ในยุคที่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมกำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว วัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่นบางอย่างเริ่มจางหายไปอย่างน่าเสียดาย ชุดภาพ "มานีบูฆงอ" (การอาบน้ำดอกไม้) โดยศิลปิน อัญชนา นังคลา เป็นการบันทึกวัฒนธรรมที่งดงาม และความศรัทธาของชุมชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านเทคนิคการถ่ายทอดที่ลึกซึ้งและเป็นเอกลักษณ์ ชุดผลงานสีน้ำมันนี้ไม่เพียงแต่สะท้อนถึงพิธีกรรมโบราณที่ถูกสั่งสมบ่มศรัทธามาเป็นเวลานาน แต่ยังเป็นการอนุรักษ์และถ่ายทอดจิตวิญญาณของชุมชนที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางความเชื่อ วัฒนธรรม และประเพณี
อัญชนา นังคลา ศิลปินผู้หลงใหลในวิถีชีวิตพื้นถิ่น ได้หยิบยก "มานีบูฆงอ" หรือพิธีกรรมการอาบน้ำดอกไม้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความเชื่อในท้องถิ่น มานำเสนอในลักษณะที่ไม่เพียงแต่สร้างสรรค์ศิลปะ แต่ยังเป็นการบันทึกและเผยแพร่เอกลักษณ์ของชุมชนไทยมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านภาพลายเส้นและการเล่นกับสีสันสื่ออารมณ์ ไปจนถึงการเล่นกับมิติและแสง สร้างประสบการณ์ที่ทำให้ผู้ชมได้สัมผัสถึงจิตวิญญาณและความงดงามแห่งวัฒนธรรมที่กำลังจะจางหายไปในกระแสโลกาภิวัตน์
ศิลปินได้ทำการสร้างสรรค์ผลงานในรูปแบบจิตรกรรมร่วมสมัย โดยเกิดแรงบันดาลใจจากการตกผลึกแนวคิด ผ่านเทคนิคการเขียนสีน้ำมันบนผ้าใบลินิน รวมทั้งหมด 419 ชิ้น แบ่งออกเป็น 4 ชุดผลงาน ใช้เวลากว่า 2 ปีในการสร้างสรรค์ ผลงานทุกชิ้นถูกสร้างขึ้นในจังหวัดปัตตานี และนำมาจัดแสดงเผยแพร่แก่สาธารณชนที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย MOCA
รากฐานแห่ง "มานีบูฆงอ"
ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ได้แก่ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส มีความซับซ้อนทั้งในแง่ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และศาสนา มีการเปลี่ยนผ่านจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดู พุทธมหายาน สู่ศาสนาอิสลาม ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากพ่อค้าอาหรับ เปอร์เซีย และกลุ่มเผยแผ่ศาสนาที่ขยายกว้างขึ้น กระบวนการเปลี่ยนผ่านนี้ไม่ได้เป็นการลบล้างวัฒนธรรมดั้งเดิมไปทั้งหมด แต่เป็นการผสมผสานความเชื่อเก่าและใหม่อย่างมีพลวัต
ผู้คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเป็นทายาททางวัฒนธรรมของมลายู มีพื้นฐานความเชื่อเกี่ยวกับธรรมชาติ อำนาจของพลังเหนือธรรมชาติ และภูติผีวิญญาณ ก่อนที่จะผสมผสานเข้ากับพราหมณ์-ฮินดู พุทธมหายาน และอิสลามที่มีอิทธิพลในภูมิภาคนี้ จนหล่อหลอมกลายเป็นอัตลักษณ์เฉพาะถิ่นจวบจนถึงปัจจุบัน
