xs
xsm
sm
md
lg

โครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง ต้นแบบการสร้างความมั่นคงด้านน้ำที่ยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พื้นที่ลุ่มน้ำโขงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบสูงแอ่งจานลาดเอียงจากทิศตะวันตกไปยังทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีพื้นที่ที่เหมาะสมในการสร้างแหล่งกักเก็บน้ำขนาดใหญ่น้อยมาก ส่งผลให้ขาดแคลนน้ำฤดูแล้งเป็นประจำซ้ำซาก ทั้งๆ ปริมาณฝนที่ตกเฉลี่ยในแต่ละปีมีไม่น้อยกว่าภาคอื่นๆ ของประเทศ ในขณะที่ฤดูฝนก็จะประสบปัญหาน้ำท่วม อย่างเช่นในฤดูฝนปีนี้หลายพื้นที่ประสบปัญหาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง ซึ่งเป็นลุ่มน้ำสาขาของลุ่มน้ำโขง มีพื้นที่ประมาณ 2,160 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของจ.อุดรธานี และหนองคาย ก็ประสบปัญหาดังกล่าวเช่นเดียวกัน


นายสุนทร คำศรีเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 5 กรมชลประทาน เปิดเผยว่า ลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่างเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ มีพื้นที่ทำการเกษตร 861,961 ไร่ ในแต่ละปีจะมีปริมาณน้ำท่าเฉลี่ย 1,257.65 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) แต่จากสภาพที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำดังกล่าวได้สร้างปัญหาหนักให้ประชาชนผู้อยู่อาศัยและเกษตรกรผู้เพาะปลูก เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นหนองน้ำ แอ่งกระทะ และบึงขุด เมื่อถึงฤดูน้ำหลากปริมาณน้ำดังกล่าวจะไหลจาก จ.อุดรธานี มาลงแม่น้ำโขงที่ อ.โพนพิสัย ในขณะที่แม่น้ำโขงก็จะหนุนสูง ทำให้มวลน้ำทั้งสองไหลมาชนกันไม่สามารถระบายน้ำออกจากลำห้วยหลวงและลำน้ำสาขาได้ จึงเกิดน้ำท่วมพื้นที่การเกษตร และพื้นที่อยู่อาศัยในทั้ง 2 จังหวัดเป็นวงกว้างมากกว่า 90,000 ไร่ สร้างความเสียหายซ้ำซากเป็นประจำเกือบทุกปี

แต่พอเข้าสู่ฤดูแล้งจะมีน้ำท่าเหลือค้างในลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่างเพียง 28.58 ล้าน ลบ.ม.เท่านั้นเนื่องจากสภาพภูมิประเทศตามธรรมชาติไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ได้ อีกทั้งไม่เหมาะสมจะสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จึงทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค รวมถึงเกษตรกรไม่สามารถทำการเกษตรได้เต็มศักยภาพของพื้นที่ ส่วนที่พอจะทำการเกษตรได้ผลผลิตก็ได้รับความเสียหายจากภาวะขาดแคลนน้ำอยู่เป็นประจำ

สำหรับการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าว ระหว่างปี 2539-2545 กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม (ปัจจุบันคือ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน) ได้ก่อสร้างประตูระบายน้ำห้วยหลวง บริเวณบ้านดอนคง ต.จุมพล อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย แต่เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จไม่สามารถเปิดใช้งานได้เต็มตามศักยภาพที่ได้ออกแบบไว้เนื่องจากมีปัญหาหลายประการ เช่น ปัญหาการจัดซื้อที่ดิน ปัญหาขอบเขตพื้นที่น้ำท่วมในกรณีต่างๆ ยังไม่ชัดเจน เป็นต้น

