เปิดบันทึกความรู้สึกอิ่มเอมกว่า 2 ชั่วโมงจากผู้ชมคอนเสิร์ตแจ๊สบิ๊กแบนด์ “H.M. Blues” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อ 4 ธันวาคมที่ผ่านมา
คอนเสิร์ตสุดพิเศษนี้จัดขึ้นเพื่อเป็นการแสดงความเคารพและรําลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ทั้งยังเป็นการเฉลิมฉลองพระอัจฉริยภาพทางดนตรีของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ผู้ซึ่งเป็นทั้ง นักดนตรี นักประพันธ์เพลง และเป็นพระมหากษัตริย์ในพระองค์เดียวกัน
***เปิดด้วยยามเย็น ไฮไลท์ที่แบทเทิล
เพลง “ยามเย็น (Love at Sundown)” เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 2 ซึ่งถูกใช้เป็นเพลงเปิดฉาก นักดนตรีหลายสิบชีวิตจากวง RSU Jazz Orchestra ของมหาวิทยาลัยรังสิต ที่ตั้งใจบรรเลงเพื่อสื่อความหมายว่าคนรักผู้ซึ่งจากไปไกล เสมือนดั่งดวงอาทิตย์ที่กำลังลับจากฟ้าไป ซึ่งการประสานเสียงของเครื่องดนตรีที่หลากหลาย ทำให้แฟนเพลงแจ๊ส สามารถเข้าถึงเสน่ห์ของเพลงพระราชนิพนธ์ที่มาพร้อมดนตรีที่สนุกๆ และให้ความรู้สึกร่วมสมัยได้เป็นอย่างดี
บทเพลงที่เหลือต่อจากนี้อีกกว่าสิบเพลง (ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างเพลงพระราชนิพนธ์และเพลงแจ๊สชื่อดังอื่นๆ) ได้รับการขับร้องจากนักร้องเสียงดีเบอร์ต้นของเมืองไทย ทั้งชายและหญิง ไม่ว่าจะเป็นเพลง “แสงเดือน”, “It had to be you” ที่ขับร้องโดยปั่น-ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว เพลง “ภิรมย์รัก” และเพลง “Fly me to the moon” ที่ขับร้องโดยกบ-เสาวนิตย์ นวพันธ์
การได้ฟังทั้งเสียงร้องทุ้มและแหลมของนักร้องชายหญิงสลับกับจังหวะดนตรีที่ช้าเร็ว ยังทำให้เพิ่มอรรถรสทั้งในการรับชมและเพิมผัสสะในการเพลิดเพลินกับเสียงเพลงได้ดียิ่งขึ้น ทั้งการเล่น แสง สี ของเวทียังให้ความรู้สึกหรูหราและตระการตาในคราวเดียวกัน
นอกจากนี้แล้วยังมีโอกาสได้ฟังเพลง “Echo” หรือในชื่อไทยว่า “แว่ว” เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 41 ที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลงและคำร้องภาษาอังกฤษด้วยพระองค์เอง โดยครั่งนี้ถือเป็นเวอร์ชันพิเศษ เพราะตรงท่อนท้ายๆ เป็นการร้องด้วยเนื้อเพลงภาษาฝรั่งเศส โดย เมย์-ฝนพา ปราโมช ณ อยุธยา
หนึ่งในไฮไลท์ของงานคือ การแบทเทิลทางดนตรีระหว่าง เครื่องแซคโซโฟนของวง RSU Jazz Orchestra และ การเล่นเบสของแมว-จิรศักดิ์ ปานพุ่ม ระหว่างที่โชว์เพลง “เยาวราช” ที่ถึงแม้จะไม่เคยได้รู้จักเพลงนี้มาก่อน แต่อารมณ์ที่ส่งผ่านเสียงเพลงทั้งจากเครื่องสายและเครื่องเป่า ก็ทำเอาคนลุ้นกันไปทั้งฮอลล์
