xs
xsm
sm
md
lg

เบื้องหลัง “ยุน” ประกาศกฎอัยการศึก แก้เกมรัฐบาลเสียงข้างน้อย ปิดทางสอบทุจริตเมียรัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ยุน ซ็อกยอน” ประกาศกฎอัยการศึก อ้างภัยเกาหลีเหนือทั้งที่ไม่เกี่ยว แต่เบื้องหลังคือหวังแก้เกมรัฐบาลเสียงข้างน้อยของตัวเองที่กำลังจะไปไม่รอด และปิดทางการตรวจสอบทุจริตเมียรัก แต่ต้องพบจุดจบภายใน 2 ชั่วโมงครึ่งเมื่อสภาไม่เอาด้วย เรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกับความเข้มแข็งของประชาธิปไตย แต่สะท้อนการเมืองแดนโสมยังถูกครอบงำโดย “คณาธิปไตย” และ “ธนาธิปไตย”



ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก” เมื่อวันศุกร์ที่ 6 ธันวาคม 2567 นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ ได้กล่าวถึงการประกาศกฎอัยการศึกของประธานาธิบดียุน ซ็อกยอน ของเกาหลีใต้ เมื่อคืนวันพุธที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา ที่เหมือนกับเป็นการ “รัฐประหารตัวเอง” แต่ก็จบลงในเวลาเพียงแค่ 2 ชั่วโมงครึ่ง ซึ่งเผยให้เห็นเบื้องหลังที่แท้จริงของประชาธิปไตยในเกาหลีใต้ คือ ระบอบอุปถัมภ์ ที่ค้ำจุนโดย “กลุ่มทุนแชโบล”


ประธานาธิบดี ยุน ซ็อกยอน ประกาศกฎอัยการศึก ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในเกาหลียุคใหม่ สถานการณ์เช่นนี้เคยเกิดขึ้นครั้งสุดท้ายเมื่อ 44 ปีก่อนในยุคของอดีตประธานาธิบดี ชุน ดูฮวาน ซึ่งเป็นรัฐบาลเผด็จการ

ในประกาศกฎอัยการศึกฉบับที่ 1 บังคับใช้มาตรการต่างๆ ที่เหมือนกับการ “รัฐประหาร” คือยึดอำนาจการปกครอง เป็นต้นว่า ระงับกิจกรรมของรัฐสภา สภาท้องถิ่น พรรคการเมือง สมาคม และห้ามการชุมนุม การเดินขบวนประท้วง และกิจกรรมทางการเมือง ควบคุมการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร และสื่อมวลชน ห้ามหยุดงาน การคว่ำบาตร และการรวมตัวที่สร้างความวุ่นวายในสังคม ผู้ที่ฝ่าฝืนจะถูกจับกุม คุมขัง และตรวจค้นโดยไม่ต้องมีหมาย และจะถูกลงโทษจากกฎอัยการศึก แต่งตั้งนายทหาร (พลเอก ปาร์ค อันซู) ผู้บัญชาการกฎอัยการศึก


แต่หลังจากประกาศกฎอัยการศึกได้ไม่นาน ประชาชนชาวเกาหลีได้ออกมารวมตัวต่อต้านตามท้องถนน ขัดขวางการเคลื่อนที่ของรถหุ้มเกราะ และกำลังทหาร ขณะที่ สส. จำนวนหนึ่งมุ่งหน้าไปยังรัฐสภาเพื่อเปิดการประชุมวาระพิเศษ และลงมติ 190 ต่อ 0 เสียง คว่ำกฎอัยการศึกให้เป็นโมฆะ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญของเกาหลีใต้ระบุว่า หากสมาชิกรัฐสภาลงมติด้วยเสียงข้างมากให้ยกเลิกกฎอัยการศึก ประธานาธิบดีจะต้องยกเลิก ไม่เช่นนั้นจะถูกถอดถอนได้ตามข้อหา “ละเมิดรัฐธรรมนูญ”

ประธานาธิบดี ยุน ซ็อกยอน จึงต้องประกาศยกเลิกกฎอัยการศึก ยุติการ “ยึดอำนาจตัวเอง” ที่มีระยะเวลาเพียงแค่ 2 ชั่วโมงครึ่งเท่านั้น

ทำไม “ยุน ซ็อกยอน” ต้องยึดอำนาจตัวเอง?

