยายผล หวังกระพือกระแสความขัดแย้งให้รุนแรงหนักยิ่งขึ้นไปอีก
“ประเด็นท่านผู้ชมครับ ท่านผู้ชมต้องทราบเบื้องหน้าเบื้องหลังด้วยว่าวิทยุเอเชียเสรี หรือ (Radio Free Asia : RFA)เป็นสื่อที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา เป็นสำนักข่าวที่มีทัศนคติเชิงลบต่อแทบทุกประเทศในเอเซีย
“เรื่องราวเกี่ยวกับ จีน ลาว กัมพูชา เวียดนาม เมียนมา รวมถึงไทยที่ถูกนำเสนอจากสำนักข่าวแห่งนี้ ล้วนมีอคติ ถูกแต่งเติมข้อมูลให้คนอ่านมองเห็นแต่ภาพลบว่าดินแดนแทบนี้มีแต่เรื่องเลวร้าย ประชาชนถูกกดขี่ ข่มเหง โดยผู้มีอำนาจ ไม่ได้รับความเป็นธรรม บางครั้งถึงกับเต้าข่าวที่เป็นเท็จ หรือนำเสนอข่าวโดยใส่ข้อเท็จจริงลงไปไม่หมด หรือใส่เพียงเล็กน้อย
“เมื่อ ต้นปี 2567 เดือนมีนาคม ที่ผ่านมาไอ้ วิทยุเอเชียเสรีนี่ก็เพิ่งเปิดตูด เผ่นออกมาจากเกาะฮ่องกง ปิดสำนักงานทั้งหมด เพราะ สภานิติบัญญัติฮ่องกงผ่านร่างกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติภายในประเทศ” นายสนธิกล่าว
ทั้งนี้วิทยุเอเชียเสรีหรือ Radio Free Asia ไม่ได้มีอิสระเสรีเหมือนกับชื่อ ภารกิจ (Mission) ของ RFA ตามที่เขียนไว้ในเว็บไซต์ระบุว่า “Radio Free Asia เป็นบริษัทเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร ซึ่งได้รับเงินทุนจากรัฐสภาสหรัฐอเมริกา ผ่านทางสำนักงานสื่อระดับโลกของสหรัฐอเมริกา (USAGM) ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐบาลกลางอิสระที่ทำหน้าที่กำกับดูแลสื่อระหว่างประเทศของพลเรือนในสหรัฐอเมริกา”
หรือกล่าวอย่างง่าย ๆ ก็คือวิทยุเอเชียเสรี เป็นสื่อโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) ของรัฐบาลสหรัฐฯ นี่เอง ไม่ต่างจากBBC World Serviceที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจาก กระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักร (Foreign, Commonwealth and Development Office หรือ FCDO)
ซึ่งBBC Thaiก็เป็นส่วนหนึ่งของBBC World Serviceซึ่งตกอยู่ในอาณัติของรัฐบาลอังกฤษ ทำเพื่อผลประโยชน์อังกฤษเช่นเดียวกับRadio Free Asiaที่แท้จริงแล้วไม่ใช่สื่อเสรี แต่เป็นสื่อที่ทำตามธงของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ นั่นเอง
สรุป
ข่าวการรุกล้ำดินแดนไทยของทหารว้า เกิดขึ้นในช่วงที่สถานการณ์ความขัดแย้งในภาคเหนือของรัฐฉานกำลังเริ่มคลี่คลาย มีสัญญานบวกปรากฏขึ้น หลังจีนออกหน้าเป็นตัวกลางให้มีการเจรจาสันติภาพกันระหว่างกองทัพพม่า กับกองทัพโกก้างและกองทัพตะอั้ง ที่สู้รบกันมาดุเดือดตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายน
การสู้รบในภาคเหนือของรัฐฉาน เชื่อกันว่ามีสหรัฐอเมริกาและประเทศตะวันตกอยู่เบื้องหลัง เพราะพื้นที่สู้รบอยู่บนเส้นทางคมนาคมหลักของระเบียงเศรษฐกิจจีน-พม่า ที่จีนตั้งใจใช้เป็นทางออกทะเลสู่มหาสมุทรอินเดีย
กองทัพว้าเป็นกองทัพขนาดใหญ่ที่มีอิทธิพลต่อกองทัพโกก้างและกองทัพตะอั้ง เรียกได้ว่าเป็นพี่ใหญ่ของกองทัพทั้งสองที่กำลังรบอยู่กับกองทัพพม่า
กองทัพว้ามีความใกล้ชิดสนิทสนมทั้งกับจีนและกองทัพพม่า
ในกระบวนการเจรจาสันติภาพในภาคเหนือของรัฐฉานที่มีจีนเป็นตัวกลาง กองทัพว้ามีบทบาทร่วมกดดันให้กองทัพโกก้างและกองทัพตะอั้งยุติการสู้รบกับกองทัพพม่า โดยใช้วิธีตัดความช่วยเหลือทุกด้านที่กองทัพว้าเคยให้กับกองทัพทั้งสอง ตามการร้องขอจากจีน
เรื่องกองกำลังว้าแดง แถวแม่ฮ่องสอน รุกเข้ามาที่ไทย เรื่องนี้ไม่ต้องตกใจ เป็นเรื่องที่เราล้ำเขาเขาล้ำเรา ว้าแดงก็คือคนพื้นที่ที่อยู่ตรงนั้นมานานแล้ว อาวุธยุทโธปกรณ์ ก็ใช้เทคโนโลยีจีน เพราะจีนหนุนว้าแดง เพื่อให้ปราบชนกลุ่มน้อยที่ไปเข้ากับทางตะวันตก
ส่วนเรือประมง ที่พม่ายิงเรือไทย มินอ่อง หล่ายประกาศว่าเรือไทยขนอาวุธจากช่องแคบมะละกา แวะระนองเพื่อเปลี่ยนเรือ คำถามคืออาวุธมาจากไหน ?
“ข่าวซึ่งพยายามสร้างความเกลียดชัง "ว้า-พม่า-จีน" ขึ้นในหมู่คนไทย สร้างความตึงเครียด ขัดแย้ง ให้เกิดขึ้นระหว่างกองทัพไทยกับกองทัพว้าในพื้นที่ชายแดนจังหวัดแม่ฮ่องสอน ผมมั่นใจว่ามีส่วนสัมพันธ์โดยตรงกับสถานการณ์ความสู้รบในภาคเหนือของรัฐฉาน ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจจีน-พม่า ที่กำลังเริ่มจะคลี่คลาย
“และในภาพใหญ่เป็นหนึ่งในจิ๊กซอที่สหรัฐฯ และชาติตะวันตก ใช้เพื่อดำเนินการกดดันและปิดล้อมการแผ่อิทธิพลของจีนอย่างแน่นอน โดยใช้ประเทศไทยเราเป็นหมากเบี้ย ปั่นให้เราทะเลาะกับว้านั่นเอง ” นายสนธิกล่าว