ผลงานเรื่องสั้น "สงครามในม่านหมอก" ของ ผศ.ชาติณรงค์ วิสุตกุล อาจารย์ประจำหลักสูตรการสื่อสารการแสดงดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ได้ถูกนำเอาไปทำเป็นแอนิเมชันสุดตระการตา จนคว้ารางวัลดีเด่นสาขาแอนิเมชันจาก Young Thai Artist Award 2024 จัดโดย มูลนิธิ SCG เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ผลงานดังกล่าวยังผ่านเข้ารอบสุดท้าย รายการ Thai Short Film & Video Festival ครั้งที่ 28 สาขารางวัลปยุต เงากระจ่าง ซึ่งจะประกาศผลการประกวดใน วันที่ 22 ธันวาคม 2567 โดยผลงานชิ้นนี้ไม่เพียงแต่สะท้อนให้เห็นถึงพลังของงานศิลปะและความสามารถของนักศึกษาไทยเท่านั้น แต่ยังตอกย้ำถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่ ๆ สร้างโอกาสแห่งการเรียนรู้ และสร้างสรรค์ผลงานอันเป็นประโยชน์ต่อสังคม
สำหรับแอนิเมชัน "สงครามในม่านหมอก" จะพาผู้ชมเดินทางไปสู่โลกอนาคตที่มนุษย์ต้องเผชิญหน้ากับมลพิษทางอากาศอย่างหนัก จนเกิดเป็น "หมอกพิษ" ปกคลุมทั่วเมือง ผู้คนต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดท่ามกลางสภาวะแวดล้อมที่เลวร้าย โดยได้รับแรงบันดาลใจจากปลายปากกาของ ผศ.ชาติณรงค์ วิสุตกุล ที่เขียนขึ้นเมื่อ 20 กว่าปีก่อน ซึ่งสะท้อนถึงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของสงคราม การเอารัดเอาเปรียบและการทำลายสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ที่มีต่อโลก โดยมีเนื้อหาของเรื่องกล่าวถึง เหตุการณ์หลังสงครามโลกครั้งที่ 3 มนุษย์ต้องเผชิญกับหมอกพิษสีแดง ซึ่งเกิดจากอาวุธนิวเคลียร์ สารเคมี เชื้อโรค และการทำลายทรัพยากรธรรมชาติจากเงื้อมมือมนุษย์ ทำให้ผู้คนต่างต้องดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอด โดยการแย่งชิงเครื่องช่วยหายใจ
นายณพวรรษ เหม่นแหลม จากคณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของผลงานแอนิเมชันเรื่อง "สงครามในม่านหมอก" มาจากศิลปนิพนธ์ โดยอาจารย์ที่ปรึกษาแนะนำให้ส่งผลงานเข้าร่วมประกวด ในโครงการ YOUNG THAI ARTIST AWARD 2024 ที่เปิดรับผลงานสร้างสรรค์ด้านศิลปะเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำในทุก ๆ ปี และแต่ละปีจะมีหัวข้อแตกต่างกันไป สำหรับปีที่ตนส่งผลงานเข้าประกวดนั้น หัวข้อคือ "บอกรักโลกด้วยศิลปะ" โดยมุ่งเน้นการสร้างสรรค์งานศิลปะที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลง หรือก่อให้เกิดสิ่งดีๆ ขึ้นได้
“ตอนแรกที่ได้อ่านเจอในเพจเฟซบุ๊ก อ่านไปก็รู้สึกตกใจที่เนื้อหาของเรื่องสั้นนี้เขียนขึ้นนานมาแล้ว แต่กลับมีความเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน อย่างปัญหาฝุ่น PM 2.5 นอกจากนี้ด้วยความเป็นวิทยาศาสตร์ไซไฟ รูปแบบการดำเนินเรื่องมีอะไรที่น่าสนใจมาก ทั้งดราม่า ทั้งการเล่าเรื่องเกี่ยวกับผลกระทบจากธรรมชาติที่มนุษย์เป็นคนกระทำ จึงได้ติดต่ออาจารย์ชาติณรงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เพื่อขออนุญาตนำเรื่องสั้นมาดัดแปลงเป็นแอนิเมชัน”
ในการดัดแปลงเรื่องสั้นเป็นแอนิเมชัน ณพวรรษเล่าว่า ได้นำเนื้อหามาตีความและย่อยประเด็นสำคัญ โดยมีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดบางส่วนเพื่อให้เหมาะสมกับการนำเสนอในรูปแบบแอนิเมชัน แต่ยังคงแก่นเรื่องและแนวคิดหลัก นอกจากนี้เขายังได้เพิ่มองค์ประกอบด้านภาพและเสียงเข้า เพื่อสร้างความน่าสนใจและเข้าถึงผู้ชมได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังศึกษาค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับหมอกพิษ และจินตนาการถึงเมืองใหม่หลังสงคราม เพื่อให้แอนิเมชันมีความสมจริงและน่าเชื่อถือ