ประธานาธิบดี ยุน ซ็อกยอน อ้างสาเหตุที่ต้องประกาศใช้กฎอัยการศึกว่า ฝ่ายค้านสมคบคิดกับ “เกาหลีเหนือ” เพื่อขัดขวางระบอบประชาธิปไตยของประเทศ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับ “เกาหลีเหนือ” เลยแม้แต่น้อย

เบื้องหลังที่นายยุน ซ็อกยอน ต้องยึดอำนาจตัวเองก็เพราะว่ารัฐบาลของเขาได้กลายเป็นอัมพาต หลังการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ที่ “พรรคพลังประชาชน” ของนายยุน ซ็อกยอน พ่ายแพ้การเลือกตั้ง กลายเป็นเสียงข้างน้อย กล่าวคือ


ในรัฐสภา 300 เสียงพรรครัฐบาลมีเสียง ส.ส. 108 เสียง ส่วนพรรคฝ่ายค้านมี ส.ส. 192 เสียง

ด้วยเหตุที่เป็น “รัฐบาลเสียงข้างน้อย” ทำให้พรรคฝ่ายค้านลงมติตัดลดงบประมาณของหน่วยงานต่างๆ, คัดค้านร่างกฎหมายที่รัฐบาลเสนอ รวมถึงดำเนินการสอบสวนกรณีคอร์รับชันที่เกี่ยวข้องกับนางคิม กอนฮี ภรรยาของประธานาธิบดี วัย 52 ปี ทั้งเรื่องการรับสินบน, ปั่นหุ้น, ช่วยบริษัทจำหน่ายรถยนต์นำเข้าจากเยอรมนี, ทุจริตซื้อขายที่ดิน ฯลฯ


เมื่อนายยุน ซ็อกยอน เห็นว่ารัฐบาลทำงานไม่ได้เลย และเมียรักกำลังจะถูกเล่นงานจึง “คิดสั้น” ใช้วิธีประกาศกฎอัยการศึก ยึดอำนาจตัวเอง....แต่กลับต้องพบกับความล้มเหลว เพราะ

1) ประชาชนไม่เอาด้วย ออกมารวมตัวต่อต้านมากมาย

2) ส.ส.ไม่เอาด้วย โดยทั้งพรรคฝ่ายค้าน และแม้แต่ ส.ส.พรรครัฐบาลเองก็ยังลงมติคว่ำกฎอัยการศึก

3) และที่สำคัญคือ กองทัพไม่เอาด้วย เพราะถึงแม้ตามรัฐธรรมนูญของเกาหลีใต้ ประธานาธิบดีเป็นผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพ แต่บรรดานายทหารก็รู้ดีว่า ถ้าหากเกิดความรุนแรงขึ้น จะต้องมีการ “คิดบัญชี” กันภายหลังอย่างแน่นอน


ชะตากรรมของยุน ซ็อกยอน จะเป็นอย่างไรต่อไป?

การยึดอำนาจตัวเองครั้งนี้ นายยุน ซ็อกยอน พ่ายแพ้ และผู้แพ้ก็คือ กบฏ และหมดอนาคตทางการเมืองอย่างแน่นอน

สมาชิกพรรคฝ่ายค้านได้ยื่นญัตติถอดถอนนายยุน ซ็อกยอน แล้ว โดยต้องใช้เสียง 2 ใน 3 โหวตเห็นชอบ (200 เสียง ซึ่งพรรคฝ่ายค้านมี ส.ส. 192 เสียงแล้ว ต้องการอีกแค่ 8 เสียง) หลังจากนั้นจะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาในเวลาไม่เกิน 180 วันเพื่อลงมติ หากศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากให้ถอดถอนประธานาธิบดีจะต้องมีการเลือกตั้งใหม่ภายใน 60 วัน


