xs
xsm
sm
md
lg

สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิทัลฯ หารือร่วมไทยพีบีเอส เดินหน้าเชื่อมความร่วมมือขับเคลื่อนอุตสาหกรรมโทรทัศน์ไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิทอล (ประเทศไทย) เข้าหารือ ไทยพีบีเอส ต่อยอดความร่วมมือและเชิญชวนไทยพีบีเอสเข้าเป็นสมาชิกสมาคมฯ ร่วมกันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมโทรทัศน์ไทยให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน

สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) นำโดย นายสุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคม พร้อมด้วยคณะอุปนายกสมาคม ได้แก่ นายฉัตรชัย ตะวันธรงค์, นายอดิศักด์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ, นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี, นายเดียว วรตั้งตระกูล กรรมการและเลขานุการ และนายอังกูล บุญดี ผู้จัดการสมาคมฯ เข้าหารือ กับ รศ. ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส และคณะผู้บริหาร ประกอบด้วย นายอนุพงษ์ ไชยฤทธิ์ รองผู้อำนวยการ ด้านเทคโนโลยีการกระจายสื่อ นายสมยศ เกียรติอร่ามกุล รองผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ด้านสร้างสรรค์และหลอมรวมเนื้อหา นางสาวกนกพร ประสิทธิ์ผล ผู้อำนวยการสำนักสื่อดิจิทัล และนางสาวปภาภรณ์ เฉลิมวนิชย์ ผู้อำนวยการศูนย์สื่อสารและส่งเสริมการตลาดเพื่อสาธารณะ เพื่อเชิญชวน ไทยพีบีเอส เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสมาคมฯ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมโทรทัศน์ไทยทั้งระบบ

นายสุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) กล่าวว่า ท่ามกลางความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมโทรทัศน์ไทย ในช่วงเวลาที่เหลือของใบอนุญาตทีวีดิจิทัล ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนเมษายน พ.ศ.2572 นี้ เห็นถึงความสำคัญของการผนึกกำลังร่วมกันระหว่างช่องทีวีพาณิชย์และช่องทีวีสาธารณะ จึงขอเชิญไทยพีบีเอสเข้าเป็นสมาชิกสมาคมฯ เพื่อร่วมกันทำงานในประเด็นต่าง ๆ ทั้งการพัฒนาเทคโนโลยี การสร้างความร่วมมือระหว่างภาคส่วน รวมถึงกำหนดทิศทางอนาคตของอุตสาหกรรม สร้างแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจนหลังหมดอายุใบอนุญาตฯ และผลักดันให้อุตสาหกรรมโทรทัศน์ไทยเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป

ด้าน รศ. ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการ ไทยพีบีเอส กล่าวว่า ไทยพีบีเอสให้ความสำคัญกับการสร้างระบบนิเวศสื่อที่เข้มแข็งและเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน จึงมีความยินดีในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมโทรทัศน์ไทย ผ่านความร่วมมือกับเครือข่ายสื่อมวลชน และภาคีในภาคส่วนต่าง ๆ และตระหนักถึงความสำคัญของการปรับตัวในยุคดิจิทัล จึงพร้อมร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ และเทคโนโลยีใหม่ ๆ กับเพื่อนสื่อมวลชน เพื่อขยายความร่วมมือทั้งในเชิงเทคโนโลยีและการผลิตเนื้อหา โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือการสร้างนิเวศสื่อที่เข้มแข็ง ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมโทรทัศน์ไทยให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน

“เราเชื่อว่าการทำงานร่วมกัน จะช่วยยกระดับคุณภาพของอุตสาหกรรมสื่อไทย และสร้างสังคมที่เข้มแข็งผ่านข้อมูลข่าวสารที่น่าเชื่อถือ นอกจากนี้ ไทยพีบีเอสยังพร้อมเป็นพื้นที่กลางในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เทคโนโลยี และประสบการณ์ เพื่อร่วมกันผลักดันเนื้อหาที่มีคุณค่าและสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับสังคม" รศ. ดร.วิลาสินี กล่าว

การหารือครั้งนี้มุ่งเน้นถึงความร่วมมือ เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมโทรทัศน์ไทยให้ก้าวข้ามยุค Disruption โดยมีประเด็นหารือทั้งในเรื่องของการพัฒนา OTT National Platform, การออกอากาศในระบบ 4K, การเปลี่ยนผ่านภูมิทัศน์ของแพลตฟอร์ม แนวทางของใบอนุญาตทีวีดิจิทัลภาคเอกชน ที่จะสิ้นสุดในปลายเดือนเมษายน พ.ศ.2572, การสนับสนุนผู้ผลิต Content, การยกระดับการวัดความนิยมในเชิงคุณภาพ (Quality Rating) และการวัดเรตติ้งข้ามแพลตฟอร์ม (Cross Rating Platform) การกำหนดทิศทางและแนวทาง Self-Regulation ที่เหมาะสม รวมถึงการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้าน AI

สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) ประกอบด้วยตัวแทนผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ รวม 15 ช่อง ประกอบด้วย ช่อง Thairath TV, ช่อง PPTV HD, ช่อง One 31, ช่อง GMM 25, ช่องNation TV, ซ่อง NEW 18, ช่อง 3HD, ช่อง Mono29, ช่อง MCOT HD, ช่อง Amarin TV HD 34, ช่อง TNN 16, ช่อง True4U, ช่อง 7, ช่อง 8 และ ช่อง Workpoint TV 27 มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาวิชาชีพ และการประกอบกิจการโทรทัศน์ระบบดิจิทัลให้มีการพัฒนายิ่งขึ้น และพัฒนาต่อยอดอุตสาหกรรมกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ของประเทศให้ก้าวหน้าต่อไป

ความร่วมมือระหว่างไทยพีบีเอส และ สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) ในครั้งนี้ จึงถือเป็นก้าวสำคัญในการขยายความร่วมมือทั้งในเชิงเทคโนโลยีและองค์ความรู้ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างนิเวศสื่อที่เข้มแข็ง ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมโทรทัศน์ไทยให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน

สามารถติดตามไทยพีบีเอสทุกช่องทางออนไลน์ ได้ที่
▪ Social Media Thai PBS : Facebook, YouTube, X (Twitter), LINE, TikTok, Instagram
▪ Website : www.thaipbs.or.th
▪ Application : Thai PBS












กำลังโหลดความคิดเห็น