"มานีบูฆงอ" เป็นภาษาถิ่นมลายู ซึ่งหมายถึงการอาบน้ำดอกไม้ เป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตชาวมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการสืบทอดกันมานานกว่า 200 ปี เป็นพิธีกรรมการอาบน้ำที่มีองค์ประกอบหลักคือดอกไม้ 7 สี 7 ชนิด โดยดอกไม้ที่เลือกมาต้องปราศจากหนาม มีกลิ่นหอม และไม่มีสีดำ ซึ่งล้วนแต่เป็นพืชพื้นถิ่นในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
การปฏิบัตินี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อชำระล้างสิ่งไม่บริสุทธิ์ทั้งในร่างกายและจิตใจ ด้วยความเชื่อเรื่องพลังงานบวกที่สื่อผ่านธรรมชาติ ผู้เข้าร่วมพิธีอาบน้ำดอกไม้สามารถทำได้ทุกเพศและทุกวัย มักจัดขึ้นในโอกาสต่าง ๆ เช่น พิธีสำหรับทารกอายุครบ 7 วัน ร่วมกับการโกนผมไฟเพื่อขอพรให้เด็กมีสุขภาพแข็งแรง การสะเดาะเคราะห์สำหรับผู้ที่ประสบปัญหาเคราะห์ร้าย การเปิดใจเสริมพลังสำหรับผู้ที่เตรียมออกเรือน และการสร้างความสดชื่นให้หญิงหลังคลอด ทั้งนี้ มีข้อห้ามในการใช้ดอกชบาในพิธีกรรม เนื่องจากเชื่อว่าเป็นดอกไม้ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งอัปมงคล และผู้กระทำพิธีการอาบนำ้ดอกไม้นี้ จะต้องได้รับวิชาตกทอดจากบรรพบุรุษในวงศ์ตระกูลเท่านั้น ไม่สามารถร่ำเรียนเหมือนวิชาทั่วไปได้
ในมิติของความเชื่อและพิธีกรรม ดอกไม้มีบทบาทเชิงสัญลักษณ์โดยเป็นตัวแทนแห่งความงดงาม เปรียบเสมือนสัญลักษณ์แห่งชีวิต การกำเนิด การเจริญเติบโต และความอุดมสมบูรณ์ โดยมีการเชื่อมโยงว่า ผลไม้เกิดจากดอกไม้ ซึ่งเป็นแหล่งอาหารและพลังงานที่หล่อเลี้ยงมนุษย์และสัตว์มาตั้งแต่โบราณกาล ทำให้ดอกไม้ถูกมองว่าเป็นต้นธารของความอุดมสมบูรณ์ และเป็นสื่อกลางเชื่อมโยงจิตวิญญาณกับธรรมชาติและสิ่งศักดิ์สิทธิ์
ชุดภาพ “มานีบูฆงอ” ไม่เพียงแต่เป็นผลงานศิลปะ แต่ยังเป็นการสะท้อนความงามของมรดกที่ทรงคุณค่าแห่งพื้นที่ปลายด้ามขวานไทย
อัญชนา นังคลา ได้หยิบยกคุณค่าของวัฒนธรรมความเชื่อมาสื่อสารผ่านผลงานจิตรกรรมร่วมสมัย “มานีบูฆงอ” (การอาบน้ำดอกไม้) โดยการถอดสัญลักษณ์พิธีกรรมตั้งแต่เริ่มจนเสร็จสิ้น และนำความหมายเหล่านั้นมาสร้างสัญญะใหม่ สะท้อนถึงความหวังในการปลดปล่อยความทุกข์ของผู้เข้าร่วมพิธีกรรม เปรียบเป็นการคืนชีวิตให้กับประเพณีที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชนท้องถิ่นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ชวนผู้เสพศิลป์ตั้งคำถามถึงความการจางหายของวัฒนธรรม ผ่านงานจิตรกรรมสีน้ำมันจำนวนทั้งสิ้น 4 ชุด:
ชุดที่ 1 “ความหวัง ความเชื่อกับการอาบน้ำดอกไม้” ใช้สีที่ซ้อนทับหลายชั้นและเส้นที่แสดงการเคลื่อนไหวรุนแรงและอ่อนโยน มีความหนักความเบาของชั้นสี สื่อถึงสภาวะอารมณ์ที่หลากหลายของผู้คนที่มาอาบน้ำดอกไม้แต่เต็มไปด้วยความคาดหวังว่าจะสามารถปลดปล่อยความทุกข์สู่ความสุข