ประชาธิปไตยเกาหลี = คณาธิปไตย +ธนาธิปไตย

คณาธิปไตย คือการปกครองบนโครงสร้างอำนาจที่บิดเบี้ยวโดยอำนาจกระจุกอยู่กลุ่มบุคคลส่วนน้อย
ธนาธิปไตย คือระบอบการปกครองที่คนมีเงินเป็นผู้ถือครองอำนาจทางการเมือง

หลังจากเหตุการณ์ครั้งนี้มีกระแสที่ยกย่องความเข้มแข็งของประชาธิปไตยเกาหลี แต่แท้จริงแล้วเบื้องหลังของการเมืองของเกาหลี คือคณาธิปไตย หรือระบอบพวกพ้อง และธนาธิปไตย หรือธนกิจการเมือง ที่หนุนหลังโดยกลุ่มธุรกิจผูกขาดที่เรียกว่าแชโบล (Chaebol)

คณาธิปไตย หรือระบอบพวกพ้องของเกาหลี ถ้าจะยกตัวอย่างเฉพาะในยุคของนายยุน ซ็อกยอน ก็คือกลุ่มที่เรียกว่า "ชุงอัมพา" คือศิษย์เก่าโรงเรียนมัธยมชุงอัม ซึ่งเป็นโรงเรียนเก่าของนายยุน ซ็อกยอล

หลังจากนายยุน ซ็อกยอล ได้เป็นประธานาธิบดี บุคคลสำคัญในตำแหน่งต่างๆ ล้วนแต่เป็นรุ่นพี่รุ่นน้องจากโรงเรียนมัธยมชุงอัม ทั้งรัฐมนตรีกลาโหม, รัฐมนตรีมหาดไทยและความมั่นคง, ผู้บัญชาการหน่วยข่าวกรองกองทัพ, ผู้บัญชาการหน่วยรักษาความปลอดภัยของทำเนียบประธานาธิบดี, ผู้บังคับการหน่วยความมั่นคงของสำนักงานตำรวจนครบาลโซล ฯลฯ

การวางคนใกล้ชิดในตำแหน่งสำคัญมากมายเช่นนี้ ค้ำจุนให้นายยุน ซ็อกยอล ยังเป็นประธานาธิบดีอยู่ได้ ทั้งๆ ที่เขามีคะแนนสนับสนุนเพียงแค่ 17% ลดลงอย่างมากจากหลังการเลือกตั้งในปี 2565 ที่เขาเคยมีเสียงสนับสนุนถึง 53%


เสียงสนับสนุนที่ตกต่ำของนายยุน ซ็อกยอล เป็นเพราะ
- เรื่องอื้อฉาวการทุจริตของภรรยา นางคิม กอนฮี
- นโยบายประจบประแจงสหรัฐฯ เพื่อก่อร่างสร้างนาโต้เอเชีย
- นโยบายญาติดีกับญี่ปุ่น
- สร้างศัตรูกับเกาหลีเหนือ


แต่ว่าที่สำคัญที่สุด คือปัญหาภายในประเทศ ที่บรรดามนุษย์เงินเดือนต้องทำงานอย่างหนักหน่วง จนเรียกกันว่า “นรกโชชอล” (ซึ่งเป็นชื่อเก่าของราชวงศ์เกาหลี) รวมถึงการเพิ่มโควตาผลิตแพทย์ ซึ่งทำให้บรรดาแพทย์เกาหลีพากันละทิ้งงานเพื่อประท้วง เพราะรู้สึกว่าถ้ามีหมอเพิ่มขึ้น จะทำให้ตัวเองเสียผลประโยชน์

การเมืองของเกาหลีใต้ นอกจากต้องบริหารอำนาจในสภาแล้ว ยังต้องบริหารผลประโยชน์ของกลุ่มต่างๆ ทั้ง แชโบล, สมาพันธ์แรงงาน, องค์กรวิชาชีพต่างๆ ....หากบริหารจัดการได้ไม่ลงตัว แม้แต่ประธานาธิบดีก็อยู่ไม่รอด!!

