xs
xsm
sm
md
lg

ในหลวง-พระราชินี ทอดพระเนตรการแสดงละครนอก เรื่อง “สังข์ทอง”เนื่องในโอกาส พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการแสดงรำถวายพระพร การแสดงละครนอก เรื่อง “สังข์ทอง” ตอน มณฑาลงกระท่อม และการแสดง “ระบำ รำ ฟ้อน ถวายพระพรด้วยใจรักและภักดี” เนื่องในโอกาส พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567

วันนี้ 18 ธันวาคม 2567 เวลา19.32 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการแสดงละครนอก เรื่อง “สังข์ทอง” ตอน มณฑาลงกระท่อม จัดโดยมูลนิธิสมาคมสตรีอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เนื่องในโอกาส พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร

เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึง นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นางสาวอัญชุลี สิมะเสถียร ประธานกรรมการมูลนิธิสมาคมสตรีอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย ฯ พร้อมด้วยคณะกรรมการจัดงาน ฯ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ

จากนั้น เสด็จเข้าหอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ ประธานกรรมการมูลนิธิสมาคมสตรีอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย ฯ กราบบังคมทูลเบิกผู้ทำคุณประโยชน์ และผู้สนับสนุนการจัดงาน ฯ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับพระราชทานของที่ระลึก เสร็จแล้ว พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นางยุถิกา อิศรางกูร ณ อยุธยา รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และนายประสพ เรียงเงิน อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสูจิบัตรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯพระบรมราชินี

การนี้ พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นางโสภาวรรณ มงคลธรรมมากุล รองประธานมูลนิธิสมาคมสตรีอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย ฯ และนายอิสรียะ บุญสว่าง กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิสมาคมสตรีอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย ฯ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายหนังสือที่ระลึกแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี

ศาสตราจารย์ นายแพทย์พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนางพนิดา สันติสุขธีรวุฒิ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายหนังสือที่ระลึกแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี นางเบญจวรรณ สร่างนิทร กรรมการและมูลนิธิสมาคมสตรีอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย ฯ และประธานกรรมการอำนวยการจัดงาน ฯ กราบบังคมทูลรายงานวัตถุประสงค์ ของการจัดงาน ฯ

จากนั้น ทอดพระเนตรการแสดงรำถวายพระพร การแสดงละครนอก เรื่อง “สังข์ทอง” ตอน มณฑาลงกระท่อม และการแสดง “ระบำ รำ ฟ้อน ถวายพระพรด้วยใจรักและภักดี” เมื่อการแสดงจบแล้ว พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ ประธานมูลนิธิสมาคมสตรีอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย ฯ ศิลปินแห่งชาติ ผู้กำกับการแสดง และครูผู้ฝึกซ้อม เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับพระราชทานช่อดอกไม้ สมควรแก่เวลา จึงประทับรถยนต์พระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินกลับ

มูลนิธิสมาคมสตรีอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย ฯ จัดแสดงละครนอก เรื่อง “สังข์ทอง” ตอนมณฑา ลงกระท่อม ขึ้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยมีศิลปินแห่งชาติสาขาต่าง ๆ อาทิ นายสุประวัติ ปัทมสูต ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง แสดงเป็นนางมณฑา นายสมชาย ทับพร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง - ขับร้องเพลงไทย เป็นผู้ขับร้อง และศิลปินรับเชิญ รวมทั้งนักแสดงสมัครเล่นจากชมรมนาฏศิลป์ดนตรีไทยอุดมศึกษา ในมูลนิธิ ฯ มาร่วมแสดงด้วยความเต็มใจและทุ่มเทเต็มกำลังความสามารถ เพื่อถวายความจงรักภักดีในโอกาสมหามงคลครั้งนี้ด้วย

บทละครนอก เรื่อง “สังข์ทอง” พระราชนิพนธ์ของ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีเค้าโครงเรื่องมาจากสุวรรณสังขชาดก ในปัญญาสชาดก ถือเป็นหนึ่งในชาดกพุทธประวัติ เป็นนิทานพื้นบ้านในภาคเหนือและภาคใต้ ซึ่งได้กล่าวถึงสถานที่ต่าง ๆ ในเนื้อเรื่องสังข์ทอง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี มีพระราชปณิธานในการที่จะทรงอนุรักษ์และฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม โดยการสืบสาน รักษา และต่อยอด ตามพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงห่วงใย และทรงให้ความสำคัญกับศิลปวัฒนธรรมของไทย เพื่อให้คงอยู่กับคนไทยตลอดไป

โดยละครนอก เป็นศิลปะการแสดงอีกรูปแบบหนึ่ง อันเป็นเอกลักษณ์ของชาติ เป็นละครที่พัฒนามาจากละครชาตรี แต่เดิมมีตัวละครเพียง 3-4 คน อย่างละครชาตรี และผู้แสดงเป็นชายล้วน ต่อมาเมื่อมีการแสดงละครกันอย่างแพร่หลายทั่วไป มีการเล่นเรื่องต่าง ๆ มากขึ้น ต้องเพิ่มตัวละครขึ้นตามเนื้อเรื่อง ในภายหลังจึงมีผู้แสดงเป็นผู้หญิงมากขึ้น การแต่งกายมีการประดิษฐ์ชุดที่พิเศษให้มีความงดงามด้วยการปักดิ้นเลื่อมแพรวพราว ศีรษะสวมชฎาและรัดเกล้า ทั้งรัดเกล้ายอด รัดเกล้าเปลว ตลอดจนกระบังหน้ารูปต่าง ๆ ทำให้มีความประณีตงดงามขึ้น

การร่ายรำด้วยท่าทางกระฉับกระเฉง ว่องไว จังหวะการร้อง และการบรรเลงดนตรีค่อนข้างเร็ว เพลงร้องส่วนมากเป็นเพลงชั้นเดียวหรือสองชั้นที่มีจังหวะรวบรัด การดำเนินเรื่องเป็นไปอย่างรวดเร็วด้วยเพลงร่ายนอก แทรกความตลกขบขัน จึงทำให้เป็นละครที่ได้รับความนิยมและสร้างความสนุกสนานเพลิดเพลินแก่ผู้ชมเป็นอย่างมาก












กำลังโหลดความคิดเห็น