ชุดที่ 2 “ดอกไม้ ความงาม ความเบ่งบาน สะพรั่งบาน” ใช้เทคนิคการเขียนแบบเชื่อมต่อรูปทรงที่แสดงรูปร่างรูปทรงดอกไม้ทั้งชัดเจนและไม่ชัดเจน ให้ความรู้สึกถึงมวลดอกไม้และบรรยากาศในห้วงเวลาต่างๆ เช่น ยามเช้าและเย็น แสดงอารมณ์สุนทรียภาพของดอกไม้ส่งผลต่อความรู้สึกของผู้คน
ชุดที่ 3 “สุนทรียภาพในการอาบน้ำดอกไม้” นำเสนอรูปแบบและเทคนิคการเขียนเพื่อสื่อสารความหมายของสุนทรียภาพ โดยนำเสนอเรื่องราวผ่านรูปทรงดอกไม้ที่เสมือนล่องลอยอยู่ในสายน้ำ มีการสร้างโครงสีของสายน้ำที่แตกต่างกันไปในแต่ละชิ้นงาน เคลื่อนไหวในหลายจังหวะหลายหลายทิศทาง การทับซ้อนกันจนเกิดการเคลื่อนที่ของรูปทรงในภาพ
ชุดที่ 4 “สุนทรียภาพหลังการอาบน้ำดอกไม้” เป็นชุดที่มีชิ้นงานทั้งหมดจำนวน 365 ชิ้นงาน ซึ่งมาจากจำนวนวันในหนึ่งปี มีการใช้สีและรูปทรงที่ไม่ชัดเจนเพื่อแสดงความเคลื่อนไหว สื่อสภาวะอารมณ์ที่หลากหลายของผู้คนที่มาปลดปล่อยความรู้สึกในการทำพิธีอาบน้ำดอกไม้
ผลงานชุด “มานีบูฆงอ” นี้ไม่เพียงแต่บันทึกความงามของพิธี "มานีบูฆงอ" แต่ยังเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการสนทนาที่กว้างขวางเกี่ยวกับบทบาทของศิลปะในการอนุรักษ์ประเพณีและความทรงจำทางวัฒนธรรม
“มานีบูฆงอ” พิธีกรรมการอาบนำ้ดอกไม้ จะสืบสานต่อไปในโลกปัจจุบันได้หรือไม่ หรือจะเหลือไว้เพียงแต่ความทรงจำ
ประวัติศิลปิน
อัญชนา นังคลา เป็นที่รู้จักจากจิตรกรรมภาพดอกไม้ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากธรรมชาติและความหลากหลายของชีวิต ความหลงใหลในดอกไม้ของเธอมาจากการที่ครอบครัวดำเนินกิจการร้านดอกไม้ ทำให้เธอมีความผูกพันกับดอกไม้มาตั้งแต่เด็ก ศิลปินเริ่มเขียนภาพดอกไม้ตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาตรีและต่อเนื่องมาถึงปริญญาโทและเอก ผลงานของเธอเต็มไปด้วยดอกไม้หลากสี โดยมีความพิเศษในการใช้สีที่ตัดกันอย่างลงตัว ด้วยการเลือกใช้สีคู่ตรงข้าม (complementary colors) วางใกล้กัน ทำให้เกิดความสมดุลที่น่าทึ่ง สีสันเหล่านั้นกลมกลืนกันอย่างสวยงาม สะกดสายตาผู้ชมให้หลุดเข้าไปในสวนดอกไม้หลากหลายสายพันธุ์ การเล่นกับสีที่ตัดกันในผลงานของเธอสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวและภาพจำที่ชัดเจน
สามารถติดตามชมผลงานของ อัญชนา นังคลา ได้ที่ https://www.instagram.com/vilendrof?utm_source=ig_web_button_share_sheet&igsh=ZDNlZDc0MzIxNw==
ร่วมสัมผัสความงามในนิทรรศการ ”ดอกไม้ในแจกัน“ “My Still life” จัดแสดง ณ หอวัฒนธรรมภาคใต้ สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในวันที่ 15-30 มกราคม 2568
p