อดีตประธานาธิบดีเกาหลีเกือบทุกคนล้วนแต่ถูกดำเนินคดีหลังจากพ้นจากตำแหน่ง การที่อดีตผู้นำประเทศยังต้องเดินเข้าคุกเพราะทุจริตน่าจะพูดได้ว่าเป็น “ความเข้มแข็งของระบอบประชาธิปไตย”

แต่ถ้าผู้นำแทบทุกคนต่างประสบวิบากกรรมเช่นนี้ น่าสงสัยหรือไม่ว่าอาจเป็น การ “เช็กบิลทางการเมือง” หรือไม่ก็เป็นระบบที่เปิดช่องให้ผู้มีอำนาจฉ้อฉล?

นางพัค กึน-ฮเย อดีตประธานาธิบดีหญิงคนแรกของเกาหลีใต้ (ช่วงปี 2556-2560) แต่ถูกตัดสินโทษจำคุก 22 ปี จากคดีคอร์รัปชันอื้อฉาว จำนวน 16 กระทง จากทั้งหมด 18 ข้อหาที่ถูกฟ้อง แต่ระยะเวลาจำคุกจริงๆ เพียงแค่ 2 ปี หลังจากได้รับการอภัยโทษ

ประธานาธิดี ลี เมียงบัก (ดำรงตำแหน่งช่วงปี 2551-2556) ถูกศาลเกาหลีใต้ตัดสินโทษจำคุก 17 ปี จากคดีคอร์รัปชัน รับสินบน เลี่ยงภาษี แต่จำคุกจริงๆ เพียง 2 ปี โดยได้รับการอภัยโทษเสียก่อน
ใหญ่กว่าประธานาธิบดีคือ แชโบล

การคอร์รัปชันในเกาหลีใต้มีรากฐานมาจากการที่รัฐบาลเกาหลีมีบทบาทนำในการสร้างเศรษฐกิจในยุคของอดีต ประธานาธิบดี พัค จุงฮี (บิดาของ พัค กึน-ฮเย ประธานาธิบดีหญิงคนแรกของเกาหลีใต้) ช่วงทศวรรษ 1960-1970 ซึ่งทำให้เกิดกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ที่เรียกว่า แชโบล เช่น ซัมซุง ฮุนได แดวู ซึ่งครอบคลุมอุตสาหกรรม การค้า จนถึงวิถีชีวิตทุกอย่างของชาวเกาหลี

“บ้านใหญ่” เหล่านี้ยิ่งใหญ่กว่าประธานาธิบดีแห่งเกาหลี ไม่มีแม้แต่คนเดียวในแดนโสมที่กล้าเป็นปฏิปักษ์กับแชโบล

นอกจากนี้ วัฒนธรรม “อุปถัมภ์” ในเกาหลีใต้ยังหยั่งรากลึก โดยสาเหตุหนึ่งเพราะการสืบทอดมาจากลัทธิขงจื๊อ แท้จริงแล้วการ “ให้” และ “รับ” ตามที่ปราชญ์แห่งจีนสอนนั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่คงไม่ใช่ในบริบทของผู้นำประเทศกับภาคธุรกิจ

ถึงแม้เกาหลีใต้จะเป็นประชาธิปไตยจากการเลือกตั้ง แต่ยังมีความเป็น “อำนาจนิยม” อยู่มาก ภาพความรุนแรงในครอบครัว จนถึงตบตีในรัฐสภา มีให้เห็นเป็นปกติ สภาพเช่นนี้เปิดโอกาสให้ฉ้อฉลทางอำนาจได้ง่าย ถึงแม้จะไม่ใช่จากตัวผู้นำ ก็เป็นวงศ์วานว่านเครือ

สรุป : อดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้เกือบทุกคนล้วนแต่พบจุดจบที่ไม่ดี ทั้งถูกลอบสังหาร, ลี้ภัย, เข้าคุก หรือแม้แต่ฆ่าตัวตาย จนเรียกกันว่าเป็น “อาถรรพ์แห่งช็องวาแด” (Blue house หรือทำเนียบประธานาธิบดีเกาหลีใต้)


แต่ที่จริงแล้ว นี่ไม่ใช่เรื่องลึกลับ หรือสายมู แต่อย่างใด จุดจบของนักการเมืองเหล่านี้ ก็เพราะพวกเขาชนะการเลือกตั้ง แต่พ่ายแพ้ต่อกิเลส อำนาจ และผลประโยชน์อันหอมหวาน!


กำลังโหลดความคิดเห็น