ต่อมาในปี 2546 ได้ถ่ายโอนประตูระบายน้ำห้วยหลวงมาให้กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับผิดชอบ และได้ว่าจ้างสถาบันแหล่งน้ำและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดำเนินการศึกษาและจัดทำแผนบริหารจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำของลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่างอย่างเต็มศักยภาพ โดยให้ความสำคัญต่อประชาชนในพื้นที่ต้องมีส่วนร่วมในการศึกษาทุกขั้นตอน ซึ่งการศึกษาในครั้งนั้นได้ผลสรุปว่าหากจะให้สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำที่เกิดในลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่างได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์มากที่สุด รวมทั้งไม่เป็นการลงทุนแบบสูญเปล่า เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องนั้น จะต้องดำเนินโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง ที่ประกอบด้วยองค์ประกอบหลัก 7 กลุ่มโครงการ ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2561 คณะรัฐมนตรีมีอนุมัติให้กรมชลประทานดำเนินโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง


สำหรับความคืบหน้าของการดำเนินโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง 7 กลุ่มโครงการที่เป็นองค์ประกอบหลักล่าสุด ดังนี้

1. โครงการสถานีสูบน้ำบ้านแดนเมือง ตั้งอยู่ที่ ต.วัดหลวง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย ลักษณะเป็นอาคารบังคับน้ำควบคุมด้วยบานระบายน้ำขนาดความกว้าง 12.5 เมตร จำนวน 3 ช่อง ติดตั้งระบบสูบน้ำ สูบน้ำได้สูงสุด 150 ลบ.ม.ต่อวินาที ผ่านคลองชักน้ำระหว่างแม่น้ำโขงกับลำน้ำห้วยหลวง ลอดผ่านทางหลวงหมายเลข 212 ความยาว 1,344 เมตร สถานีสูบน้ำบ้านแดนเมืองมีลักษณะเด่น คือ สูบน้ำได้สองทาง กล่าวคือ เมื่อน้ำหลากมามากจะทำหน้าที่ระบายน้ำส่วนเกินจากลำน้ำห้วยหลวงที่เกินระดับควบคุม +160 เมตรระดับน้ำทะเลปานกลาง (รทก.) ลงสู่แม่น้ำโขง ในทางกลับกัน ในหน้าแล้งสามารถสูบน้ำจากแม่น้ำโขงเข้ามาเสริมน้ำต้นทุนให้พื้นที่ได้วันละ 5-10 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้มีผลงานสะสมร้อยละ 80

2. โครงการปรับปรุงพนังกั้นน้ำเดิมฝั่งขวาตามแนวลำห้วยหลวง ซึ่งกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานได้ทำไว้เดิม ความยาว 18.6 กิโลเมตร พร้อมอาคารบังคับน้ำตามลำน้ำสาขา 3 แห่ง ทำหน้าที่ช่วยป้องกันผลกระทบจากระดับน้ำที่สูงขึ้นในเขตพื้นที่ลุ่มต่ำตามแนวเขตน้ำท่วม และช่วยควบคุมปริมาณน้ำโดยการรับน้ำในช่วงน้ำหลากเพื่อเร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขง สามารถลดพื้นที่น้ำท่วมได้ 19,015 ไร่ ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ

3. โครงการพนังกั้นน้ำใหม่บริเวณตลิ่งลำห้วยหลวงต่ำ ฝั่งซ้ายความยาว 41.85 กม. และฝั่งขวาความยาว 29.34 กม. พร้อมอาคารบังคับน้ำตามลำน้ำสาขาอีก 8 แห่ง ทำหน้าที่ช่วยป้องกันน้ำห้วยหลวงที่ระดับเก็บกัก +160 (รทก.) ไหลย้อนกลับมาท่วม ปัจจุบันผลงานสะสมร้อยละ 60

4. โครงการอาคารบังคับน้ำในลำน้ำห้วยหลวงจำนวน 3 แห่ง ได้แก่ ประตูระบายน้ำ (ปตร.) ดงสะพัง ที่ อ.สร้างคอม ปตร.หนองสองห้อง อ.บ้านดุง และ ปตร.บ้านดอนกลอย อ.พิบูลย์รักษ์ จ.อุดรธานี ทำหน้าที่ช่วยควบคุมปริมาณน้ำโดยรับน้ำในช่วงน้ำหลากเพื่อเร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขง เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ สามารถลดพื้นที่น้ำท่วมได้ 17,375 ไร่ ปัจจุบันผลงานสะสมร้อยละ 30

