เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 ณ ห้องประชุมพระศิวะ โรงแรมอัศวินแกรนด์ คอนเวนชั่น ArokaGO (www.arokago.com) แพลตฟอร์มการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพไทย ร่วมกับ สมาคมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพไทย (TMWTA) จัดงานสัมมนา "Preparing for IPO: A Roadmap for Healthcare Providers" เสริมศักยภาพธุรกิจสุขภาพไทยสู่ตลาดทุน
ดร.แพทย์หญิงประภา วงศ์แพทย์ นายกสมาคมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพไทย (TMWTA) กล่าวว่า “การเสนอขายหุ้น IPO ไม่เพียงแต่ช่วยขยายโอกาสทางธุรกิจ แต่ยังเป็นกลไกสำคัญที่ผลักดันให้อุตสาหกรรมสุขภาพไทยเติบโตอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในยุคที่เทคโนโลยีและนวัตกรรมมีบทบาทสำคัญ การเข้าถึงตลาดทุนจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการวิจัยและพัฒนา รวมถึงสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมโดยรวม”
ดร.แพทย์หญิงประภา เน้นว่า การให้ความรู้และแนวทางที่ชัดเจนในเรื่องการเตรียมตัว IPO จะช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจด้านสุขภาพของประเทศไทยสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมในอนาคต ทั้งนี้ สมาคมฯ มุ่งมั่นที่จะสนับสนุนและเป็นศูนย์กลางในการช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยให้เติบโตและประสบความสำเร็จในตลาดทุน งานสัมมนาดังกล่าวจะช่วยเสริมสร้างความเข้าใจและเป็นแนวทางสำคัญในการเตรียมความพร้อมสำหรับธุรกิจสุขภาพที่จะก้าวเข้าสู่ตลาดทุนในอนาคต ที่สำคัญ การสัมมนาครั้งนี้ยังเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ประกอบการในการสร้างเครือข่ายที่แข็งแกร่ง ได้พบปะกับพันธมิตรในอุตสาหกรรมเดียวกัน และเข้าถึงโอกาสใหม่ ๆ ในการพัฒนาธุรกิจ ซึ่งช่วยเสริมสร้างศักยภาพธุรกิจให้เติบโตอย่างมั่นคง ผู้เข้าร่วมงานไม่เพียงแต่ได้รับความรู้และคำแนะนำจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในด้านการเงิน การลงทุน และธุรกิจสุขภาพ แต่ยังได้เข้าร่วมเครือข่ายผู้ประกอบการที่แข็งแกร่งจากหลากหลายสาขาอาชีพ ทั้งยังสามารถร่วมกิจกรรมดี ๆ และสัมมนาที่ TMWTA จัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมการพัฒนาและสร้างโอกาสใหม่ ๆ ในธุรกิจสุขภาพ ท่านนายกสมาคมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพไทย (TMWTA) ขอเชิญชวนผู้ประกอบการที่สนใจ เข้าร่วมเป็นสมาชิกสมาคม เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ ได้รับข้อมูลเชิงลึก และการสนับสนุนจากองค์กรต่างๆ
งานสัมมนาเริ่มจากการนำเสนอโดย ผศ.ดร.กุลบุตร โกเมกุล CEO และ Co-Founders ของ ArokaGO กรรมการบริหารสมาคมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพไทย และอาจารย์ประจำสาขาการเงิน การลงทุนและเทคโนโลยีการเงิน มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เสนอผลวิจัยหัวข้อ “Aftermarket Performance of Health Care IPOs: Evidence From ASEAN Countries” ที่ศึกษาผลตอบแทนในระยะยาวของหุ้น IPO ธุรกิจสุขภาพในประเทศอาเซียน พบว่า ผลตอบแทนของหุ้น IPO ด้านสุขภาพในอาเซียนแตกต่างจากผลการศึกษาในสหรัฐฯ โดย หุ้น IPO ของไทยและมาเลเซียมีผลตอบแทนระยะยาวดีกว่า เนื่องจากช่วงเวลา Silent Period สำหรับผู้ถือหุ้นเชิงกลยุทธ์ที่ยาวนานกว่า (เฉลี่ย 1-1.5 ปี) เมื่อเทียบกับสหรัฐฯ และสิงคโปร์ (เฉลี่ย 3-6 เดือน) บริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางในอุตสาหกรรมสุขภาพมีผลตอบแทนระยะยาวดีกว่าบริษัทขนาดใหญ่ในตลาดอาเซียน ผลการวิจัยนี้เป็นข้อมูลเชิงลึกสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการเข้าสู่ตลาดทุน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมสุขภาพในอาเซียน ความรู้เหล่านี้ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถวางแผนและเตรียมกลยุทธ์ในการเสนอขายหุ้น IPO ได้อย่างเหมาะสม
