xs
xsm
sm
md
lg

อุทยานฯ แนะการปฏิบัติตัวเมื่อเจอช้างป่า กรณีท่องเที่ยว เดินป่าและขับรถ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจากเพจช้างเขาใหญ่
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช แจ้งเตือน 9 ข้อปฏิบัติเมื่อต้องเจอกับ ‘ช้างป่า’ พร้อมเผยวิธีสังเกต ช้างป่าลักษณะไหนควรรีบหนีทันที

วันนี้ (13 ธ.ค.) เพจ “สำนักอุทยานแห่งชาติ - National Parks of Thailand" ได้โพสต์แจ้งเตือนการปฏิบัติตัวเมื่อเจอช้างป่า กรณีท่องเที่ยว เดินป่า ดังนี้

การปฏิบัติตัวเมื่อเจอช้างป่า กรณีท่องเที่ยว เดินป่า
1. เวลาเจอช้างป่า ระยะกระชั้นชิด อย่ารีบส่งเสียงดังไล่ เพราะช้างป่าบางตัวอาจตกใจหรือรำคาญเสียงคน จะวิ่งเข้าหาคนทันที
2. สังเกตภูมิประเทศรอบตัว หาต้นไม้ใหญ่เพื่อหลบซ่อน
3. กรณีที่ช้างป่าวิ่งเข้าหาหากมีสัมภาระต่าง ๆ ให้ทิ้งสัมภาระ ทำตัวให้เบาและคล่องตัวที่สุด
4. กรณีที่ช้างป่าวิ่งเข้าให้ส่งเสียงดัง กรีดร้อง โห่ร้อง รวมถึงชูแขน ชูมือโบกไปมา พร้อมทั้งเคลื่อนที่ออกจากจุดที่พบช้างป่า
5. กรณีที่ต้องหลบหลีก ให้หนีลงที่ลาดชัน เนื่องจากช้างป่ามักไม่กล้าวิ่งลงทางชันอย่างรวดเร็วมากเพราะโดยมากจะทำให้ช้างป่าหกล้มและเสียหลักได้โดยง่าย
6. กรณีที่ต้องหลบหลีกทางราบ ให้วิ่งในแนวเฉียง 45 องศา หลบไปตามแนวต้นไม้ใหญ่ เนื่องจากช้างมีขนาดตัวใหญ่จะทำให้การเลี้ยวหรือกลับตัวค่อนข้างช้า
7. หากวิ่งหนีแล้วหกล้ม ช้างวิ่งมาถึงตัวเข้าทำร้าย ให้พยายามตั้งสติ กลิ้งหลบให้พ้นรัศมีช้างป่า แล้วรีบลุกวิ่งต่อทันที
8. กรณีที่หลบไม่ทัน และหากมีโอกาสให้ใช้ไม้หรืออุปกรณ์ที่มี ทิ่มบริเวณตาหรือโดนเล็บของช้างป่า เพื่อให้ช้างหยุดชะงัก แล้วรีบวิ่งหลบหนีต่อไป
9. เมื่อปลอดภัยจากช้างป่า ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่โดยเร็วที่สุด

สังเกตช้างป่า
เมื่อเห็นช้างป่าในระยะใกล้ เห็นว่า ช้างหูกาง งวงนิ่ง และจ้องมองเขม็ง ให้รีบหนีออกจากบริเวณนั้นทันที

ข้อควรปฏิบัติ
1. ไม่ยืนถ่ายรูปช้างป่าในระยะใกล้
2. ไม่เดินตามช้างป่า
3. ไม่ส่งเสียงดัง
4. เก็บอาหารให้มิดชิด
5. ตั้งจุดพักค้างคืนในบริเวณที่จัดไว้ให้
6. ปฏิบัติตามคำแนะนำเจ้าหน้าที่

และเมื่อเจอช้างป่าขณะขับรถต้องทำอย่างไร? เมื่อขับรถเข้าเขตอุทยาน หรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ก็จะพบเจอช้างป่าออกมาเดินตามถนนเป็นบางครั้ง เพื่อป้องกันอันตราย แนะนำให้ปฏิบัติตามนี้ครับ รวมถึงควรขับรถความเร็วไม่เกินกำหนดที่อุทยาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรือพื้นที่อนุรักษ์ต่างๆ ได้กำหนดไว้ ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัย ทั้งสัตว์ป่า และตัวผู้ขับรถเองด้วย

1.หยุดรถห่างจากช้างป่าอย่างน้อย 30 เมตร
2.ไม่ส่งเสียงดังด้วยแตรรถหรือตะโกน
3.งดถ่ายรูประยะใกล้และไม่ใช้แฟลช
4.ติดเครื่องยนต์ไว้เสมอ
5.ในเวลากลางคืนให้เปิดไฟต่ำไว้เสมอเพื่อให้เห็นพฤติกรรมช้างป่า
6.ตั้งสติ มองซ้าย ขวา หน้า หลัง
7.ไม่ควรจอดรถดูช้างเพราะอาจมีรถคันอื่นตามมา
8.โทรแจ้งเจ้าหน้าที่

วิธีสังเกตอารมณ์ช้างป่าอย่างง่าย ๆ
อารมณ์ดี : หูจะปัดไปมา หางจะแกว่งและใช้งวงสับัดไปมา หรือเกี่ยวดึงต้นไม้กิน ไม่ค่อยสนใจเรา

อารมณ์ไม่ดี : หูจะตั้งกาง ไม่สะบัดไปมา หางชี้ งวงจะนิ่งแข็งแตะอยู่ที่พื้น หรือใช้งวงตีพื้น และอยู่นิ่งจ้องมองมาทางเรา

ขอขอบคุณข้อมูลดีดีจาก : สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า Wildlife Conservation Office, Thailand






กำลังโหลดความคิดเห็น