5. โครงข่ายระบบชลประทาน แก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร โดยการพัฒนาโครงการชลประทานขนาดกลางเชื่อมโยงแหล่งน้ำต่างๆ เข้าด้วยกัน มีจำนวนทั้งสิ้น 13 โครงการ ประกอบด้วย 1. โครงข่ายห้วยหลวง กุดซวย หาดสั่ง 2. โครงข่ายห้วยหลวง อ่างพาน 3. โครงข่าย ปตร.ห้วยหลวง สถานีสูบน้ำบ้านโคกหนองน้ำเกลี้ยง หนองเบ็ญ 4. โครงข่าย ปตร.ห้วยหลวง คลองชักน้ำ หนองแดนเมือง 5. โครงข่าย ปตร.ห้วยหลวง สถานีสูบน้ำหนองปากโพง 6. โครงข่ายอาคารประกอบ ปตร.ดงสระพัง 7. โครงข่าย ปตร.ห้วยหลวง อ่างเก็บน้ำห้วยเจียม 8. โครงข่ายอ่างเก็บน้ำนาแซง ลุ่มน้ำสงครามตอนบน 9. โครงข่ายห้วยหลวง ปตร.ห้วยเสียวล่าง สถานีสูบน้ำบ้านหินโงบ 10. โครงข่ายห้วยหลวง อ่างเก็บน้ำห้วยเจียม สถานีสูบน้ำบ้านหนองหอย คลองดักน้ำฝั่งขวา 11. โครงข่าย ปตร.หนองสองห้อง สถานีสูบน้ำบ้านก่อนนาเพลิน 12. โครงข่าย ปตร.บ้านดอนกลอย สถานีสูบน้ำบ้านดอนกลอย สถานีสูบน้ำบ้านหนองบัว และ 13. โครงข่ายพื้นที่ชลประทานเดิม ฝายหนองหมื่นสน คาดว่าจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี 2572ซึ่งสามารถระจายน้ำเข้าไปในพื้นที่การเกษตรชลประทานใน จ.หนองคาย ได้จำนวน 70,000 ไร่ จ.อุดรธานี ได้จำนวน 245,195 ไร่ รวมทั้งสิ้น 315,195 ไร่ ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อม

6. โครงการแก้มลิงและอาคารประกอบจำนวน 20 แห่ง ทำหน้าที่กักเก็บน้ำไว้ในช่วงฤดูแล้งประมาณ 25 ล้าน ลบ.ม. คาดว่าจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2572 และ 7. โครงการระบบควบคุมอุทกภัย (Smart Flood Control System) เป็นระบบแสดงข้อมูลและประมวลผล ณ เวลาปัจจุบัน เพื่อการพยากรณ์อากาศ คาดการณ์ปริมาณน้ำท่าและโอกาสเกิดอุทกภัย ซึ่งจะสามารถบริหารจัดการโครงการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จะติดตั้งเมื่อองค์ประกอบหลักทั้ง 6 กลุ่มโครงการเสร็จสมบูรณ์

“เมื่อโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่างแล้วเสร็จสมบูรณ์จะช่วยบรรเทาอุทกภัยในเขต จ.หนองคายและอุดรธานีได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถลดพื้นที่น้ำท่วมได้ประมาณ 54,390 ไร่ นอกจากนี้ยังจะส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทานเดิม 15,000 ไร่ และเพิ่มพื้นที่ชลประทานใหม่อีก 300,195 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 284 หมู่บ้าน 37 ตำบล 7 อำเภอ ในทั้งสองจังหวัด โดยมีครัวเรือนได้รับประโยชน์ 29,835 ครัวเรือน รวมทั้งยังจะเป็นแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อขยายพื้นที่ชลประทานออกไปยังพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งจะทำให้เกษตรกรและชุมชนมีน้ำดื่ม น้ำใช้ น้ำเพื่อการเกษตรตลอดปี ลดความเสี่ยงผลผลิตทางการเกษตรเสียหายจากภัยทางน้ำ และยังเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ ประมาณการว่าประชาชนในพื้นที่จะมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 25,292 บาทต่อคนต่อปี สร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีอย่างแน่นอน” ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 5 กล่าวในตอนท้าย










กำลังโหลดความคิดเห็น