วันนี้ (19 ธันวาคม 2567) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานงาน “MEA มอบของขวัญปีใหม่ ถนนสวยไร้เสาสายจรัญสนิทวงศ์” พร้อมด้วย นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายขจร ศรีชวโนทัย รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานกรรมการ MEA หรือการไฟฟ้านครหลวง นายเชษฐา โมสิกรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการส่วนสิทธิแห่งทาง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ร่วมด้วยผู้แทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และคณะกรรมการ MEA โดยมี นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการ MEA กล่าวรายงานผลความสำเร็จในโอกาสมอบของขวัญปีใหม่ 2568 ด้วยโครงการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินให้กับประชาชน ณ ลานแขกแพ Meeting Mall บางอ้อ สเตชัน ถนนจรัญสนิทวงศ์
รองนายกรัฐมนตรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล เปิดเผยว่า โครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญ 10 ด้านของกระทรวงมหาดไทย โดยมุ่งเน้นการอำนวยความสะดวก และดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชน ซึ่งโครงการนี้ไม่เพียงช่วยเพิ่มความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเท่านั้น แต่ยังช่วยปรับปรุงทัศนียภาพของเมืองให้สวยงามและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย สำหรับโครงการที่ดำเนินการในครั้งนี้ เป็นการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าลงใต้ดิน ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน บนถนนจรัญสนิทวงศ์ รวมระยะทางทั้งสิ้น 11.4 กิโลเมตร ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในมิถุนายน 2568 นี้ โดยพื้นที่ที่ดำเนินการเสร็จล้วนเป็นพื้นที่สำคัญของเมือง ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและความสวยงามของภูมิทัศน์เมืองให้ดียิ่งขึ้น
สำหรับพื้นที่ถนนจรัญสนิทวงศ์ MEA ได้ดำเนินการรื้อถอนเสาไฟฟ้า พร้อมจัดระเบียบสายสื่อสารเพิ่มเติม ตั้งแต่ซอยจรัญสนิทวงศ์ 94/1 ถึงซอยจรัญสนิทวงศ์ 44 และช่วงแยกท่าพระถึงแยกไฟฉาย เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น และเสริมสร้างภูมิทัศน์ให้สวยงามยิ่งขึ้น โดยพื้นที่ดังกล่าวถือเป็นเขตเศรษฐกิจที่สำคัญ ความสำเร็จของโครงการนี้จะสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนและประเทศโดยรวม ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และสามารถต่อยอดสู่การพัฒนาระบบสาธารณูปโภคอื่น ๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในอนาคต
ผู้ว่าการ MEA กล่าวเสริมถึงแผนงานภาพรวมโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินว่า ปัจจุบันมีแผนดำเนินการรวมทั้งสิ้น 313.5 กิโลเมตร โดยมีเป้าหมายแล้วเสร็จภายในปี 2572 ซึ่งในขณะนี้ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว 73.4 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่สำคัญหลายแห่ง ขณะที่อีก 240.1 กิโลเมตร อยู่ระหว่างดำเนินการ เช่น โครงการพระราม 3 โครงการรัชดาภิเษก และโครงการตามแนวรถไฟฟ้าสายสีต่าง ๆ โดยคาดว่าภายในสิ้นปี 2567 จะมีระยะทางที่ก่อสร้างแล้วเสร็จเพิ่มขึ้นอีก 16.6 กิโลเมตร ทำให้ระยะทางรวมของสายไฟฟ้าใต้ดินสะสมเป็น 90 กิโลเมตร
ในส่วนของแผนการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน MEA และหน่วยงานภาคี ได้ดำเนินการไปแล้วรวม 32 เส้นทาง ระยะทางกว่า 68 กิโลเมตร ครอบคลุมถนนสายสำคัญ เช่น ถนนสุทธิสารวินิจฉัย ถนนอโศกมนตรี ถนนศรีอยุธยา ถนนพระราม 4 ถนนบรรทัดทอง และถนนจรัญสนิทวงศ์ นอกจากนี้ ยังมีการบูรณาการกับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดระเบียบสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้า จำนวน 183 เส้นทาง รวมระยะทางกว่า 570 กิโลเมตร เฉลี่ยดำเนินงานเดือนละ 45 กิโลเมตร และในปี 2568 ยังมีเป้าหมายจัดระเบียบสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้ารวมระยะทาง 800 กิโลเมตร ซึ่งในส่วนนี้ MEA ได้สนับสนุนการติดตั้งคอนสายสื่อสาร เพื่อใช้สำหรับการยึดสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้าให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย
สำหรับพื้นที่ที่ยังไม่มีการดำเนินโครงการสายไฟฟ้า และสายสื่อสารใต้ดิน จะมีการจัดระเบียบสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้า โดย MEA ช่วยสนับสนุนการติดตั้งอุปกรณ์คอนสายสื่อสารในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ตามแผนการจัดระเบียบ สายสื่อสารปี 2566 – 2567 ของ MEA และสำนักงาน กสทช. ที่มีระยะทางรวม 1,360 กิโลเมตร โดยความสำเร็จเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ด้วยความร่วมมือของทุกหน่วยงาน
อย่างไรก็ตาม MEA ยังได้ใช้เสาไฟฟ้าที่รื้อถอนมาดำเนินโครงการ MEA’s Model ในการปรับปรุงและพัฒนาแหล่งเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลน และทำแนวป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ณ ป้อมพระจุลจอมเกล้า ฐานทัพเรือกรุงเทพ จ.สมุทรปราการ และชายฝั่งทะเลกรุงเทพฯ เขตบางขุนเทียน ช่วยเพิ่มการสะสมของตะกอนหลังแนวป้องกัน ส่งผลให้ต้นไม้ป่าชายเลน เช่น โกงกาง และพรรณไม้น้ำต่าง ๆ เติบโตหนาแน่นขึ้น อีกทั้งยังช่วยเพิ่มแหล่งที่อยู่อาศัยให้กับสัตว์น้ำ และนกหลากหลายชนิด
ทั้งนี้ การบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้โครงการสายไฟฟ้าใต้ดินประสบความสำเร็จ MEA ได้ร่วมวางแผนกับกรุงเทพมหานคร และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการก่อสร้างและจำกัดผลกระทบด้านการจราจร โดยมุ่งดำเนินงานในช่วงวันหยุด พร้อมคงมาตรการความปลอดภัยตามมาตรฐานที่ MEA กำหนด นอกจากนี้ยังได้ประสานความร่วมมือกับ NT และ สำนักงาน กสทช. ในการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน โดยร่วมกับผู้ประกอบการสายสื่อสารดำเนินภารกิจดังกล่าว เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้าและระบบโทรคมนาคม ตลอดจนสร้างทัศนียภาพที่สวยงามให้กับมหานครแห่งนี้