xs
xsm
sm
md
lg

ประมงประสานเสียงความสำเร็จกำจัดปลาหมอคางดำ ตัวเลขลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปาจารีย์ เนินสำราญ นักวิชาการอิสระ

การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ (Sarotherodon melanotheron) ในแหล่งน้ำธรรมชาติของประเทศไทยกำลังคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นในหลายจังหวัด หลังจากที่ได้ร่วมกันดำเนินมาตรการกำจัดและควบคุมประชากรปลาหมอคางดำมาอย่างต่อเนื่องและการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐ ชุมชนท้องถิ่น และภาคเอกชน ส่งผลให้ปริมาณในแหล่งน้ำธรรมชาติลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

ในหลายพื้นที่ เช่น จังหวัดที่มีการแพร่ระบาดมากก่อนหน้านี้อย่าง สมุทรสาคร จากการสำรวจพบว่าปริมาณปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติลดลงถึง 70-80% กำจัดปลาหมอคางดำมากกว่า 1.6 ล้านกิโลกรัม ช่วยลดปริมาณปลาที่จับได้จาก 1-2 ตันต่อครั้ง เหลือเพียง 100-300 กิโลกรัมต่อครั้ง จนถึงวันนี้ปริมาณปลาที่จับได้ยังลดลงต่อเนื่อง ชี้ให้เห็นถึงการลดลงอย่างชัดเจน

ด้านประมงจังหวัดสมุทรสงคราม ให้ข้อมูลว่า ปริมาณปลาหมอคางดำลดลงอย่างชัดเจน โดยปลาที่จับได้ส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก สะท้อนถึงการหายไปของปลาแม่พันธุ์ในแหล่งน้ำ จังหวัดจึงมุ่งเน้นลดจำนวนปลาหมอคางดำในบ่อเพาะเลี้ยงของเกษตรกร พร้อมส่งเสริมการใช้ประโยชน์และการบริโภคปลา เพื่อควบคุมจำนวนปลาหมอคางดำอย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว

ส่วนประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช จากการสำรวจประชากรปลาหมอคางดำพบว่าลดลงจาก 60 ตัวต่อ 100 ตารางเมตร เหลือเพียง 25 ตัวต่อ 100 ตารางเมตร

ขณะที่ประมงจังหวัดพัทลุงยืนยันว่าทะเลสาบสงขลายังคงปลอดจากปลาหมอคางดำ และมุ่งมั่นป้องกันการรุกล้ำของปลาชนิดนี้ โดยดำเนินการร่วมกับภาคเอกชนและชุมชนท้องถิ่นในการปล่อยลูกปลากะพงขาวลงสู่แหล่งน้ำ เพื่อควบคุมระบบนิเวศและป้องกันการแพร่กระจายของปลาหมอคางดำ นอกจากนี้ ยังมีการผนึกกำลังกับชาวประมงและชุมชนในการเฝ้าระวังพื้นที่อย่างเข้มข้น โดยเฉพาะบริเวณรอยต่อของจังหวัดสงขลา พร้อมจัดชุดปฏิบัติการสำรวจสถานการณ์ปลาหมอคางดำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการสำรวจล่าสุดยังไม่พบการปรากฏตัวของปลาหมอคางดำในพื้นที่ทะเลสาบสงขลาแต่อย่างใด

สำหรับการปล่อยปลากะพงขาวภายใต้โครงการกรมประมงช่วยควบคุมการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ อีกทางหนึ่งที่ลดการแพร่พันธุ์ของปลาหมอคางดำ ซึ่งเอกชนให้การสนับสนุนพันธุ์ปลากะพงขนาดตัว 4 นิ้ว แล้ว 200,000 ตัว อีกทั้งปลากะพงเหล่านี้ยังส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนและชาวประมงให้มีรายได้จากการจับปลากะพงขาวด่วย

อย่างไรก็ตาม การทำงานร่วมกันแบบบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของภาครัฐ ชุมชน เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำ และบริษัทเอกชน ต้องเดินหน้าต่อเนื่องตามขั้นตอน ประกอบด้วย

• การสนับสนุนให้ชาวประมงจับปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำ และการใช้ปลานักล่า เช่น ปลากะพงขาว ช่วยลดจำนวนปลาหมอคางดำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

• การจัดการบ่อเพาะเลี้ยงอย่างเป็นระบบนำแนวทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้ เช่น การล้างบ่อด้วย "กากชา" เพื่อกำจัดปลาหมอคางดำในระบบเพาะเลี้ยง ป้องกันการหลุดรอดสู่ธรรมชาติ

• การรณรงค์ให้ประชาชนบริโภคปลาหมอคางดำและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น ปลาแห้งและลูกชิ้นปลา ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มและลดประชากรปลาในแหล่งน้ำ

• การเฝ้าระวังโดยหน่วยงานรัฐและชุมชน ยังคงต้องร่วมกันสำรวจและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันการกลับมาของปลาหมอคางดำในพื้นที่ที่เคยควบคุมได้

แม้จะประสบความสำเร็จในการลดจำนวนปลาหมอคางดำและชะลอการแพร่ระบาด แต่การป้องกันและแก้ไขปัญหาในระยะยาวยังต้องอาศัยความต่อเนื่องของมาตรการต่างๆ ทั้งการจับปลา การปล่อยปลานักล่า การส่งเสริมการบริโภคปลา และการจัดการระบบเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ช่วยลดจำนวนประชากรปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพพร้อมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนและการใช้วิธีการจัดการที่ยั่งยืน เพื่อป้องกันการฟื้นตัวของประชากรปลาหมอคางดำ และรักษาความสมดุลของระบบนิเวศในระยะยาว






กำลังโหลดความคิดเห็น