คุณจิติมา รัตนธรรม Director of Investor Relations จากบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS ได้ร่วมบรรยายในหัวข้อ“IPO Journey: โอกาสและความท้าทายของธุรกิจบริการทางการแพทย์และสุขภาพ” โดยนำเสนอกรณีตัวอย่างจากประสบการณ์ตรงของ BDMS หนึ่งในผู้นำด้านธุรกิจบริการสุขภาพในประเทศไทย หัวข้อสำคัญที่คุณจิติมาได้นำเสนอ ได้แก่ โอกาสในการเข้าสู่ IPO สำหรับธุรกิจสุขภาพ การเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ช่วยเปิดโอกาสให้ธุรกิจสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่หลากหลาย เพิ่มศักยภาพในการขยายกิจการ และการลงทุนในเทคโนโลยีและนวัตกรรม นอกจากนี้คุณจิติมาได้แบ่งปันประสบการณ์ของ BDMS ในเส้นทางการลงทุนต่างๆ หลัง IPO และการปรับตัวต่อความคาดหวังของนักลงทุนในตลาดทุน ทั้งในด้านการเงิน การบริหารจัดการ และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ถือหุ้น
คุณเดือนพรรณ ลีลาวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการจากบริษัท Pioneer Advisory จำกัด ได้บรรยายในหัวข้อ “การเตรียมตัว IPO: แนวทางและประเด็นสำคัญสำหรับธุรกิจ Health Care” ภายในงาน โดยได้ชี้ให้เห็นถึงกระบวนการและองค์ประกอบสำคัญที่ธุรกิจต้องเตรียมพร้อมก่อนการเสนอขายหุ้น IPO โดยประเด็นสำคัญที่คุณเดือนพรรณนำเสนอ ได้แก่ 1. การเตรียมตัวสำหรับธุรกิจ Health Care ธุรกิจสุขภาพมีลักษณะเฉพาะที่ต้องคำนึงถึง ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานการบริการ ระบบการจัดการที่โปร่งใส และการพัฒนาธุรกิจให้ตอบสนองต่อความต้องการของตลาด 2. ระบบบัญชี และระบบควบคุมภายใน ซึ่งเกี่ยวกับการจัดการระบบบัญชีที่มีประสิทธิภาพและการวางระบบควบคุมภายในที่รัดกุม 3. ตารางเวลาเบื้องต้นสำหรับการเตรียม IPO และแนะนำการวางแผนและการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ และ4. เกณฑ์การจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 2568
อีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญ คือ การบรรยายโดย คุณวีรยา ศรีวัฒนะ ผู้อำนวยการอาวุโส หัวหน้าฝ่ายวาณิชธนกิจจากบริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ได้ร่วมแบ่งปันข้อมูลเชิงลึกในหัวข้อ “การเตรียมตัวสู่การ IPO สำหรับผู้ให้บริการด้านสุขภาพ”
คุณวีรยา กล่าวว่า วิธีการประเมินมูลค่าบริษัทสำหรับการเสนอขายหุ้น IPO ที่นิยมใช้ ได้แก่ การพิจารณาจากรายได้ (Income Approach) วิธีนี้เป็นการประเมินมูลค่าบริษัทโดยใช้การคิดลดกระแสเงินสด (Discounted Cash Flow: DCF) เป็นการวิเคราะห์กระแสเงินสดของบริษัทในอนาคต โดยจะพิจารณาจากสมมติฐานการเติบโตของธุรกิจ, ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจ และอัตราคิดลดที่เหมาะสม ข้อมูลเหล่านี้จะทำให้คำนวณมูลค่าปัจจุบันของบริษัทได้ 2. การเปรียบเทียบตลาด (Market Approach) วิธีนี้เป็นการประเมินมูลค่าบริษัทโดยการเปรียบเทียบราคาหุ้นและค่า P/E Ratio กับบริษัทที่ดำเนินธุรกิจในลักษณะเดียวกันที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) 3.การคิดจากราคาทุน (Cost Approach) เป็นวิธีการประเมินมูลค่าโดยการใช้ราคาตลาดของสินทรัพย์บริษัท คุณวีรยา ยังได้เน้นถึงความสำคัญของการเตรียมตัวด้านการเงินและการบริหารจัดการองค์กรที่โปร่งใส เพื่อให้กระบวนการ IPO เป็นไปอย่างราบรื่นและประสบความสำเร็จ ผู้ประกอบการที่จะเสนอขายหุ้น IPO ควรทำความเข้าใจแนวทางการประเมินมูลค่าบริษัทที่เหมาะสม พร้อมทั้งวางแผนการกำหนดราคาอย่างรอบคอบ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการระดมทุนของบริษัทเองด้วย
ในช่วงสุดท้ายงานสัมมนา มีการเสวนาใน Panel Session โดยบรรยากาศภายในงานเต็มไปด้วยการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้เข้าร่วมทุกคน ผู้จัดงานเชื่อว่างานสัมมนาครั้งนี้จะเป็นอีกก้าวสำคัญในการยกระดับธุรกิจสุขภาพไทยสู่ความสำเร็จในตลาดทุนระดับสากล