***Still on my mind เฉิดฉาย แม้ไร้ Oh I Say
ถึงแม้เพลงโปรดของหลายคนอย่าง “Oh I Say” กลับไม่ได้อยู่ในรายการเพลงของค่ำคืนนี้ แต่การได้เอนหลังเอนจอยกับดนตรีแจ๊สสแตนดาร์ดจากนักดนตรีที่เป็นเหล่าเยาวชนรุ่นใหม่ และได้ฟังเสียงร้องสดๆ จากเพลงพระราชนิพนธ์อื่นๆ อย่าง ชะตาชีวิต, Still on my mind ก็ทำให้ทุกคนในฮอลล์ได้ดื่มด่ำกับของขวัญที่พ่อหลวงได้มอบให้อย่างอิ่มใจ โดยเฉพาะกับเพลง “ภิรมย์รัก” ที่ทำให้ผู้ฟังชาวต่างชาติ ค้นพบว่าภาษาไทยเมื่อร้องออกมาเป็นเพลงในแนวแจ๊ส ก็สามารถถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกที่ปนเคล้ามากับน้ำเสียงเซ็กซี่ได้อย่างน่าชื่นชม
แม้นักร้องทุกคนจะร่วมกันขับร้องเพลงจังหวะสนุกๆ อย่าง “ยามเย็น” เป็นเพลงสุดท้ายก่อนลาค่ำคืนนี้ แต่ความรู้สึก และความทรงจำที่ดีจะอยู่กับคนฟังหลายร้อยชีวิตในฮอลล์แห่งนี้ ไม่แน่ ในขณะที่หลายคนกำลัง "คิดถึงพ่อ" ผู้ทรงเป็นพระอัครศิลปิน และเปิดให้เราเข้าถึงตัวโน้ตและดนตรีพระราชนิพนธ์ ที่กลายเป็นคีตศิลป์ที่งดงามและมีความเป็นสากล เชื่อว่าคนไทยแทบทุกคนจะรู้สึกขอบคุณของขวัญที่แสนสุนทรีย์จากพ่อ ที่ได้กลายเป็นสมบัติของชาติตลอดไป.
***เกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับคอนเสิร์ตครั้งนี้
- คอนเสิร์ตนี้ถูกจัดขึ้น 1 วันก่อนวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ เพื่อระลึกถึงหลากบทเพลงพระราชนิพนธ์ที่พระองค์ทรงพระราชทานให้เป็นของขวัญแด่ปวงชนชาวไทย
- เนชั่น กรุ๊ป (Nation Group) ร่วมกับพันธมิตรจากภาครัฐและเอกชน เป็นผู้จัดขึ้น โดยที่รายได้ทั้งหมดจากการจําหน่ายบัตร ไม่หักค่าใช้จ่าย ได้นําไปมอบให้แก่สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนาและวิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิต เพื่อสนับสนุนการศึกษาด้านดนตรี
- คอนเสิร์ตนี้ถูกจัดขึ้นที่ โรงละครอักษรา คิง เพาเวอร์ ที่มีการตกแต่งในสไตล์บาร็อค (Baroque) และผังที่นั่งตั้งใจออกแบบให้มีลักษณะเฉพาะตัวเป็นรูปเกือกม้า รองรับผู้ชมได้มากถึง 600 ที่นั่ง โดยเก้าอี้นั่งเป็นเก้าอี้บุหนังสีกรมท่าคุณภาพรุ่น Hussey Quattro Designer Series ให้ทั้งความสบายและหรูหราตลอดกาลชมดนตรีหลายชั่วโมง
- การแสดงดนตรีนำโดยคณะแจ๊สออร์เคสตราของมหาวิทยาลัยรังสิต (RSU Jazz Orchestra) ภายใต้การควบคุมของ รศ.ดร.เด่น อยู่ประเสริฐ คณบดีวิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิต ทั้งยังได้รับรางวัลเป็นศิลปินรางวัลศิลปาธร สาขาดนตรี อีกด้วย
- เพลง “H.M. Blues” หรือ ชื่อภาษาไทยว่า “ชะตาชีวิต” เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 5 ทรงพระราชนิพนธ์หลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติ คำว่า H.M. ย่อมาจากคำว่า Hungry Men หามิใช่มาจากคำว่า His Majesty อย่างที่คนคาดเดากัน ซึ่งพระองค์ท่านกล่าวถึงตัวเองอย่างขบขัน ในฐานะนักดนตรีที่ต้องเล่นเพลงขณะที่ท้องยังหิว แต่ผู้คนที่มาร่วมงานกลับได้สนุกและอิ่มหนำสำราญ.