การได้รับรางวัล Young Thai Artist Award ซึ่งจัดขึ้นโดย มูลนิธิ SCG เพื่อส่งเสริมเยาวชนที่มีความสามารถด้านศิลปะ ถือเป็นกำลังใจและเป็นผลตอบแทนจากการทุ่มเททำงานอย่างหนักของณพวรรษ โดยผลงานได้รับการคัดเลือกจากผลงานที่ส่งเข้าประกวดจำนวนมาก เนื่องจากมีความโดดเด่นทั้งในด้านเนื้อหาที่สื่อสารถึงปัญหาสังคม และเทคนิคการสร้างสรรค์ที่น่าประทับใจ
“รู้สึกดีใจที่ผลงานได้รับรางวัล ผมตั้งใจทำงานนี้อย่างเต็มที่แล้วก็คิดว่าถ้าเราตั้งใจมันออกมาในทางที่ดีได้ สิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่งคือ ต้องขอบคุณอาจารย์ชาติณรงค์ที่เปิดโอกาสให้นำเรื่องสั้นมาทำแอนิเมชันโดยไม่ได้มีข้อแม้ใด ๆ ทั้งที่อยู่ต่างมหาวิทยาลัยกัน นับเป็นโอกาสอันดีที่นอกจากจะได้ร่วมกันสร้างผลงาน ยังสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ด้วย อยากจะฝากถึงผู้ที่สนใจงานศิลปะว่า ศิลปะทุกแขนง ไม่ว่าจะเป็นดนตรี ภาพวาด หรือแอนิเมชัน ผมเชื่อว่ามีอิทธิพลต่อจิตใจ และสามารถกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และทำให้เกิดสิ่งที่ดีขึ้นได้ ผมอยากให้คนรุ่นใหม่ได้และคนรุ่นเก่าแสดงความสามารถ และร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ให้กับสังคม”
ด้าน ผศ.ชาติณรงค์ ผู้สร้างสรรค์เรื่องสั้นต้นฉบับเปิดใจว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ผลงานของนายณพวรรษได้รับรางวัล และได้เห็นผลงานเรื่องสั้นของตนเองได้รับการต่อยอดเป็นแอนิเมชัน หลังจากตีพิมพ์ในนิตยสาร a day และจัดพิมพ์อยู่ในหนังสือรวมเรื่องสั้น คน(ไม่)เหมือนกัน ของตนเองเมื่อปีพ.ศ. 2554 โดยมองว่าเป็นเพราะการ "เล่าเรื่องข้ามสื่อ" ทำให้เนื้อหาเข้าถึงกลุ่มผู้ชมที่กว้างขึ้น นอกจากนี้ ผศ.ชาติณรงค์ กล่าวว่า เรื่องราวที่เขียนไว้เมื่อ 20 กว่าปีก่อนยังคงเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาฝุ่น PM2.5 สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ได้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมยังเป็นประเด็นสำคัญที่คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญ
ผศ.ชาติณรงค์ ยังเน้นย้ำถึง ความสำคัญของความคิดสร้างสรรค์และการค้นคว้าข้อมูล ในการสร้างผลงาน โดยกล่าวว่า "ความคิดสร้างสรรค์ไม่มีสูตรสำเร็จ" แต่ต้องมีข้อมูลที่เพียงพอและมีกระบวนการเล่าเรื่องที่ดี โดยปัจจุบันเด็กไทยบางส่วนยังคงขาดทักษะด้านนี้ ซึ่งส่งผลให้ผลงานหลายชิ้นขาดความน่าสนใจ โดยนายณพวรรษนับเป็นตัวอย่างที่ดีของนักศึกษา ที่สามารถนำความคิดสร้างสรรค์และการค้นคว้าข้อมูลมารวมกันเพื่อสร้างผลงานที่โดดเด่น
แอนิเมชัน "สงครามในม่านหมอก" ไม่เพียงแต่ได้รับรางวัลเท่านั้น แต่ยังได้รับการเผยแพร่ไปอย่างกว้างขวางบนโลกออนไลน์ ทำให้ผู้คนจำนวนมากได้ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและผลกระทบที่เกิดขึ้น แสดงให้เห็นถึงพลังของศิลปะในการสร้างการเปลี่ยนแปลง และการสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้อื่น นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของมหาวิทยาลัยในการเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้และสร้างสรรค์ผลงานที่ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม
สัมผัสเรื่องราวสุดตื่นตาตื่นใจและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างโลกที่ดีกว่าได้ที่ https://www.youtube.com/watch?app=desktop&v=fuwmKeC-72Q